เสียงเพลงสร้างสุข
ผู้สูงอายุเมื่อถึงวัยเกษียณพ้นจากหน้าที่การงานก็มักไม่มีสังคม เงียบเหงาอยู่กับบ้าน และมองว่าชีวิตตนเองไร้ค่า
โดย...วราภรณ์
ผู้สูงอายุเมื่อถึงวัยเกษียณพ้นจากหน้าที่การงานก็มักไม่มีสังคม เงียบเหงาอยู่กับบ้าน และมองว่าชีวิตตนเองไร้ค่า
ด้วยแนวคิดนี้ สมชาติ พลนรา วัย 75 ปี อดีตเจ้าหน้าที่การชลประทาน ที่ชื่นชอบการร้องเพลงและเล่นดนตรีตั้งแต่เด็ก จึงนำความรู้และเวลาว่างช่วงหลังเกษียณอายุราชการ มาเป็นครูฝึกร้องเพลงให้กับผู้สูงอายุ งานจิตอาสา ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จ.นนทบุรี และอีกหลายแห่ง ร่วมกับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก เพราะครูสมชาติเชื่อว่า ดนตรีและเสียงเพลงจะช่วยสร้างความสุขและช่วยบำบัดจิตใจให้ผู้สูงอายุได้
“ผมชอบดนตรีไทยเดิมมาตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นก็เพิ่มความชอบมาที่ดนตรีสากล คือ ไวโอลิน เคยเล่นแอคคอเดียนให้วงดุริยางค์ของโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือรุ่น 1 พอรับราชการก็ยังเล่นในแผนกเรือขุด เคยเล่นร่วมกับวงฟ้าบางกอก ตำแหน่งแอคคอเดียน แล้วเสริมด้วยการร้องเพลง พอรับราชการกรมชลประทานได้ไม่นาน ผมถูกส่งตัวไปภาคใต้ และได้ใช้วิชาดนตรีเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับประชาชนที่ภาคใต้ จ.นราธิวาส เป็นการใช้ดนตรีประสานเข้าหามวลชนได้ดีมาก”
หลังเกษียณเขายังเล่นดนตรีในร้านอาหารต่างๆ เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ควบคู่กับการทำงานจิตอาสาสอนร้องเพลงให้กับผู้สูงอายุที่ทำมาตลอดหลังเกษียณ
“ปกติผมเล่นดนตรีกับชมรมผู้สูงอายุปากเกร็ด เป็นทั้งฝ่ายดนตรีและสอนร้องเพลง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักรู้สึกเงียบเหงา แม้ฟังเพลงมาเยอะ แต่เขาไม่กล้าร้องเพลงคนเดียว เวลามาสอนผู้สูงอายุเราจะทำอย่างไรให้เขาร้องเพลงคนเดียวได้ ซึ่งผมเจาะจงสอนแต่ผู้สูงอายุ เพราะหนึ่ง พวกเขาหาที่เรียนยาก มีแต่สอนในโรงเรียน และสอนตามตำรา ปกติผู้สูงอายุร้องเพลงเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ร้องไม่ได้เพราะไม่กล้า และไม่รู้จังหวะ ถ้ารู้สองอย่างร้องเพลงได้”
เทคนิคที่สำคัญสำหรับสอนผู้สูงอายุ ครูสมชาติบอกว่าต้องใจเย็น และเข้าใจผู้สูงอายุ ค่าที่คลุกคลีกับผู้สูงอายุมานานทำให้เขาศึกษาด้วยตัวเองและพบว่าไม่ใช่ใครสอนผู้สูงอายุก็ได้ แต่ต้องรู้หลักคือ ผู้สูงอายุไม่ชอบฟังเรื่องทฤษฎีการร้องเพลง ต้องสอดแทรกด้วยใช้วิธีให้นั่งเคาะจังหวะให้ขึ้นใจ สอง หาเรื่องพูดอะไรก็ได้ให้เขารู้สึกสนุกสนานในขณะที่สอน เพราะจะทำให้ลูกศิษย์ไม่เบื่อ
“ผู้สูงอายุบางคนสมาธิไม่ค่อยดี สอนโน้ตมักไม่รู้เรื่อง สู้สอนจี้ให้ตรงจุด เมื่อสอนให้เขารู้จังหวะแล้ว การเรียกลูกศิษย์มาเผชิญหน้ากับครู อย่าปล่อยให้เขานั่งเฉยๆ กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความกล้า ไม่ต้องกลัวผิด ไม่ต้องกลัวเสียหน้า เพราะทุกคนก็ร้องได้ประมาณกัน เวลาสอนจะสอนให้จำเนื้อให้ได้ และควรฝึกให้เชี่ยวชาญ อย่างน้อยเพลงอมตะสัก 2 เพลงไว้โชว์แบบไม่ขายหน้า โดยจะให้เลือกเพลงเร็วหนึ่ง เพลงช้าหนึ่ง ร้อง 2 เพลงให้ถูกจังหวะ เรื่องเสียงไม่ต้องห่วง เวลาร้องเก่งแล้วก็โชว์ได้”
การกล้าร้องเพลงคนเดียวทำให้ผู้สูงอายุกล้าแสดงความสามารถ กล้าที่จะร้องในงานสังสรรค์ภายในครอบครัว เช่น งานวันเกิดหลานๆ ทักษะที่ดีและถูกต้องเป็นตัวช่วยเพิ่มความมั่นใจ เพิ่มคุณค่า เพิ่มความพิเศษในตัวให้ปู่ย่าตายายเกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัว
“ความสุขที่ผมได้กลับมา คือ ผมติดตามผลงานลูกศิษย์เวลาไปกินอาหารด้วยกันที่ร้านอาหารผู้สูงอายุ เมื่อก่อนกินเฉยๆ เดี๋ยวนี้ร้องคาราโอเกะกันไม่หยุดเลย (ยิ้ม) ดูเขามีความสุขขึ้น ตัวเราเองรู้สึกได้มีการแลกเปลี่ยน
ลูกศิษย์บางคนมีปัญหาชีวิต มีการพูดถามสารทุกข์สุกดิบกัน ถ้าลูกศิษย์มีดนตรีในหัวใจแล้ว ยามอยู่บ้านทำกับข้าวก็เคาะตะหลิวไปทำกับข้าวไปก็ได้ แค่นี้ความสุขก็เกิด เข้าห้องน้ำก็ร้องเพลง อยู่บ้านก็ให้ฝึกร้องด้วยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วเปล่งเสียงออกมา เป็นการฝึกปอด ถ้าปอดดีเราจะได้มีการทอดเสียง ทำให้เพลงไพเราะขึ้น ผมสอนแบบไม่อิงตำรา สอนด้วยวิธีธรรมชาติ เอาเท้าเคาะพื้นให้จังหวะก็ได้”
คุณพ่อแม่ปู่ย่าตายายหากต้องการมาเข้ากลุ่มเรียนร้องเพลงกับครูสมชาติ มาได้ทุกวันอังคารและพุธ เวลา 9 โมงเช้าถึงบ่ายโมง ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลนครนนทบุรี สนามบินน้ำ
เรียกว่าได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งร้องเพลงเป็น เพิ่มเสน่ห์ให้ตัวเองได้อีกด้วย