สัมมนาประจำปี 2556 บทบาทของ Social Media ในการกำหนดวาระข่าวสาร
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและนักสื่อสารมวลชน ชี้ว่าในปัจจุบัน Social Media นับว่ามีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของสื่อกระแสหลัก
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและนักสื่อสารมวลชน ชี้ว่าในปัจจุบัน Social Media นับว่ามีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของสื่อกระแสหลัก
เนื่องจากมีความรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้ Social Media รวมทั้งสื่อมวลชน ต้องวิเคราะห์ และควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลนั้น ๆ เพราะบางครั้งอาจตกเป็นเครื่องมือ และเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายได้
ในการสัมมนาเรื่อง “สื่อสังคมออนไลน์กับการกำหนดวาระข่าวสารในสื่อกระแสหลัก” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในช่วงบ่าย มีการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทของ Social Media ในการกำหนดวาระข่าวสาร” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ และนายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะสุโกศล
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนจะเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสารว่าจะนำเสนอประเด็นอะไร แต่ในปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ยังมีอิทธิพลสื่อมวลชน ต่อการกำหนดทิศทางวาระข่าวสารด้วย ซึ่งมาจากการโพสต์ภาพหรือความคิดเห็น แล้วเกิดการแชร์ต่อๆ เป็นวงกว้าง จนทำให้สื่อมวลชนนำอาจกระแสเหล่านั้นมาเป็นข่าวได้เช่นกัน
ดร.มานะ ระบุว่า ผู้มีชื่อเสียงรวมทั้งนักการเมืองปัจจุบัน ได้ใช้ Social Media เป็นช่องทางในการสื่อสารของตนเองมากขึ้น แต่เป็นการสื่อสารทางเดียว โดยไม่ได้เปิดให้มีการถามกลับ ขณะที่นักสื่อสารมวลชนก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นข่าว อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนควรจะถามกลับไปเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และเป็นการพิสูจน์ว่า ต้องการสื่อสารด้านเดียวหรือต้องการสื่อสารแบบเปิดกว้าง
“นักข่าวควรถามกลับผู้ที่มีชื่อเสียงหรือนักการเมืองบน Social Media เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และเป็นการพิสูจน์ด้วยว่าเขาต้องการพูดอย่างเดียวหรือต้องการสื่อสารแบบเปิดกว้างจริงๆ โดยนักข่าวควรมีการตรวจสอบให้มากขึ้น ตั้งคำถามให้มากขึ้น และเชื่อให้น้อยลง”ดร.มานะ กล่าว
ส่วนการบรรจุเรื่องการกำหนดวาระข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ ให้เป็นหลักสูตรใหม่ในการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ดร.มานะ ยังแสดงทัศนะในเรื่องดังกล่าว ว่า ยังเป็นเรื่องใหม่และละเอียดอ่อน เนื่องจากบุคลากรในการสอนเอง ก็ยังไม่ได้เข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ทั้งหมด และการเรียนการสอนปัจจุบัน ก็มีวิชาเกี่ยวกับการกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) สำหรับสื่อแต่ละประเภทอยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตน่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อตามสื่อใหม่เพิ่มขึ้น
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมชาติของสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ เพียงใช้พื้นที่บน Social Media ในการนำเสนอไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ภาพ เสียง คลิปวิดีโอ โดยสามารถการกระจายตัวอย่างรวดเร็วด้วยการแชร์ต่อๆ กันไป ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากข้อมูลที่กระจายไปนั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ การที่สื่อมวลชนนำกระแสที่เกิดจากสื่อสังคมออนไลน์มาทำเป็นข่าวอาจจะเกิดข้อผิดพลาด หากไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการนำเสนอ นอกจากนี้ ข่าวจะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น หากมีการหาข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นๆ เพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงหลักกฎหมายและจริยธรรมในการนำเสนอข่าวสาร
“ในสมาคมนักข่าว เราได้ทำไกด์ไลน์ในการทำงานให้กับนักข่าว โดยไม่ละเมิดกฎหมายและจริยธรรม แต่นักข่าวก็ไม่อยากตกข่าว ซึ่งเราสามารถนำกระแสจาก Social Media มาทำข่าวเพื่อเพิ่มจำนวนผู้อ่านได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถสู้กระแสข่าวหลักๆ ได้ ขึ้นอยู่กับคนทำงานว่าจะใช้เกณฑ์ไหน และสอบถามใครเพื่อตัดสินใจนำเสนอข่าวนั้นๆ” นายชวรงค์ กล่าว
นอกจากนี้ นายชวรงค์ ยังแนะนำให้นักข่าวระมัดระวังในการที่จะตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและนักการตลาดที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการสื่อสาร
“เมื่อ Social Media สามารถกำหนดวาระข่าวสารได้ เราต้องระวังที่จะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง สินค้าหรือบริการต่างๆ ที่มาสร้างภาพหรือทำ Viral Marketing ใน Social Media” นายชวรงค์ กล่าวปิดท้าย
ด้าน นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ กล่าวว่า สื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันมีอิทธิพลต่อสื่อมวลชนมาก เพราะคนในสื่อสังคมออนไลน์ มักจะคาดหวังให้สื่อมวลชน จะหันมาสนใจ และต้องการให้นำเสนอเรื่องราวที่เป็นกระแสที่ตนสนใจ และบ่อยครั้ง สื่อมวลชนจะถูกตั้งคำถามจากคนในสังคมออนไลน์ว่า ข่าวทั่วไปที่สื่อเลือกมานำเสนอ มีความสำคัญเพียงพอหรือไม่ที่จะมาใช้พื้นที่สื่อมวลชน แล้วเหตุใดสื่อมวลชน จึงไม่นำเสนอข่าวจากกระแสที่อยู่ในสังคมออนไลน์ในช่วงเวลานั้นๆ
นายอภิศิลป์ ยังชี้ให้นักข่าวใช้ความระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในการเมืองปัจจุบัน เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เพราะอาจส่งผลกระทบกับทั้งองค์กรและตัวนักข่าวเอง
“Social Media มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ นักข่าวเองก็ใช้เป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่ฝากว่า นักข่าวควรระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง แม้จะแสดงออกในพื้นที่ส่วนตัว ก็อาจจะมีผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและอาจทำให้นักข่าวใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น” นายอภิศิลป์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้าวันเดียวกัน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน องค์กรภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย ได้ร่วมเสวนาร่วมกับนักข่าวและบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งได้เสนอมุมมองของ “สื่อมวลชน” ในประเทศนั้นๆ ร่วมกัน
Mr. John Nery – Phillipines Daily Inquirer Associate Editor จากฟิลิปปินส์ กล่าวว่า สื่อสิ่งพิมพ์ในเอเซียยังมีแนวโน้มที่ดี แต่โดยรวมแล้วยังถือว่าช้ากว่าอเมริกาและยุโรปมาก ส่วนที่ฟิลิปปินส์ รัฐแทรกแซงสื่อมวลชนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปี ก่อน ทำให้ประชาชนสามารถเลือกบริโภคได้อย่างอิสระเสรี ในขณะที่สื่อมวลชนเอง ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ซึ่งไม่เฉพาะแค่สื่อสิ่งพิมพ์ แต่ยังรุกคืบไปถึง โทรศัพท์มือถือ, โทรทัศน์, วิทยุ, และสื่อออนไลน์
Mr. John Nery กล่าวอีกว่า สังคมออนไลน์ Facebook fanpage สามารถส่ง traffic กลับมาเว็บไซต์ขององค์กรสื่อได้พอสมควร ในขณะที่ข่าวสั้นๆใน Twitter ถือว่าการรายงานที่เร็วมากและมีอายุสั้นมากเช่นกัน
ตัวแทนสื่อของฟิลิปปินส์ ยังกล่าวถึงข้อเสียของ social media ว่า เป็นสื่อใหม่ทำให้ยังไม่มีหลักการที่แน่นอนในการจัดการ และตรวจสอบ ยากต่อการควบคุมการกระจายของข่าว และทำให้โฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง ส่วนข้อดีของ social media นั้น ถือเป็นการสะท้อนพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี และเป็นช่องทางใหม่ในการหารายได้ และติดต่อสื่อสารกับผู้คนอย่างกว้างขวาง
Ms. Thuy Nguyen Dieu – People Daily Online Deputy Director สื่อมวลชนจากเวียดนาม ระบุว่า การรักษาสมดุลย์ในการรายงานข่าวระหว่างสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์เป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งสื่อออนไลน์นั้นมีความรวดเร็ว ในขณะที่สิ่งพิมพ์ข้อมูลต้องแน่นและครบถ้วน อย่างไรก็ดี รัฐซึ่งเป็นเจ้าของสื่อต่างๆ ในเวียดนาม ทำให้สื่อถูกควบคุมจากรัฐอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี การปฎิรูปสื่อ เพื่อให้มีอิสระ ถือเป็นการเรื่องใหม่ที่จะต้องเปิดใจพูดคุยกันอย่างจริงจัง
Ms. Thuy Nguyen Dieu แสดงความคิดเห็นของ Social media ว่า สามารถใช้เป็นแหล่งในการหาข้อมูล หาประเด็นข่าว และกระจายข่าวได้อย่างดี แต่ทั้งนี้ ต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ ซึ่งถือเป็นหัวใจของสื่อกระแสหลัก
Mr. Sopheap Soy – DAP-news.com Editor-in-Chief สื่อมวลชนในกัมพูชา แสดงความคิดเห็นถึงสื่อออนไลน์ไว้อย่างน่าสนใจว่า Facebook เป็นแหล่งค้นหาข้อมูลประเด็นข่าว รวมถึงรูปต่างจากสังคมได้ดี และยังสามารถใช้รายงานข่าวได้ในกรณีที่เว็บไซต์ข่าวขัดข้อง แต่สื่อต่างๆ ในกัมพูชายังคงถูกคุกคาม แต่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจาก มีฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคานอำนาจรัฐเพิ่มขึ้นนั่นเอง
นางสาวสุธิดา มาไลยพันธุ์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จากประเทศไทย กล่าวว่า คนทั่วไปใช้ social media ในการเสพข้อมูล และแสดงความคิดเห็น และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือด้านการตลาดขององค์กรสื่อได้อย่างดี ซึ่งไม่ต่างจากบริษัททั่วไป ที่ใช้ social media ในการสร้างแบรนด์ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ social media จะมีผลกระทบในเชิงลบในด้านโฆษณา แต่ในองค์รวมแล้วยังไม่มีปัญหา