นักภาษาไทยชำแหละปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออก
นักภาษาไทยชำแหละปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออก ชี้ครูเป็นต้นเหตุสอนผิดวิธี สอนสะกดคำแปลกทำให้เด็กไขว้เขว
นักภาษาไทยชำแหละปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออก ชี้ครูเป็นต้นเหตุสอนผิดวิธี สอนสะกดคำแปลกทำให้เด็กไขว้เขว
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สศค.) ได้สะท้อนถึงสถานการณ์การใช้ภาษาไทยของเด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะสาเหตุทำไมเด็กไทยถึงอ่านไม่ออก เนื่องในวันภาษาไทยที่ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี โดย นางปิตินันท์ สุทธสาร ฝ่ายวิชาการราชบัณฑิตยสถาน และผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นประจำปี 2557 กล่าวว่า ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกถ้าวิเคราะห์ดูแล้วคนที่เป็นต้นเหตุของปัญหาคือครู หากครูสอนอย่างถูกวิธี เอาใจใส่ให้เด็กฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เด็กอ่านออกเขียนได้
ทั้งนี้ การสอนของครูในปัจจุบันสอนอย่างสะเปะสะปะซึ่งเป็นการทำร้ายเด็ก ตัวอย่างที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ การสอนแบบสะกดคำที่แปลกไปจากเดิมทำให้เด็กไขว้เขว ซึ่งหลักการสอนสะกดคำมี 2 ลักษณะคือ อ่านสะกดคำ และเขียนสะกดคำ ถ้าครูสอนปนเปกันทั้ง 2 ตัวนี้เด็กจะอ่านไม่ออก
นางปิตินันท์ กล่าวว่า การอ่านสะกดคำ เป็นการอ่านสะกด โดยการออกเสียงเริ่มจากเสียงพยัญชนะต้น ตามด้วยเสียงสระ ตัวสะกด และวรรณยุกต์ การอ่านต้องสะกดด้วยเสียงจะทำให้เด็กอ่านได้ถูกต้อง เช่นคำว่า “เรือ” ถ้าอ่านสะกดคำต้องอ่านว่า รอ-เอือ เรือ หรือคำว่า “ใบ” สะกดว่า บอ-ใอ ใบ แม้ว่าสระใอ จะเขียนขึ้นก่อนก็ตาม ส่วนการสอนเขียนสะกดคำ จะเน้นรูปร่างตัวพยัญชนะหรือสระที่ปรากฎ
เช่น คำว่า “เรือ” จะสะกดว่า สระเอ รอ-เรือ สระอือ ออ-อ่าง หรือคำว่า “ใบ” จะสะกดว่า สระใอ บอ-ใบไม้ แต่ที่เด็กสับสนเพราะครูไปสะกดการเขียนให้เด็กอ่าน เช่นคำว่าเรียน หากครูสอนว่า สระเอ-รอ-สระอี-ยอ-นอ เด็กจะอ่านไม่ออกทันที ต้องสอนว่า รอ-เอีย-ยอ-นอ อ่านว่า เรียน เด็กถึงจะอ่านได้ ครูจึงต้องสอนให้เด็กรู้จักกับรูปสระ รูปพยัญชนะ เสียงสระ เสียงพยัญชนะ
“การสอนอ่านเขียนในระดับป.1-2 จึงเน้นการสอนแบบอ่านสะกดและแจกลูกทุกสระ เพื่อให้เด็กอ่านออก แต่ถ้าระดับที่โตขึ้นเช่น ป.3-6 เด็กจะเจอคำที่ยากขึ้น ครูก็จะสอนแบบเขียนสะกดคำ เช่น คำว่าบริสุทธิ์ จะสอนแบบเขียนสะกดคำว่า บอ-ใบไม้ รอ-เรือ สระอิ สอ-เสือ สระอุ ทอ-ทหาร ธอ-ธง สระอิ การันต์ เพื่อให้เด็กเขียนสะกดได้ถูกต้อง จึงอยากให้ครูสอนตามแบบเรียนภาษาพาทีของกระทรวงศึกษา ระดับชั้นป.1-6 เพราะผู้ที่ทำแบบเรียนไม่ใช่คนเดียวจะคิดขึ้นมา แต่ผ่านคณะกรรมการหลายท่านที่มีความรู้ด้านภาษา ถ้าครูสอนตามนี้และฝึกฝนเด็กอย่างต่อเนื่องจะไม่เกิดปัญหาเด็กอ่านไม่ออก”นางปิตินันท์ กล่าว
นางปิตินันท์ กล่าวว่า การสอนอ่านเขียนไม่ได้มีแค่การสอนแบบแจกลูกเพียงอย่างเดียว ยังมีการสอนโดยให้เด็กเดาคำจากรูปภาพ หรือการสอนให้เด็กเดาจากรูปร่างของคำ รวมถึงการสอนแบบจำเป็นคำ เช่น คำว่า ประโยชน์ ทำไมไม่อ่านออกเสียงว่า “ประโยด” ซึ่งคำว่า “โยชน์” มีความหมายว่า หน่วยวัด แต่ครูจะสอนให้จำเป็นคำ เพราะหากเรียนหลักภาษาที่สูงกว่านี้จะมีคำอธิบายถึงที่มา
"ครูจึงต้องรู้จักวิธีสอนที่หลากหลายโดยวิธีเอามาผสมผสานกัน ไม่มีวิธีไหนเป็นสูตรสำเร็จตายตัว สิ่งสำคัญคือครูต้องฝึกให้เด็กอ่านเขียนสม่ำเสมอ เพราะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่เน้นทักษะ เด็กจะอ่านเขียนออกหรือไม่จึงอยู่ที่ครูในทุกวิชาต้องช่วยกันเพื่อให้ภาษาไทยเข้มแข็งขึ้น และตามด้วยผู้ปกครองในการส่งเสริมเด็กมากน้องเพียงใด" นางปิตินันท์ กล่าว