posttoday

ยูเอ็นยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

08 มิถุนายน 2559

สหประชาชาติยกย่องแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเอเชีย

สหประชาชาติยกย่องแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเอเชีย

นายสเตฟาโนส โฟทีโอ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาในการประชุมวิชาการ “ความท้าทายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชีย” จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และกลุ่มบริษัท ช.การช่างเพื่อเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี

เขากล่าวว่าการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพกำลังเป็นรากฐานของสำคัญต่าง ๆในเอเชีย/แปซิฟิค กล่าวคือ มีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรม ในขณะเดียวกันมีความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากร สุดท้ายจึงส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

สมาชิกประเทศขององค์การสหประชาชาติต่างตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงทำให้เกิดความตกลงกันในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกในการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

นายสเตฟาโน กล่าวว่าเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกทั้ง 17 ข้อ ครอบคลุมทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นผลจากการทำงานอย่างหนักเป็นเวลาสามปีของประเทศสมาชิกต่าง ๆ และสมาชิกประเทศก็จะกำหนดเป้าหมายในแต่ละด้านตามความเหมาะสมของตนเอง

“การลงมือทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนประกอบด้วยชุดกิจกรรมที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตามการปรับทัศนคติเป็นปัจจัยสำคัญ เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกบริษัท ทุกหน่วยงาน เพราะจะต้องทำทุกด้าน ตั้งแต่การบริโภคอย่างรับผิดชอบ การพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่นการซื้อของโดยลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งทำกันได้ทุกคน”

นายสเตฟาโนส กล่าวว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีแนวทางที่สอนให้ตระหนักถึงความสุขที่ไม่ได้ผูกพันกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่ให้นึกถึงความสามารถและความเหมาะสมในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นประโยชน์และรับผิดชอบ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้ได้อย่างยั่งยืนพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมกันในด้านต่าง ๆ

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนอกจากจะเป็นแนวทางเสริมพลังการพัฒนาที่สำคัญยังมีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเอเซียเป็นอย่างยิ่ง เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเล็งเห็นคุณค่าของคนและสิ่งแวดล้อม”

กลไกของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับและเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกไปสู่ความสำเร็จได้