ร.10ทรงแนะม.ราชภัฎยกระดับการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น
นายกฯเผยพระบรมราโชบายด้านการศึกษาร.10ทรงแนะม.ราชภัฎยกระดับการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น-รัฐบาลเล็งตั้งมหาวิทยาลัยสาขาขาดแคลนรองรับไทยแลนด์4.0
นายกฯเผยพระบรมราโชบายด้านการศึกษาร.10ทรงแนะม.ราชภัฎยกระดับการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น-รัฐบาลเล็งตั้งมหาวิทยาลัยสาขาขาดแคลนรองรับไทยแลนด์4.0
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวใน รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ว่าในโอกาสเปิดภาคการศึกษาใหม่ ประจำปี 2560 นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ที่ผ่านมา โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 40 ล้านบาท ประกอบด้วย “ทุนการศึกษา”จำนวน 27 ทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา, ค่าครองชีพ, ค่าหอพัก และค่าอุปกรณ์การศึกษาแก่เด็กนักเรียน นักศึกษาที่มีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย อีกส่วนหนึ่ง สำหรับจัดหา “โต๊ะ–เก้าอี้พระราชทาน” ที่จะทยอยส่งมอบให้สถานศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ใน 10 จังหวัดที่ประสบภัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แก่วงการการศึกษาของประเทศ
ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน ที่ได้ทรงมอบพระบรมราโชบายด้านการศึกษาผ่านองคมนตรี ใจความตอนหนึ่งว่า “...ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน...” แสดงให้เห็นชัดเจนว่าตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ทรงสนพระทัยระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยทอดพระเนตรเห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างดี และทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้ง ถึงแก่นแท้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตครูที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งความรู้วิชาการและเป็นปราชญ์แห่งการพัฒนาท้องถิ่น ที่จะสามารถเข้าถึงต้นตอแห่งปัญหา ของพสกนิกรของพระองค์ในแต่ละท้องที่ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
ได้รับรายงานว่าที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎได้มีการปรับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎ “ใหม่” ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 ซึ่งได้น้อมนำพระบรมราโชบายดังกล่าว มาเป็นยุทธศาสตร์หลัก มุ่งให้มหาวิทยาลัยราชภัฎ ทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศสามารถเป็น “แกนนำ” ในการพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนผลิตและพัฒนาครู และยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เป็นอย่างดี ที่ผ่านมา พบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งได้ดำเนินการให้เห็นผลแล้ว และบางแห่งก็กำลังเพิ่งเริ่มนะครับ ส่วนบางแห่งที่ยังไม่เคยดำเนินการ ก็ถึงเวลาแล้วนะครับ ที่เราจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างผลสัมฤทธิ์ให้เป็นรูปธรรมสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น และการพัฒนาประเทศตามลำดับ
อีกทั้ง เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่อย่างลึกซึ้ง ขอให้นำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมีอยู่ เข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ตรงจุด ตรงความต้องการอย่างเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาด้วย ตัวอย่างผลการดำเนินการ ที่เรียกว่า “พันธกิจสัมพันธ์กับการรับใช้สังคม” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่เข้าไปคลุกคลีกับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นมาเกือบ 20 ปี จนเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย 8 คณะ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น 25 พื้นที่ ในการแก้ปัญหาในท้องที่อย่างตรงเป้าหมาย ตรงกับความต้องการ แบบบูรณาการ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล และพลังงานจังหวัด เข้าไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านที่ประสบปัญหา มีจำนวนวัวหนาแน่นจนได้รับผลกระทบจากมูลวัวจำนวนมาก โดยได้สอนหลักเศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการเบื้องต้น ประกอบกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เปลี่ยนมูลวัวให้เป็นแก๊สชีวภาพ เพื่อใช้หุงต้มในครัวเรือน ช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิง ลดค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้อีกด้วย
นับเป็นแบบอย่างที่ดี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่น่าชื่นชม ก็ขอให้หน่วยงานภาครัฐนะครับ ทั้งกระทรวง มหาดไทย, กระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงแรงงาน,กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ ได้ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบัน อุดมศึกษาที่มีศักยภาพในพื้นที่ ที่สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย เพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบาย และบรรลุตามความมุ่งหวังของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ในด้านการศึกษา ก็คือ ได้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็น “การใช้สีกำหนดขั้นตอนการอ่าน” สำหรับวิชาด้านภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ของครูในโรงเรียนบ้านหนองแก อำเภอ.วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ที่ส่งผลให้คะแนนสอบของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น ติดระดับประเทศ โดยเฉพาะคะแนนสอบโอเน็ต ซึ่งโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ ก็ได้นำวิธีการดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อขยายผล ผมเองนั้นก็เห็นว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสอนที่เห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม, มีประสิทธิภาพและสามารถใช้เป็นแบบอย่างได้ หรือให้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อีกด้วยก็ขอให้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ก็อยากจะยกเป็นกรณีศึกษาแล้วก็สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไปแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการศึกษา ได้ขยายผลแนวทางการสอนนี้ หรือแบบอื่นๆ อีกด้วยที่เป็นประโยชน์ โดยให้หาข้อมูลเพิ่มเติม จากการรวบรวมแนวทางการสอนที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทยและสังคมไทยนะครับ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับครูในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วยต่อไป
ผมเห็นว่า “การคิดนอกกรอบ” นั้นเป็นการคิดสร้างสรรค์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก ในสภาพแวดล้อมของโลก ยุคศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ก็เพื่อจะเป็นการยกระดับการศึกษาของประเทศ และ เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน ได้เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ ในการที่เราจะก้าวไปสู่ “การศึกษาไร้พรมแดน” รัฐบาลจึงได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างเช่น “โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ทุกหมู่บ้าน” ซึ่งรัฐบาลนี้ เร่งดำเนินการอยู่ 25,000 หมู่บ้าน ในปีนี้ และอีก 15,000 หมู่บ้านในอนาคตนะครับ เรามีอยู่แล้ว 30,000 กว่าหมู่บ้านนะครับ ทั้งหมดมี 70,000 กว่าหมู่บ้าน เดี๋ยวจะเข้าใจว่าทำไมทำช้า มีอยูแล้วนะครับ ส่วนที่ขาดเราก็จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จนะครับ อีกแนวความคิดหนึ่ง ก็คือ การส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันการศึกษา โดยให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ อีกด้วยนะครับ อาทิเช่น จากประเทศที่เจริญแล้ว หรือจากสถาบันที่ประสบความสำเร็จมาก่อน
อาจเป็นการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ในสาขาที่ประเทศไทยขาดแคลน แต่เป็นที่ต้องการ และโรงเรียนเอกชน ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น นะครับ อย่าถือว่าจะเอาใครมาแย่งงานของเราเลยนะครับ เป็นระยะแรก เราต้องการสนับสนุนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC นะครับ หรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 แห่ง