posttoday

ฝีแตกต่อเนื่อง! พบโกงเงินสงเคราะห์คนยากไร้เพิ่มเป็น14จังหวัดแล้ว

27 กุมภาพันธ์ 2561

โกงงบคนยากไร้งอกเพิ่มเป็น 14 จังหวัด พบเจ้าหน้าที่บางรายชิงตัดหน้าจ่ายเงินช่วยเหลือ หวังเปลี่ยนใจพยาน ขณะที่หลายจังหวัดพบพฤติการณ์ทำยอดรวบรวมบัตรประชาชน

โกงงบคนยากไร้งอกเพิ่มเป็น 14 จังหวัด พบเจ้าหน้าที่บางรายชิงตัดหน้าจ่ายเงินช่วยเหลือ หวังเปลี่ยนใจพยาน ขณะที่หลายจังหวัดพบพฤติการณ์ทำยอดรวบรวมบัตรประชาชน

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. พ.ท.กรทิพย์. ดาโรจน์. รักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท)เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งในหลายจังหวัดเพื่อรวบรวมหลักฐานในจังหวัดที่มีข้อมูลส่อทุจริตเสนอให้บอร์ดตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิด โดยเจ้าหน้าที่จะต้องตั้งต้นตรวจสอบจากการยื่นฎีกาเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือ จากนั้นจึงจะติดตามไปสอบปากคำผู้ที่มีชื่อรับเงินว่า ได้รับเงินช่วยเหลือครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งปัญหาที่พบคือเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯจะสืบหาข่าวว่าป.ป.ท.จะเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ใด เพื่อชิงตัดหน้าไปจ่ายเงินช่วยเหลือคงค้างให้ครบตามจำนวน และเมื่อประชาชนได้รับเงินตามสิทธิจึงไม่ประสงค์เข้าให้การเป็นพยานในคดี

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ป.ป.ท.ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง จ.ตรังว่า มีประชาชนไปแจ้งความที่สภ.หาดสำราญ ว่าถูกแอบอ้างชื่อไปเบิกรับเงินช่วยเหลือรายละ 2,000 บาท

ด้าน พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ท. กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ ป.ป.ท.ตรวจสอบพบการทุจริต 14 จังหวัด เพิ่มขึ้น 2 จังหวัด คือที่สระแก้วและร้อยเอ็ด เดิมตรวจสอบพบ ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ สุราษฎร์ธานี ตราด สระบุรี อยุธยา อุดรธานี น่าน กระบี่ และตรัง โดยมีหลายพื้นที่ที่ป.ป.ท.ต้องเข้าสอบปากคำพยานซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากภายหลังเข้าไปตรวจสอบคนของศูนย์คนไร้ที่พึ่งได้นำเงินไปมอบให้ผู้มีสิทธิ์จนครบเต็มจำนวน แต่ในทางคดีถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ได้เบิกเงินมาครบเต็มจำนวนและปิดงบประมาณไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.60

"ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ พ.ท.กรทิพย์จะเดินทางไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อหารือมาตรการคุ้มครองพยานให้กับ น.ส.ปนิดา ยศปัญญา และน.ส.ณัฏกานต์ หมื่นพล"พ.ต.ท.วันนพกล่าว

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการกระทำความผิดไม่แตกต่างไปจากเดิม คือมีการนำหลักฐานแสดงตัวตนของบุคคลไปใช้เบิกเงิน แต่ตัวละครและกลุ่มอาชีพที่นำไประบุว่าเป็นคนจน คนไร้ที่พึ่ง หรือผู้ยากไร้จะแตกต่างกันออกไป ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนที่กระทำความผิดต้องการเพียงบัตรประชาชนเพื่อนำไปเบิกเงิน โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้ถูกแอบอ้างจะมีอาชีพหรือมีคุณสมบัติเป็นคนจนหรือไม่ เช่น จ.ตราด อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) 15 คน เคยถูกเรียกตัวไปช่วยงานของศูนย์คนไร้ที่พึ่ง โดยถูกมอบหมายให้ทำงานช่วยจัดสถานที่จัดเลี้ยงและยกของให้ค่าแรงคนละ 300 บาท แต่ทางศูนย์แจ้งว่าต้องนำสำเนาบัตรประชาชนของอส.ทั้ง 15 คนไปประกอบการเบิกจ่ายเงิน จน ป.ป.ท. เข้าไปตรวจสอบ เจ้าหน้าที่อส. 15 คน จึงรู้ความจริงว่าถูกระบุเป็นผู้มีรายได้น้อย ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 2 พันบาท

นอกจากนี้ สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) จังหวัดหนึ่งก็มีชื่อเป็นคนยากจนไร้ที่พึ่ง ขอเงินช่วยเหลือจากรัฐเช่นกัน เบื้องต้นคาดว่าผู้เสียหายเคยไปร่วมงานอบรบสัมมนาและเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ขอสำเนาบัตรประชาชนไปประกอบการเบิกค่าอาหาร จนมีการตรวจสอบจึงทราบว่าถูกนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้แอบอ้างด้วยเช่นกัน

สำหรับพฤติกรรมที่พบในจ.น่าน เป็นการเข้าไปขอสำเนาบัตรประชาชนจากชาวบ้าน. โดยอ้างว่าเป็นการจัดทำรายชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมในงานทอดกฐิน จากนั้นสำเนาบัตรประชาชนถูกนำไปยื่นขอรับเงินช่วยเหลือสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งรายละ 2,000 บาท ทั้งที่บางรายมีฐานะร่ำรวย ไม่เข้าเกณฑ์เป็นผู้ยากไร้ที่ควรได้รับการสงเคราะห์จากรัฐ