"หยุดคิด เช็คต้นตอ" หนทางยุติ "ข่าวปลอม" ที่กำลังเป็นปัญหาโลก
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศฯและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ผลกระทบและวิธีการป้องกันข่าวปลอม
โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด
ข่าวสารบนโซเชียลมีเดีย หลายครั้งพบว่าเป็นข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดี หรือต้องการผลประโยชน์บางอย่าง โดยล่าสุด ไอซ์-ปรีชญา พงษ์ธนานิกร นักแสดงสาว ถูกเว็บไซต์แห่งหนึ่ง กุข่าวว่าถูกตำรวจจับในวงปาร์ตี้ยาเสพติด ขณะที่บุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เคยเจอข่าวลวงว่า ประกาศลาออกจากตำแหน่งมาแล้ว
คำถามคือ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของบุคคลผู้กุข่าวสร้างความเท็จเหล่านี้คืออะไร..?
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ และตำรวจที่ทำงานทางด้านนี้โดยตรง จะมาไขข้อข้องใจพร้อมให้คำแนะนำเพื่อไม่ให้คุณตกเป็นเหยื่อ
ข่าวปลอมปัญหาระดับโลก
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดของข่าวปลอมเป็นปัญหาระดับโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ จึงควรบรรจุให้เป็นวาระของสังคมโลก ในการช่วยกันแก้ปัญหา ที่ต้องรู้เท่าทันการใช้สื่อ ไม่ใช่หวังแต่รอผู้ให้บริการ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ดูแลฝ่ายเดียว
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศฯ เผยว่าวัตถุประสงค์การสร้างข่าวปลอมมี 2 อย่างหลักๆ คือ
1.หวังผลเพื่อสนับสนุนส่งเสริมประโยชน์ของตนเองและทำลายฝ่ายตรงข้าม อาทิ หวังผลทางการเมือง ธุรกิจ หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว
2.สนองความสนุกส่วนตัวเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ โดยไม่ได้หวังผลชัดเจน กลุ่มนี้เรียกว่า “เกรียนออนไลน์”
ปัจจัยที่ทำให้ข่าวปลอมระบาด เกิดจากผู้เสพข่าวขาดทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่มีความซับซ้อน เพราะเคยชินกับการเสพข้อมูลจากสื่อหลักที่มีการกลั่นกรอง ทำให้เมื่อพบข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย จึงมักคิดว่าเป็นเรื่องจริงเสมอไป
“เหมือนช่วงที่มีความขัดแยงทางการเมือง เห็นได้ชัดว่า ตอนนั้นเมื่อมีข้อมูลอะไรมา คนมักหลงเชื่อและส่งต่ออย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดก่อน”
อาจารย์นิเทศศาสตร์รายนี้ มองว่าผลเสียจากการแชร์ข้อมูลการสร้างข่าวเท็จมีมาก ตั้งแต่ปัญหาระหว่างบุคคลจนกลายเป็นคดีความ ทำให้สังคมและบุคคลอื่นตื่นตระหนก บางครั้งอาจร้ายแรงจนกระทบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ป้องกันข่าวปลอม เริ่มจากตัวเรา
ดร.มานะ แนะนำวิธีการตรวจสอบข่าวปลอมว่า เมื่อเห็นข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลมีเดีย อย่ารีบหลงเชื่อโดยทันที พิจารณาว่ามีแหล่งที่มาน่าเชื่อถือหรือไม่ และรอข้อมูลจากแหล่งอื่นมาสนับสนุนประกอบ ถ้าหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ควรตั้งข้อสันนิษฐานก่อนว่าคือข่าวปลอม เนื่องจากสังคมออนไลน์ยุคนี้ผู้มีเจตนาผลิตข่าวปลอม สามารถสร้างแหล่งที่มาให้มีรูปแบบคล้ายสำนักข่าวหลักได้
ทว่าวิธีการป้องกันดีที่สุดอยู่ที่ตนเอง เมื่อเจอหรือพบเห็น ไม่ควรหลงเชื่อและกดแชร์ทันที จนกว่าจะได้รับการยืนยันแน่ชัด และเมื่อมั่นใจว่าเป็นข่าวปลอม ควรรีบแจ้งเตือนให้ผู้ใช้สังคมออนไลน์คนอื่นทราบ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาด
(ตัวอย่าง) ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์
ขั้นตอนล่าคนสร้างข่าวเท็จ
พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อธิบายว่า คดีจากการสร้างข่าวปลอมที่พบเป็นประจำมี 2 ฐานความผิด คือ ข้อหาฉ้อโกงทรัพย์ ข้อหาหมิ่นประมาทตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และหากมีการเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้างอาจสร้างผลกระทบต่อประเทศชาติได้
ส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในติดตามดำเนินคดีกับผู้สร้างข่าวปลอม ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้สถานีตำรวจทุกแห่ง สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสอบสวนความผิดในอินเทอร์เน็ตได้แล้ว หากตำรวจในพื้นที่ไม่ดำเนินการจะถือว่ามีความผิด
ขณะที่แนวทางการสืบสวนหาตัวผู้สร้างข่าวปลอม พ.ต.อ.โอฬาร ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องยาก การทำงานมีลักษณะคล้ายการสืบสวนสอบสวนคดีตามปกติ คือ รวบรวมพยานหลักฐาน สืบสวนตามระบบซึ่งอาจประสานกับงาน เช่น สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยอาศัยประสบการณ์ จนนำไปสู่การขยายผลถึงแหล่งข้อมูลข่าวปลอม
นายตำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทิ้งท้ายว่า แต่การป้องกันที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากตัวเอง ประชาชนควรพิจารณาข้อมูลว่ามาจากแหล่งน่าเชื่อถือหรือไม่ หากไม่มีความชัดเจนขอให้ระมัดระวังไว้ก่อน โดยเฉพาะเว็บไซค์หรือเพจเฟซบุ๊กที่ต้องให้จ่ายเงิน ควรตรวจสอบให้ละเอียด
ขั้นตอนการทำงานของสื่อมวลชน