สวนมะพร้าวร้องจ๊าก ราคาตกผลผลิตกองพะเนิน
ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศ แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาผลผลิตมะพร้าวตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
โดย...ไชยวัฒน์ สาดแย้ม
ประจวบคีรีขันธ์นับว่าเป็นจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศ แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาผลผลิตมะพร้าวตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ทำให้เกษตรกรต้องขาดทุน แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือผลผลิตขายไม่ออกเหลือกองอยู่เป็นพะเนิน
ประสพชัย พูลเกิด พาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการมะพร้าวในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาร่วมประชุมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลาง ประกอบด้วย กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตร ได้ข้อสรุปว่า ประจวบคีรีขันธ์ มีข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังหน่วยงานส่วนกลางเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ จำนวน 11 ข้อ ได้แก่
1.ให้กำหนดบทลงโทษผู้ที่ยื่นขอนำเข้ามะพร้าวแต่ทำผิดเงื่อนไขของกรมการค้าต่างประเทศภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) องค์การการค้าโลก (WTO) และกรมวิชาการเกษตร โดยควรกำหนดให้แปรรูปมะพร้าวผลเป็นมะพร้าวขาวในโรงงานที่ขอนำเข้าเท่านั้น
2.ออกมาตรการกำกับดูแลการขออนุญาตนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์นอกโควตาภายใต้กรอบ WTO ซึ่งยังเป็นช่องว่างทางกฎหมาย
3.แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสต๊อกมะพร้าวผู้ที่ขอนำเข้าโดยมีตัวแทนเกษตรกรร่วมด้วย ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการนำเข้า
4.หากมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามะพร้าวในประเทศ ต้องกำหนดเงื่อนไขการขอนำเข้าให้ชัดเจน เช่น กำหนดสัดส่วนการนำเข้าและต้องซื้อมะพร้าวภายในประเทศ
5.แต่งตั้งคณะทำงานประเมินผลผลิตมะพร้าวระดับจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นเอกภาพและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยมีการประเมินผลทุก 3 เดือน
6.ทบทวนห้วงเวลาที่อนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวโดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตในประเทศ
7.กำหนดให้มีการออกใบเคลื่อนย้ายมะพร้าวนำเข้าจากท่าเรือหรือด่านชายแดนที่นำเข้า ไปยังโรงงานและสถานที่แปรรูป รวมทั้งใบเคลื่อนย้ายผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศระหว่างจังหวัดต้นทางและปลายทางเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า
8.เพิ่มกำลังอัตราเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรและด่านกักกันโรคพืชให้เพียงพอ รวมทั้งหน่วยงานตรวจสอบทางทะเลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันลักลอบ
นำเข้า รวมทั้งจัดสรรงบประมาณซื้อเครื่องมือตรวจสอบดีเอ็นเอมะพร้าว ตลอดจนกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดตรวจสอบและปราบปรามมะพร้าวลักลอบนำเข้าทั้งทางบกและทางทะเลอย่างต่อเนื่อง
9.ส่งเสริมและจัดตั้งสถาบันเกษตรและวิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปมะพร้าว
10.ขยายเวลางดการนำเข้ามะพร้าวจากเดิมที่รัฐบาลกำหนดระยะเวลา 3 เดือนคือตั้งแต่เดือน ส.ค.-ต.ค. 2561
11.ขอให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เร่งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระยะเร่งด่วน
ด้านเกษตรกรสวนมะพร้าว บุญทิพย์ อ่างแดง เกษตรกรบ้านอ่างทอง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า จากที่เคยทำมะพร้าวขาว (มะพร้าวแกะเนื้อ) ส่งทุกวัน วันละ 200-500 กิโลกรัม (กก.) โดนลดโควตาเหลือเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 กก.เท่านั้น ช่วงที่ผ่านมาทำแล้วขายไม่ได้เพราะขาดทุน ก่อนหน้านี้มะพร้าวซื้อมาในราคาลูกละ 7 บาท ปัจจุบันซื้อหน้าสวน 4 บาท ซึ่งชาวสวนมะพร้าวเองเมื่อหักค่าใช้จ่าย ค่าสอยค่าเก็บแล้วจะเหลือเพียงลูกละ 1-2 บาท จากปี 2560 ซึ่งราคารับซื้อหน้าสวนสูงถึงกิโลกรัมละ 27-29 บาท
“การทำเนื้อมะพร้าวขาว 1 กก. ต้องใช้ลูกมะพร้าวเกือบ 3 ลูกบวกค่าแรง กก.ละ 3 บาท ทำให้มีต้นทุน กก.ละ 24 บาท แต่ขายได้เพียง กก.ละ 9 บาท เท่ากับขาดทุนถึง 15 บาท/กก. จึงจำเป็นต้องปล่อยให้มะพร้าวที่ซื้อมางอกคาสวน เพราะทำอย่างไรก็ไม่คุ้มทุน”
บุญทิพย์ บอกว่า ช่วงที่ผ่านมาต้องซื้อมะพร้าวจากลูกสวนหรือเครือข่ายที่ส่งมะพร้าวให้ ทั้งที่ราคาตกต่ำแต่ก็ต้องซื้อทุกเดือน หากหยุดรับซื้อวันหน้าลูกสวนก็จะหันไปส่งมะพร้าวให้กับเจ้าอื่นจึงต้องรักษาฐานลูกค้าด้วยการซื้อต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะระบายสินค้าไม่ได้ก็ตาม
“ขณะนี้มีมะพร้าวที่ซื้อมาและกองไว้ในสวนประมาณ 6 หมื่นลูก ซื้อในราคาลูกละ 7 บาท กับ ลูกละ 5 บาท เป็นจำนวนเงินกว่า 2 แสนบาท แต่ไม่มีทางระบายสู่ตลาดจึงมีรายจ่ายแบกรับภาระขึ้นทุกเดือน ทำให้ไม่มีรายได้ บางวันไม่มีเงินติดตัวไม่มีข้าวกิน ต้องไปงมหอยเก็บปูมาทำกับข้าวกินกันในครอบครัว รวม 6 ชีวิต เพราะไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบทำอาหาร อีกทั้งยังต้องกู้หนี้จากธนาคารเพื่อซื้อมะพร้าว ตอนนี้เครียดจัดเพราะไม่มีเงินไปจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นที่ถึงกำหนดส่งคืนแล้ว ส่วนการเผากะลามะพร้าวเพื่อทำถ่านนั้น กำไรได้น้อยมาก แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนมาช่วยเหลือในช่วงที่ทำมะพร้าวขาวไม่ได้ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย”
บุญทิพย์ขอให้รัฐบาลจริงจังกับการลักลอบนำมะพร้าวเถื่อนเข้าประเทศ เพราะขณะนี้แม้จะไม่อนุญาตให้นำเข้า แต่ราคามะพร้าวก็ยังไม่ดีขึ้น เชื่อว่ายังคงมีมะพร้าวเถื่อนหมุนเวียนอยู่ในระบบ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว
“ขณะนี้ชาวสวนมะพร้าวทับสะแกและพื้นที่ใกล้เคียงประสบปัญหาเช่นนี้ทุกคน ตั้งแต่ทำมะพร้าวขาวมากว่า 20 ปี ไม่เคยเจอวิกฤตที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้ แม้ในอดีตราคาจะต่ำ แต่ค่าครองชีพ และปริมาณของที่ขายออก ก็ไม่ทำให้เดือดร้อนเช่นนี้ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด่วน” บุญทิพย์วิงวอนถึงรัฐบาล