ลมหนาวมาแล้ว! อุตุฯคาดกลางต.ค.อุณหภูมิเริ่มลดลง
กรมอุตุฯ คาดการณ์กลางเดือนนี้เข้าสู่ฤดูหนาว แต่อากาศจะเย็นสุดช่วงม.ค.ปีหน้า เตือนภาคกลาง-ตะวันออก รับมือฝนถล่มตลอดสัปดาห์
กรมอุตุฯ คาดการณ์กลางเดือนนี้เข้าสู่ฤดูหนาว แต่อากาศจะเย็นสุดช่วงม.ค.ปีหน้า เตือนภาคกลาง-ตะวันออก รับมือฝนถล่มตลอดสัปดาห์
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 3-7 ต.ค.นี้ ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนอีกระรอกหนึ่งจะแผ่เสริมเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง และอุณภูมิลดลง 2-3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกยังคงมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่
นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ฤดูหนาวในปีนี้จะเริ่มต้นประมาณกลางเดือน ต.ค. และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ก.พ. 2562 โดยช่วงครึ่งหลังของเดือน ธ.ค.นี้ไปจนถึงกลางเดือน ม.ค. 2562 จะเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ย 20-21 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 6-7 องศาเซลเซียส ซึ่งบริเวณเทือกเขาและยอดดอยจะมีอากาศหนาวจัด และมักมีน้ำค้างแข็งหรือเหมยขาบเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง
“ปีนี้ถือว่าฤดูหนาวมาเร็วกว่าปกติ ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่อุณหภูมิอยู่ในขั้นหนาว แต่จะไม่หนาวจัด ยกเว้นตามยอดดอยต่างๆ ที่จะเย็นจัด ในเขตตัวเมืองน่าจะเป็นพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และขอให้เตรียมตัวรับมือฤดูแล้งที่จะยาวนานกว่าปกติในช่วงปี 2562-2563 จากอิทธิพลเอลนินโญ” ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าว
นายภูเวียง ประคำมินทร์ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า พื้นที่ กทม.จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 7 ต.ค. และอาจมีฝนแผ่ลงไปปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบนตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร พื้นที่ซึ่งน่าเป็นห่วง คือ ที่ลาดเชิงเขาภาคเหนือ โดยเฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน ตาก และพิษณุโลก เนื่องจากดินอุ้มน้ำมากตั้งแต่ช่วงฤดูฝน ทำให้มีความเสี่ยงน้ำป่าไหลหลักและดินถล่มได้ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่น่าเป็นห่วง คือ ที่ลาดเชิงเขาในภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี และภาคตะวันออก บริเวณเทือกเขาชะเมา จ.ระยอง และเขาสอยดาว จ.จันทบุรี
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่นกองเร็ย มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ช่วงวันที่ 4-6 ต.ค.นี้ แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรับผิดชอบเขื่อนใหญ่ อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งมีปริมาณน้ำ 64% และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 86% ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะช่วงหลังจากวันที่ 15 ต.ค.ไปแล้วปริมาณฝนจะน้อยลง ถ้าเป็นไปได้พยายามเก็บน้ำไว้ในทั้งสองเขื่อนให้มากที่สุด โดยลดการระบายน้ำลง เนื่องจากทั้งสองเขื่อนเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง