posttoday

นร.เสี่ยงอันตราย! ผลวิจัยพบอาหารกลางวันปนเปื้อนยาฆ่าแมลง

11 ธันวาคม 2561

"มูลนิธิการศึกษาไทย" เผยผลวิจัยตรวจหาสารตกค้างในอาหารกลางวันเด็กนักเรียน พบยาฆ่าแมลงในผัก ผลไม้เกือบ100% ขณะที่ในปัสสาวะครู-นักเรียน มีสารเคมีตกค้างถึง 99%

"มูลนิธิการศึกษาไทย" เผยผลวิจัยตรวจหาสารตกค้างในอาหารกลางวันเด็กนักเรียน พบยาฆ่าแมลงในผัก ผลไม้เกือบ100% ขณะที่ในปัสสาวะครู-นักเรียน มีสารเคมีตกค้างถึง 99%

นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิฯได้ดำเนินการศึกษาวิจัยตามโครงการการจัดการสารเคมีในระดับท้องถิ่น และการส่งเสริมการบริโภคอาหารกลางวันที่ปลอดภัยใน 55 โรงเรียน จาก 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ 20 แห่ง ปทุมธานี 11 แห่ง สกลนคร 12 แห่ง และพังงา 12 แห่งระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560 - ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กร The Field Alliance มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Greenpeace Thailand

ผลจากการตรวจหาสารตกค้างในอาหารกลางวันโรงเรียน ในผักที่โรงเรียนใช้มากที่สุด และบ่อยที่สุด 5 ชนิด 4 ภาค พบว่าเด็กทุกภาคกินผักเหมือนกันเกือบทุกชนิด เช่น แครอท กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง คะน้า มะเขือเจ้าพระยา มะเขือเทศ และในการตรวจได้ส่งเข้าห้องแล็ป และตรวจเพียง 2 กลุ่ม คือ ออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) กับ พัยรีธรัม (pyrethrum) เพราะได้สำรวจชาวบ้านแล้วว่าใช้อะไรบ้าง ปรากฏว่ามีการใช้สารฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตมากในผักกับผลไม้ โดยเฉพาะผักที่ส่งตรวจ 5 ชนิด พบเกือบ 100% และสารที่พบมากที่สุด คือคลอร์ไพริฟอส ส่วนสารฆ่าแมลงพัยรีธรัม ก็ใช้มากพอๆ กับคาร์บาเมต คือ 92%

นายมารุต กล่าวว่า ที่น่าตกใจคือมีการตรวจปัสสาวะด้วย ทั้งนักเรียนและครู จำนวน 436 ตัวอย่างใน 4 จังหวัด พบ ออร์กาโนฟอสเฟต ตกค้างในปัสสาวะถึง 99% ของจำนวนตัวอย่าง ซึ่งสารออร์กาโนฟอสเฟต ก็คือสารที่มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทรอบนอก โดยจะจับตัวกับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส ที่มีหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทหยุดการทำงาน ผลการจับตัวกับเอ็นไซม์ทำให้ปริมาณของเอ็นไซม์ลดลง และมีผลต่อกล้ามเนื้อ รวมถึงต่อมต่างๆ และกล้ามเนื้อเรียบ ที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ในการทำงานมากกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสมีไม่มากพอที่จะหยุดการทำงาน จึงพบอาการม่านตาหรี่ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ อาเจียน มือสั่น เดินโซเซ ชัก หมดสติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดตะคริวที่กล้ามเนื้อ ต่อมต่างๆ รวมถึงทำให้ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมามาก ต่อมเหงื่อก็ขับเหงื่อออกมามากเช่นกัน

เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย ชี้ว่า เมื่อผู้บริโภครับสารเคมีเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก จะเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น มีความพิการทางสมอง ร่างกาย นิ้วมือและนิ้วเท้าเกินหรือขาด ทั้งยังเป็นพิษต่อระบบสมอง เกิดผลต่อระบบประสาท ทำให้พัฒนาการค่อนข้างล่าช้ากว่าเด็กปกติ บางรายอาจเป็นโรคออทิสติก หอบหืด สมาธิสั้น การผิดปกติทางด้านอารมณ์ อาทิ โรคซึมเศร้า เป็นต้น

"เป็นเรื่องที่ต้องทำงานหนักกว่านี้ ขณะเดียวกันในการทำวิจัยครั้งนี้ ตรวจแค่กลุ่ม OP ซึ่งจริงๆ แล้วควรตรวจให้ครบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ ได้ส่งกลับ ให้กับทางผู้ปกครองและโรงเรียน ทำให้โรงเรียนในโครงการ ปรับเปลี่ยนเมนูบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงผักที่ปลูกเชิงพาณิชย์ หันมาเน้นผักพื้นบ้านแทน นอกจากนี้ยังมีการอบรมเรื่องการปรุงอาหารกลางวันในโรงเรียน ก็พบว่าโรงเรียนมีการใช้สารปรุงแต่งมาก เมื่อมีการอบรมก็ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของการขับเคลื่อน เช่น ที่สกลนคร มีนายอำเภอที่เข้มแข็ง จึงผลักดัน เกือบทุกโรงเรียนในอำเภอให้เข้าสู่การผลิตที่ปลอดภัย แต่ในระดับจังหวัด ยังไม่เห็น แม้ว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดจะส่งคนมาร่วมตลอด แต่ยังไม่มีการชูธง" นายมารุต กล่าว

สำหรับโครงการการจัดการสารเคมีในระดับท้องถิ่น และการส่งเสริมการบริโภคอาหารกลางวันที่ปลอดภัยใน 55 โรงเรียน ได้ออกแบบไว้ 3 เรื่องหลักๆ คือ การทำวิจัยเพื่อติดตามสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก แล้วนำข้อมูลคืนสู่ชุมชนและโรงเรียน เพื่อให้เกิดการปกป้องนักเรียนจากผลกระทบของสารเคมี นอกจากนี้ยังทำรูปแบบจัดสร้างอาหารปลอดภัยเข้าโรงเรียน โดยอบรม โรงเรียน ผู้ผลิต เกษตรกร กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงเรียน เมื่อโรงเรียนต้องการพืชผัก จะทำอย่างไร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ทำนโยบายควบคู่กันไปด้วย ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ขึ้นมาในระดับยุทธศาสตร์จนถึงระดับกระทรวง

จากข้อมูลที่ได้นี้ ทางมูลนิธิการศึกษาไทยได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทางกรรมการเห็นด้วยหมด และตอนนี้กำลังทำรายงานเสนอรัฐมนตรี เราจึงรอกระทรวงแถลงแผนการ นโยบายอาหารกลางวันโรงเรียน แต่โดยหลักแล้ว คือต้องการให้โรงเรียนปลอดสารเคมี อาหารกลางวันโรงเรียนปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่ผักผลไม้อย่างเดียว เนื่องจากตรวจเจอฟอร์มาลีน บอแรกซ์ ในเนื้อสัตว์ ลูกชิ้น ไส้กรอกด้วย ฉะนั้นต้องมีรูปแบบการผลิตที่ปลอดภัย ซึ่งตรงนี้รู้สึกเป็นห่วง เพราะทันทีที่กระทรวงศึกษาประกาศออกไป ถามว่าโรงเรียนจะไปซื้อวัตถุดิบปลอดภัยจากที่ไหน ถือเป็นโจทย์ที่หลายโรงเรียนกลุ้มใจทำไม่ได้ แต่เป็นนโยบายที่ดี ดังนั้นทุกฝ่ายต้องทำงานกันอีกมาก

ทั้งนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีประมาณ 30,000 แห่ง ถ้ารวมเอกชนและวิทยาลัยด้วยก็ประมาณ 50,000 ถึง 60,000 แห่ง เหล่านี้คือตลาดที่จะเกิดขึ้น ถ้านโยบายนี้ออกไป ก็ต้องมีคนผลิตเข้ามา โชคดีที่ขณะนี้ ทางมูลนิธิชีววิถี (Biothai) มีแผนเรื่องเกษตรอินทรีย์ 20 จังหวัด ถ้ามาร่วมมือกันได้ก็จะช่วยได้อีกระดับหนึ่ง