ราชาชาวไซย่าแห่งสยาม "ไกวัล วัฒนไกร" นักพากย์ผู้ใช้เสียงสร้างชีวิต
รู้จัก "ไกวัล วัฒนไกร" ชายวัย 67 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังชีวิตตัวการ์ตูนชื่อดังที่ผ่านสายตาคนไทยมาว่า 30 ปี
รู้จัก "ไกวัล วัฒนไกร" ชายวัย 67 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังชีวิตตัวการ์ตูนชื่อดังที่ผ่านสายตาคนไทยมาว่า 30 ปี
***********************
โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล
"ไกวัล วัฒนไกร" แนะนำชื่อแบบนี้หลายคนอาจงงว่าเขาคือใคร?
แต่หากบอกว่าชายผู้นี้คือเจ้าของเสียงพากย์ "เบจิต้า" เจ้าชายชาวไซย่าแห่ง ดราก้อนบอล การ์ตูนระดับตำนาน และเสียงพากย์ "ซากุรางิ ฮานามิจิ" นักบาสหนุ่มจากการ์ตูนสแลมดังก์ หลายคนคงร้องอ๋อ เพราะเป็นการ์ตูนที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
กว่า 30 ปี บนเส้นทางการทำงาน ไกวัล พากย์เสียงตัวการ์ตูนทั้งจอเงินจอแก้วไปแล้วนับ 100 เรื่อง กระทั่งวันนี้ในวัย 67 ปี เขาก็ยังส่งความสุขผ่านเสียงพากย์ไปยังแฟนๆการ์ตูนอยู่เสมอ
นอกจากเสียงพากย์อันเป็นเอกลักษณ์แล้ว เส้นทางชีวิตและแง่คิดที่ได้จากอาชีพนักพากย์ของ "ไกวัล" ก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
"เด็กสุพรรณ"ผู้หลงรักหนัง
ลูกไม้บางลูกตกไกลต้น ลูกไม้บางต้นตกใต้ต้น “ไกวัล วัฒนไกร” ดูเหมือนจะเป็นอย่างหลังมากว่า เพราะเขาเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป้นเจ้าของวิกหนังกลางแปลงที่ บ้านสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
"คุณพ่อท่านเป็นลิเกเก่า แล้วก็มาเป็นคุณครู ก่อนจะมาเปิดเป็นวิกหนังกลางแปลงช่วงที่ผมเกิด โตมาก็เจอเครื่องฉายหนัง จอหนัง ฉายทั้งหนังไทยและหนังต่างประเทศ เป็นหนัง 16 มม. ต้องพากย์เสียงใส่เข้าไปเอง แต่ตอนแรกคุณพ่อไม่ยอมให้เป็นนักพากย์ ปั้นคนอื่นเป็นนักพากย์หมด เพราะว่างานมันหนัก ลำบาก เดินสายข้ามจังหวัดต้องอดหลับอดนอน ท่านบอกว่าอยากให้เป็นข้าราชการ"
ไกวัลเล่าว่า เมื่อถูกสั่งห้ามไม่ให้พากย์หนังแต่ด้วยความชอบจึงหันมาพากย์เสียงขณะอ่านหนังสือการ์ตูนให้เพื่อนๆฟังแทน
"เราก็เรียนหนังสือ แล้วเวลาว่างก็อ่านหนังสือการ์ตูนพากย์เสียงให้เพื่อนๆ ฟังแทน จนช่วง ป.6-7 ช่วงที่หนังกลางแปลงฮิตมาก ท่านก็เลยเรียกให้ไปช่วยพากย์โฆษณาก่อนฉายหนัง ยิ้มในใจได้สานต่อแน่ แต่สุดท้ายก็ได้แค่นั้น หลังๆ ก็เลยไปสนใจหลงเสน่ห์ความสวยโปสเตอร์แทน อยากจะเขียนรูปโปสเตอร์แบบเปี๊ยกโปสเตอร์”
ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นวัยของความหลากหลาย ไกวัลยิ่งวาดภาพในความคิดออกห่างจากนักพากย์ขึ้นเรื่อยๆ หลังจบ มส.3 ได้เลือกเรียนต่อในระดับปวช. สาขาครุภัณฑ์ เทคนิคกรุงเทพฯ (ชื่อเดิม) ซึ่งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพความสนใจเรื่องจอหนังได้เปลี่ยนเป็นทรงผมแสกกลางพริ้วๆ และแฟชั่นกางเกงขามอส
“ไปสมัครเรียนเพาะช่าง แต่มันเข้ายากมาก จังหวะนั้นเพื่อนมันก็ชวนให้มาลองเข้าเทคนิคกรุงเทพฯ เพราะใส่กางเกงขายาว โก้กว่าชาวบ้านเขา ไว้ผมทรงแสกกลางได้ เราก็ลองดู ปรากฏว่าทะลึ่งดันติดเสียด้วย ก็ยาวเลยเป็นไอ้ตี๋หนุ่มสำอางขามอสแทน”
เหมือนดวงจะเกิดมาเพื่อเป็นนักพากย์ เพราะสุดท้ายเขาก็ได้กลับมาเดินเส้นทางนี้อีกครั้ง
"มันเหมือนเขาจะให้เราเป็นให้ได้ เพราะที่ตลกกว่านั้นคือตอนช่วงสอบเทคนิคถ้าสอบไม่ติดก็ได้กลับมาช่วยพ่อทำหนังที่บ้านอย่างที่ชาวบ้านเขาดูถูกไว้ว่าอย่าส่งเราเรียนเลย ส่งน้องเรียนก็พอ เรามันไม่เก่ง แต่เราก็ดันติด พออยู่ใกล้ก็เลยต้องช่วยที่บ้านติดต่อส่งหนังบ้าง รูปใบปิดหนังบ้าง โทรเลขนัดรับหนังบ้าง"
เมื่อคนรักหนังอยู่กับคนทำหนังก็ไม่ต่างอะไรกับเปลวไฟใกล้น้ำมัน เพราะย่านโรงหนังเฉลิมกรุงจัดเป็นแหล่งศูนย์รวมบรรดาเซียนหนังถึงขนาดมีมุมฮอตฮิตไม่ต่างจากสยามปัจจุบันอย่าง "มะขามสแควร์" ที่คราคร่ำไปด้วยนักพากย์หนังทั้งระดับท็อปมืออาชีพไปจนมือสมัครเล่น
"สักพักพรรคพวกเต็มไปหมด ครั้งแรกพวกจะไปพากย์หนังที่วัดครุใน อ.พระประแดง เห็นเราว่างเลยชวนเราไปเที่ยว ไปก็ช่วยหิ้วกระเป๋าและก็เดินเที่ยวของเรา ครั้งต่อมาก็ขยับไปช่วยเขาทำเสียงฟันดาบ ช่วยเปิดเพลงคลอบรรยากาศหนัง และสุดท้ายก็ให้พากย์แจมตัวประกอบ แต่มันก็ไม่จริงจังเท่าไร่ ยังไม่ถือว่าแหกกฎพ่อ" ไกวัลกล่าวด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้าด้วยความสนุกกับคืนวันเก่าก่อน
“คาวบอยศึกโมฮอว์ก” งานแรกในฐานะนักพากย์หนัง
หลังฟ้าเปิดให้ได้ลองงานพากย์ไม่ถึงปี ก็ได้ฤกษ์ดีในการเปิดม่านโชว์ฝีไม้ลายมือของตัวเองเป็นครั้งแรก
“งานแรกที่พากย์แรกหนังฝรั่งเรื่องคาวบอยศึกโมฮอว์กช่วงที่เรียนปวช.2 โรงเรียนปิดเทอม ก็มาช่วยที่บ้านทำหนังเร่ จู่ๆ มีคนมาเช่าเครื่องฉายไปฉายในงาน แต่ไม่ได้เอานักพากย์ที่บ้านไป เอาเครื่องไปอย่างเดียว เราก็มีหน้าที่ไปตั้งจอหนังแล้วก็ฉายให้เขา หลังเสร็จพิธีการเราประกาศเรียกคนฉาย แต่คนที่หิ้วหนังบอกว่าเขาไม่ใช่คนพากย์ มีหน้าที่หิ้วหนังอย่างเดียว ตายเลยคนจ้างพูด ทีนี้เพื่อนผมที่ไปช่วยกันขนเครื่องฉายก็ดันไปบอกเขาและชี้มาที่เราไง นักพากย์”
เรียกได้ว่า “งานเข้าแล้วตู” ไกวัลบรรยายความรู้สึกในตอนนั้น ที่เจ้าของงานรบเร้าให้รับหน้าที่ บอกว่า พากย์อะไรก็ได้ขอให้เป็นภาษาไทย
“หนังก็ไม่เคยดู หยิบบทมาดูมาอ่านหน่อยๆ เอาก็เอาวะ ลองดู เพราะหนังคาวบอยสมัยก่อนมันบู๊แหลก ยิงส่วนมาก พูดไม่ค่อยเยอะ เน้นเสียงแอคชั่น ต่อย ปืน และก็เดือดจริงๆ พากย์หน้าหนาวแต่นั่งเหงื่อแตกพลั่กๆ แต่ก็ผ่านไปด้วยดีคนฟังชอบกัน คนจัดให้พระขุนแผนมาอีก1 องค์ แล้วก็เลี้ยงชุดใหญ่
ที่ผ่านมาได้ก็ต้องขอบคุณการโดดเรียนไปดูหนังคาวบอยแถว 4 ย่าน พอมันรวมกับชีวิตเรียนห้าวๆ มันก็เลยรู้จังหวะจะโคนคำพูดไหนควรหนักหรือเบา คำพูดนี้ต้องลากยาวหรือสั้นๆ ห้วนๆ เพื่อให้ดูเด็ดขาด ก็สนุกมากครั้งแรกวันนั้น และครั้งที่สองก็ติดๆ กันมาเลยในงานต่อมา ไอ้เพื่อนเจ้ากรรมผมก็ไปบอกเขาอีกว่าผมพากย์ได้ นักพากย์เขาก็เลยให้พากย์ เรื่องเจ้าสุริยา บังเอิญคนสนิทของพ่อแวะผ่านมาเห็นเรื่องก็เลยถึงหูพ่อ”
ไกวัลเล่าว่า ความรู้สึกที่พ่อรู้เรื่องไม่ต่างไปจากฉากไฮไลท์ในหนังคาวบอย ภาพบานประตูเบิกกว้างพร้อมกับที่พระเอกลั่นไกปืนส่งกระสุนเข้าตัดขั้วหัวใจโจรร้ายล้มลงกองกับพื้นสิ้นใจทันที
“มานี่ซิ พากย์หนังเป็นเหรอ ใจตกไปตาตุ่มเลยตอนนั้น แล้วพ่อก็หัวเราะหึๆ เป็นซะจนได้นะมึง แล้วก็พูดกำชับว่าพากย์หนังได้แต่ต้องเรียนให้จบ ขออย่างเดียวเท่านั้น ก็เรียนระดับปวส.ควบคู่ไปกับพากย์กับค่ายหนังดีวันจันทร์ฟิล์ม ได้พากย์เพิ่มนอกจากหนังฝรั่ง ก็เป็นหนังอินเดียและหนังไทย วันธรรมดาจะพากย์อยู่ในตัวกรุงเทพฯ ตั้งแต่ดาวคะนองไปจนถึงป้อมพระจุล ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้ออกไปพากย์แถวชานเมือง”
คืนวันผ่านไปฝีมือไกวัลขยับพัฒนาตามวิถี จากโรงหนังเร่ขึ้นสู่โรงหนังชั้น 2 สำโรงราม่า,ปากน้ำราม่า,กรุงสยามสะพานใหม่ กระทั่งโรงหนังควีนส์โรงหนังเก่ายอดฮิตวังบูรพา และเป็นนักพากย์แทนรุ่นใหญ่พันกวีแห่งโรงหนังสุริยา จนจบเข้าทำงานโรงงานอุตสาหกรรมตามสายเรียนก็ยังหาเวลาว่างมาพากย์หนังกระทั่งโรงหนังทยอยปิดตัวลง ในช่วงจังหวะที่กำลังหาที่พากย์ที่ใหม่พ่อก็เกิดล้มป่วยเป็นอัมพาต น้องไม่มีคนส่งเรียนก็ต้องล้มเลิกงานพากย์ตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งใจทำงานจนขยับเป็นระดับหัวหน้า 7-8 ปี จนน้องๆ จบการศึกษาวุฒิปริญญาตรี
เปิดโลกการ์ตูนยุค90 "ไกวัลคุง"
ช่วงอายุ 30 ปีหลังจากเสร็จภารกิจหน้าที่ดูแลน้องๆ แทนพ่อ ไกวัลก็ลาออกจากงานประจำกลับมาเดินทางตามฝันสู่ถนนสายหนังอีกครั้ง หากแต่ว่าครั้งนี้เพิ่มเติมความพิเศษด้วยการวิวัฒนาการเป็นนักพากย์เสียง "หนังวิดีโอ"
“เป็นคนแรกๆ ในวงการที่มาพากย์ให้เสียงใส่วิดีโอ มันเป็นยุคที่วิดีโอเพิ่งเริ่มใหม่ๆ คนยังไม่รู้จักวิดีโอ วิดีโอมีขายเป็นซาวด์แทร็คในกรุงเทพ 2 ที่เท่านั้น ซื้อมาก็เป็นเสียงภาษาอื่น เราก็คิดว่าถ้าเอาเสียงไทยเข้าไปใส่จะเป็นอย่างไร จนเจอวิธีทำทำออกมาขายราคาดีมากม้วนต้นฉบับ 1 ม้วน 1,500-1,700 บาท แต่เขาก็เอาไปก๊อปปี้ขายต่ออีกทีหนึ่ง เราก็เจ๊ง”
หลังจากการขาดทุนจนหมดตัวไกวัลจึงกลับเข้าสู่เส้นทางนักพากย์อาชีพอีกครั้งและเป็นที่มาที่ทำให้เขาได้มีวันนี้ได้
"หมดเงินก็ไปหาพรรคพวกที่มะขามสแควร์พากย์หนังเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งเปลี่ยนยุคหนังสี 35 มม. มีเสียงในฟิล์มเข้ามางานก็หดน้อยลงก็ต้องวิ่งหางานกันอีก โชคดีวิดีโอได้รับความนิยมแล้วก็ได้งานจากการชักชวนของเพื่อนไปพากย์เป็นตัวประกอบยังชีพ ทีนี้จังหวะไปพากย์เจ้าของเขาชอบเขาก็จ้างต่อเราก็เลยเหมือนยึดสัมปทานจำนวนหนึ่งกลายๆ ในสายทางวิดีโอ"
ด้วยความฮิตของวิดีโอในยุคนั้นรวมกับหนังการ์ตูนที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นอย่างมาก ไกวัลเลือกมองข้ามทัศนคติที่แบ่งแยกระหว่างภาพยนตร์และการ์ตูน จึงค่อยๆ ก้าวขึ้นสู่ตัวเอกได้วาดลวดลาย ประกบกับ น้าต๋อย เซมเบ้ นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์,ฉันทนา ธาราจันทร์ ผู้พากย์การ์ตูนโดเรม่อน
"หนังมันใหญ่กว่า การ์ตูนมันดูกิ๊กก๊อก แต่เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาจ้างเรามาทำให้หนังดี หนังดีไม่ดีเราต้องพากย์ให้หมด เราต้องพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ และจริงๆ การ์ตูนมันก็ไม่ได้ไร้สาระ มันสอนเราหลายๆ อย่าง วัฒนธรรมของแต่ละที่มันไม่เหมือนกันส่วนมากการ์ตูนญี่ปุ่นดูเอะอะโวยวาย แต่เขาทำเพื่อให้เด็กไม่เบื่อเพื่อที่จะได้สอดแทรกสาระในเนื้อเรื่องได้และพอเด็กเสพเด็กสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตเขาได้ แค่เลียนแบบตามก็ปรับนิสัยโดยไม่รู้ตัว"
ไกวัลเล่าว่า แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ยังดีขึ้นมีมิตรคบหาจริงใจเพิ่ม จากเรื่องราวการ์ตูนที่มาจากเส้นวาดนี้ เพราะทำอะไรทำให้เต็มที่ มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ รู้จักการปล่อยวางใจเย็นและเรียนรู้ความสามัคคี
“แต่ก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยแคร์ใครเท่าไหร่ ไม่พอใจพูดแล้วก็เดินออกมาเลย ไม่ชอบก็พูดตรงๆ เพื่อนสนิทก็มีน้อย แต่หลังจากนั้นเพื่อนสนิทเพียบเลย ทุกวันนี้ออกมานั่งเล่นที่ตลาดร้อยปี เพื่อนมีทั้งรุ่นเดียวกัน รุ่นน้อง รุ่นลูก จนรุ่นหลานและจะรุ่นเหลนแล้ว เราก็ได้เรียนรู้จากตัวการ์ตูนเหล่านี้ พระเอกเรื่องสแลมดังก์ เป็นคนบ้าๆ บอๆ แต่ตั้งใจมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้เวลาทำอะไร แม้จะจีบสาวไม่ติด หรือเบจิต้า เรื่องดราก้อนบอลก็คล้ายๆ กัน จะเพิ่มขึ้นก็เรื่องการมองถึงประโยชน์ส่วนรวม ต่อให้เกลียดพระเอกโงกุนเท่าไหร่ เมื่อมีภัยก็ให้ความร่วมมือช่วยเหลือโลกให้พ้นภัยเสมอ”
ส่งต่อความดี กายใจไม่มีหมดแรง
ตลอดระยะเวลาที่ไกวัลทำหน้าที่ส่งความสนุกสนานผ่านเส้นเสียงจากรุ่นไปสู่อีกรุ่น อาทิ สแลมดังก์ รับบทเป็น ซากุรางิ ฮานามิจิ, คนเก่งทะลุโลก รับบทเป็น ฮิเอ,ยอดนักสืบจิ๋วโคนันรับบทเป็น สารวัตรเมงูเระ, ฮัตโตริ เฮย์จิ, จอมโจรคิด,วันพีซ รับบทเป็น โรโรโนอา โซโล ฯลฯ กระทั่ง ดราก้อนบอล Z การ์ตูนยอดฮิตตลอดกาล ได้รับบทเป็น ผู้เฒ่าเต่า, เซล, และโดยเฉพาะ เบจิต้า ตัวละครราชาไซย่าที่ล่าสุดภาค ‘ดราก้อนบอล ซูเปอร์ โบรลี่’ เป็นที่โด่งดังทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักอย่างแท้จริง แทบทุกตัวละครเหมือนกับตัวการ์ตูนเหล่านั้นพูดออกมาเองจนกลายเป็นภาพจำติดเลียนเสียงและบุคลิกการพูดเมื่อนึกถึง
"ผมจะเน้นอิงต้นฉบับเป็นหลักคือสไตล์การพากย์ของผม เพราะมันทำให้ตัวละครเวลาที่เราพากย์เหมือนปากเขาพูดเอง เนื่องจากต้นฉบับเขาจะรังสรรค์น้ำเสียงอารมณ์เข้ากับเนื้อหาในเรื่องเพื่อการจะให้ตัวละครออกมาโดนใจมีเสน่ห์ให้ตกหลุมรัก ทำให้ร้ายจนขนลุก ดูแล้วอบอุ่นใจจนคล้อยตาม เราฟังและนำมาปรับให้เข้ากับบทก็ทำให้คนดูรู้สึกได้ง่าย"
ไกวัลแนะว่า เด็กรุ่นใหม่ยุคนี้หากอยากเป็นนักพากย์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีช่องทางออนไลน์ให้เลือกฟังและฝึกหัดเป็นพื้นฐานได้ ส่วนเอกลักษณ์เกิดขึ้นจากค้นหาตัวตนของตัวเองให้พบตีโจทย์ตัวเองให้แตก
"ตัวเราถ้าไปเป็นแบบเขาก็ของปลอม แต่เราจะเป็นของจริงก็ต่อเมื่อตัวเราเป็นตัวเรา ประสบการณ์ชีวิต การมองคนกับการมองตัวละครก็เหมือนกัน การพบเจอผู้คนแต่ละคนก็แตกต่างมันจะสอนให้เราเรียนรู้จิตใจซึ่งจะส่งออกมาเป็นลักษณะนิสัยการกระทำและคำพูด เราจับได้สื่อสารออกมามันก็มีมิติเป็นธรรมชาติในแบบของเราเท่านั้น"
ในวัย 67 ปี ไกวัล ยังคงสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มรวมไปถึงพลังบวกดีๆ สอดแทรกผ่านตัวละครให้กับบริษัทการ์ตูนในประเทศไทยหลายบริษัท เช่น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. (โมเดิร์นไนน์ทีวี), ไทก้า, เด็กซ์, อามีโก้,โรสแอนิเมชั่น และโทกูซัตสึ (การ์ตูนที่ใช้คนแสดงจริง) อย่างมีความสุข ไม่มีคำว่าเหนื่อย เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยเสียงพากย์ที่ส่งผ่านไปพร้อมกับเรื่องราวขงตัวการ์ตูนเหล่านี้ได้สร้างเสริมกำลังใจ กระตุ้นพลังให้กับผู้คนที่ได้รับชม
"เรารู้แทบทุกรสชาติแล้วเนื่องจากเป็นมาหมดทุกอย่างในโลกนี้แล้ว คนเลว คนดี พระเอก ผู้ร้าย โจร ตำรวจ ประธานาธิบดี ล่าสุดราชาชาวไซย่า เรารู้สึกถึงความรู้สึกทั้งหมด และจะดีอย่างไรหากเราสามารถทำให้คนเหล่านั้นดีขึ้นได้ ยิ้มได้ หัวเราะได้ หรือทำอะไรได้ มันเป็นประโยชน์มหาศาล แม้ตอนนี้คนจะเพิ่งรู้จักแต่มันก็คุ้ม ก็ขอขอบคุณครับที่ทุกคนรู้สึกดีกับการ์ตูนที่ผมให้เสียงพากย์ ผมก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย มันเป็นความสุขที่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่เรารักด้วยและมีประโยชน์ด้วย"