posttoday

ถอดรหัสความเหงา! เมื่อสังคมไทยกำลังเต็มไปด้วยคนรู้สึกโดดเดี่ยว

16 พฤษภาคม 2562

สังคมไทยกำลังเต็มไปด้วยคนเหงา! ผลสำรวจปี62 พบว่ามีคนเหงาพุ่งสูงถึง 26.57 ล้านคน มารู้จักปัจจัยแห่งความเหงาจากนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยทิ้งไว้

สังคมไทยกำลังเต็มไปด้วยคนเหงา! ผลสำรวจปี62 พบว่ามีคนเหงาพุ่งสูงถึง 26.57 ล้านคน มารู้จักปัจจัยแห่งความเหงาจากนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยทิ้งไว้

*********************

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล

จากผลสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 ของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าประเทศไทยมีสถิติคนเหงาพุ่งสูงถึง 26.57 ล้าน จนกลายเป็นวิฤกตการณ์ที่ถูกพูดถึงและหลายๆ คนหันมองตรวจเช็คตัวเองเป็นการด่วน

เพราะซึ่งอย่างที่รู้ทั่วกันดีไม่มีใครอยากเหงา ทว่าเหตุใดความเหงาจึงครอบงำและทิ้งตัวอยู่ในจิตใจจนพัฒนาไปสู่โรคร้ายแรงทั้งด้านจิตเวชและร่างกายกระทั่งก่อความตายและเสียชีวิต

คัญฑนิกม์ นิโรธร หัวหน้านักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บอกถึงเหตุผลที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต้นเหตุ ‘ความเหงา’ ฟังก์ชันของการนำไปสู่โรคร้ายต่างๆ โดยมีระบบกลไกลที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่จิตใจส่งผลต่อร่างกาย ก่อนที่สุดท้ายจะเปิดบานประตูแห่งความตายเยือนชีวิตผู้คนในทุกวัน

ถอดรหัสความเหงา! เมื่อสังคมไทยกำลังเต็มไปด้วยคนรู้สึกโดดเดี่ยว

รู้จัก "ความเหงา" 3 ระดับ

นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ อธิบาย ‘สภาวะความเหงา’ คืออารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถเกิดอาการเหงาขึ้นได้กับทุกคนเมื่อมีปัจจัยของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่จะเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ ในระยะวันหรือสัปดาห์เท่านั้น และเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว จะหายไป

“เหงาตามฤดูกาล ช่วงอากาศหนาว ฝนตก เหงายามโพล้เพล้เพราะอยู่คนเดียว แฟนไม่อยู่ไปทำงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศอาทิตย์หนึ่งหรืออยู่คนเดียวที่หอพัก แต่หากเมื่อพ้นปัจจัยตรงนี้แต่ชีวิตยังรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ปลีกเก็บตัวเป็นเดือนๆ ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่อาจจะมีในเรื่องของอารมณ์ซึมเศร้าเข้าร่วมด้วย”

โดยขั้นของการแบ่งระดับความรุนแรงมีด้วยกัน 3 ระดับ ได้แก่

1.ระดับเล็กน้อย มีความเหงาและรู้สึกโดดเดี่ยวไม่เกิน 1 สัปดาห์

2.ระดับปานกลาง มีความเหงาและรู้สึกโดดเดี่ยว คิดว่าไร้ตัวตัว 4-6 เดือน

3.ระดับรุนแรง มีความเหงาและรู้สึกโดดเดี่ยว คิดว่าไร้ตัวตัว ซึมเศร้าและมองโลกในแง่ลบ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะความเหงาจนพัฒนาเป็นโรคทางจิตเวช (Schizophrenia) คือการมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน มีความหลงผิด สัมปชัญญะไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง คิดว่าตัวเองถูกทำร่ายร่างกาย ได้ยินเสียงคนสั่งให้กระโดดตึก อาการจะหลงเหลือในบางรายไม่สามารถรักษาได้และอาจมีอาการป่วยถาวรติดตัวไปตลอดชีวิต

หรือโรคจิตประสาท (Neurosis) เช่น โรคความเครียด โรควิตกกังวล โรคทางด้านอารมณ์ก็คือโรคซึมเศร้า แม้จะยังมีสัมปชัญญะ สามารถคุมชีวิตประจำวันได้ ไม่ปล่อยเนื้อตัวให้สกปรก สะสมของต่างๆ แบบผู้ป่วยขั้นโรคทางจิตเวชที่รุนแรงกว่า แต่อาจจะรู้สึกสูญเสียบางอย่างของฟังก์ชันทำให้ทรมานกับชีวิต ทำให้มีเครียด ความวิตกกังวล ซึมเศร้าอยู่เสมอ กระทั่งส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันในระดับพอสมควร และพัฒนามาเข้าสู่ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชหากไม่ได้รับการพูดคุยหรือรักษาโดยจิตแพทย์

“เพราะความเหงามันเป็นแค่ซับเซตของ ‘ภาวะซึมเศร้า’ เป็นอาการย่อยหนึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไข อารมณ์ทางด้านลบจะก่อให้สารสื่อประสาททำงานบิดเบี้ยวไป ส่งผลให้ร่างกายหลั่งแต่สารที่ตรงข้ามกับสารแห่งความสุขก็จะมีแต่ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เรียกว่าสารแห่งความเครียด กายกับจิตใจซึ่งเชื่อมโยงกันตามกลไกธรรมชาติทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง มักมีอาการปวดหัวเรื้อรัง ไขข้อตามร่างกายต่างๆ อักเสบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์”

นอกจากนี้นักจิตเวชยังบอกอีกว่า ‘ความเหงา’ นั้น ส่งผลต่อระบบความคิด ความจำลดลง สมาธิแย่ลงไป ทำการทำงานบกพร่อง ทำปฏิสัมพันธ์กับผู้คนลดลง ซึ่งการที่สมองไม่ได้มีการพบปะคนอื่น ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้หรือมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกทำให้ร่างกายหยุดชะงัดการและชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ ในทุกๆ ด้าน ก่อนลงเอยที่ทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตาย

ถอดรหัสความเหงา! เมื่อสังคมไทยกำลังเต็มไปด้วยคนรู้สึกโดดเดี่ยว

"ครอบครัว" ปัจจัยสำคัญทำให้ความเหงารุนแรง

คัญฑนิกม์ ระบุเพิ่มเติมถึงสาเหตุของกลุ่มเสี่ยงที่อาการเหงาจะพัฒนารุนแรงนั้น คือกลุ่มพื้นฐานครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์พร้อม หรือพูดง่ายๆ ว่าเบ้าหลอมไม่ดี ผู้ปกครองขาดความเอาใจใส่และเวลาที่มีให้ ถึงแม้ไม่ใช่คุณพ่อหรือคุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวก็ตาม

“การเลี้ยงดูสำคัญ ทางจิตเวชให้ความสำคัญกัยประสบการณ์ดั่งเดิมจากการเลี้ยงดู ตรงนี้ไม่ใช่ต้องมีพ่อแม่ลูกครบ แต่คือเรื่องคุณภาพในการดูแลเอาใจใส่ การใกล้ชิด การอบรมเลี้ยงดูไล่ตั้งแต่พัฒนาวัยเด็กขึ้นมา การไว้วางใจพื้นฐาน การตอบสนองทางด้านอารมณ์ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในเชิงที่สร้างสรรค์ ตัวผู้ปกครองตอบโจทย์ตรงนี้ได้จะทำให้เด็กมีจิตใจที่มั่นคง ก็จะพัฒนาวัยรุ่นเข้าสู่วัยที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการปรับเปลี่ยนทางด้านฮอร์โมน เรียกร้องความสนใจ การต่อต้านของเด็กก็จะถูกเข้าใจจากตัวผู้ปกครองเป็นหลัก”

และจากจุดเริ่มต้นปัญหานี้ไม่ต่างไปจากผลสำรวจกลุ่มผู้มีภาวะความเหงาสูงสุดจากหัวหน้าสาขาการตลาดวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดเผยข้อมูลงานวิจัย การตลาดคนเหงาในประเทศไทย จำนวน 1,126 คน ได้แก่ วัยทำงาน 49.3% วัยรุ่นวัยเรียน 41.8% วัยผู้ใหญ่ 33.6% และผู้สูงอายุ 24.5% สะท้อนปรากฏการณ์ยิ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต-ยิ่งเหงามากขึ้น

“ขาดอะไร เหงาอะไรในชีวิตก็จะแสวงหาตรงนั้น ถ้าครอบครัวให้ไม่ได้ก็ต้องไปแสวงจากเพื่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ดีซะเยอะ ด้วยวัยของเด็กที่เป็นช่วงวัยวิกฤต การปรับเปลี่ยนฮอร์โมนต่างๆ และวุฒิภาวะยังไม่เติบโตเต็มที่ ก็ต้องใช้วัยที่ผ่านอะไรมาพอสมควรถึงจะเลือกได้ แต่การทีเติบโตแบบไม่มีวัคซีนตรงนี้ เมื่อวัยรุ่นพัฒนาเป็นวัยผู้ใหญ่ ทำงานก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ประสบความสำเร็จ รู้สึกโดดเดี่ยว สิ้นหวัง และยิ่งหน้าที่การงานดีและแถมอยู่ท่ามกลางผู้คนยิ่งมีอีโก้สูง ปฏิเสธว่าตัวเองอยู่ในภาวะเหงา เพราะโจทย์จริงๆ ของจิตใจไม่ได้รับการตอบรับ ไม่มีคนที่เข้าใจความรู้สึก ไม่มีคนที่เราสามารถแชร์ความรู้สึกได้ ก็ไม่มีเชิงคุณภาพ ความเหงามันก็จะตกตะกอนในความรู้สึกของเราได้เหมือนกัน”

และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประชากรวัยทำงานของประเทศญี่ปุ่นที่เร่งรีบ เคร่งเครียด ทำให้สังคมกลายเป็นสังคมแห่งการแข่งขัน ผลักชีวิตกลายเป็นสังคมที่โดดเดียวและมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

“โรคที่คล้ายๆ กับโรคซึมเศร้าบ้านเราแต่มีอัตราความรุนแรงและการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าก็คือ ฮิริโคงามิ อยู่ในเดียวในห้อง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร การเรียนทำได้ ทำงานทำได้ แต่ก็รู้สึกว่าเหงาและโดดเดี่ยวแม้อยู่แวดล้อมคนหมู่มากและมีอัตราฆ่าตัวตายสูง หรือหากเป็นไปตามกลไกลทางจิตด้านลบ อาจจะไปใช้สารเสพติดหรือทำผิดกฎหมายซึ่งมันสัมพันธ์กัน ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต”

ถอดรหัสความเหงา! เมื่อสังคมไทยกำลังเต็มไปด้วยคนรู้สึกโดดเดี่ยว

"โซเชียล" ไม่ใช่เครื่องแก้เหงา ยิ่งเล่น ยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว

ความบันเทิงที่ง่ายและราคาถูกอย่างโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในการแก้ความเหงา ทว่าหลายคนไม่รู้ว่ายิ่งเล่นยิ่งทำให้ความเหงาเลวร้ายลง

“โซเชียลมีเดียเป็นความสัมพันธ์ผิวเผิน ไม่ได้แสดงตัวตนที่ชัดเจน ไม่ได้มีการพูดคุยแบบเห็นหน้าเห็นตา และสื่อส่วนใหญ่มันก็เป็นแบบคล้ายๆ กับทีวีสมัยก่อนที่มีการโฆษณา เชิญชวนเพื่อกระตุ้นความอยากของมนุษย์ ฉันต้องเป็นอย่างนี้ ต้องแสดงตัวตน ต้องมีจุดยืนในชีวิต มันยิ่งทำให้คนๆ นั้นที่อ่อนแออยู่แล้วยิ่งไม่กล้าเผชิญหน้ากับคนอื่นๆ จะอยู่แค่ตรงหน้าจอและหลังสมาร์ทโฟน ซึ่งวัตถุมันไม่ใช่ปฏิสัมพันธ์ที่เป็นชีวิตจริงๆ เพราะเหตุความเหงา คือการอยู่คนเดียว การรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ตัวตน อยู่คนเดียวก็ยิ่งส่งผล”

ลด-ละ-ใช้เฉพาะเพื่อความจำเป็น คือหนทางเยียวยาช่วยเหลือ โดยผู้ที่ป่วยในระดับต้นและปานกลาง สามารถหายจากอาการเหงาได้ด้วยการ พบปะคน เลี้ยงสัตว์ อยู่ในสิ่งแวดล้อมกับธรรมชาติ เช่น เข้ากลุ่มจิตอาสา การไปอยู่ในชุมรมกิจกรรมต่างๆ ที่สนใจ การทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือกระทั่งการเข้าสู่ศาสนาบำบัด การปฏิบัติธรรม เข้าวัดทำบุญในช่วงวันสำคัญ ซึ่งประชากรกว่า 26.57 ล้าน ประเทศไทยจาผลสำรวจดังกล่าวที่ประสบความเหงาก็ลดจำนวนลงได้

“การใช้อินเทอร์เน็ตหรือใช้วัตถุอุปกรณ์มาเยียวยา ถ้าใช้อย่างถูกต้องมันก็เป็นสื่อทางดีได้ แต่ในส่วนมากนี้ยังยากที่จะควบคุมให้ดี ฉะนั้นส่วนใหญ่มันไม่ค่อยที่จะสร้างสรรค์เท่าไหร่ ส่องดูคนอื่นแล้วมาเปรียบเทียบกับตัวเอง เห็นคนอื่นไปที่นั้นนี้แล้วพาลให้ตัวเองรู้สึกไม่ได้ไปไหนและเกิดข้อเปรียบเทียบ มันก็จะรู้สึกแย่กับตัวเองเข้าไปอีก ยิ่งดันตัวเองออกจากสังคมไป แบบนี้ไม่ควรที่จะเสพ อยากให้ลดการใช้โซเชียลมีเดียลงก็จะช่วยได้ เพราะการใช้สมาร์ทโฟนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกสำหรับประเทศไทย ณ นาที มีแนวโน้มที่อาจจะพัฒนาสู่ภาวะวิกฤตได้”

ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิสัมพันธ์ผู้คน การหางานอดิเรก การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ที่ชื่นชอบแก้เหงาที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจได้เฉพาะกับการป้องกันและผู้ป่วยภาวะเหงาในระดับ 1-2 เท่านั้น หากป่วยในระดับที่ 3 ที่เรียกว่า ‘ระดับรุนแรง’ ซึ่งมีแนวโน้มการเกิดโรคจากภาวะสารเคมีในสมองเสียสมดุล ควรพบและรับการรักษาจากจิตแพทย์เพื่อประเมินด้วยเครื่องมือทางจิตเวชและแบบทดสอบในการแยกแยะระดับและแยกแยะโรคที่พัฒนามาจากความเหงาเป็นโรคประเภทใด ซึ่งจะมีวิธีการรักษาทั้งการให้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด

ภาพ เอเอฟพี