ห้างดัง-ร้านสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติกดีเดย์1ม.ค.63
ห้างสรรพสินค้า - ร้านสะดวกซื้อ 43 แห่งชื่อดังงดแจกและจำหน่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยกเว้นถุงร้อนใส่อาหารให้คนไทยพกถุงผ้าซื้อของแทนดีเดย์ 1 ม.ค.2563
ห้างสรรพสินค้า - ร้านสะดวกซื้อ 43 แห่งชื่อดังงดแจกและจำหน่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยกเว้นถุงร้อนใส่อาหารให้คนไทยพกถุงผ้าซื้อของแทนดีเดย์ 1 ม.ค.2563
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม (สส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือร่วมกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ รวม 43 ภาคี อาทิ อาทิ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัดบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด บริษัท บางจาก รีเทล จำกัด กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการขับเคลื่อนการงดแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
จากนั้น นายวราวุธ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมมีมติว่าในวันที่ 1 ม.ค.2563 จะมีการนำร่องงดแจกถุงพลาสติกในบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 43 ภาคี ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ อาทิ ห้างเซ็นทรัลฯ เดอะมอลล์ บิ๊กซี เซเว่น อีเลฟเว่น โลตัส เป็นต้น เพื่อขอความร่วมมือในการลดปริมาณขยะพลาสติก ที่กำลังคุกคามชีวิตของสัตว์ทะเล สัตว์บกและคนจนกลายเป็นวิกฤตของประเทศไทย ที่สำคัญขยะทะเล ซึ่งขณะนี้ไทยมีปริมาณมากจนอยู่อันดับ 6 ของโลก
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ 43 แห่ง งดให้บริการถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2561 ถึงวันที่ 31 ส.ค.2562 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้มากกว่า 2,000 ล้านใบหรือประมาณ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ที่สำคัญสามารถรวบรวมถุงผ่าบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ไปแล้วกว่า 8,000 ใบ
ดังนั้น เชื่อว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 จะเป็นวันสำคัญในการลดปริมาณถุงพลาสติก ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดปริมาณพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 780,000 ตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะได้ 3,900 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตามแม้ 43 ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง จะงดแจกและจำหน่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ยังยกเว้นพวกถุงร้อนที่ต้องใส่อาหาร จากนั้นกระทรวงทรัพยากรฯ จะทำเป็นกฎหมายภายใต้ร่างพ.ร.บ. 3R และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยในกฎหมายดังกล่าวจะมีการระบุพลาสติก 7 ชนิด คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่,พลาสติกผสมไมโครบีด, พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในปี 2564 โดยจะใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน รวมทั้ง จะนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์
“ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องปรับตัวพกถุงผ้าติดตัวกัน และหันมารักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นกฎระเบียบที่ชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะลดระดับของการจัดอันดับขยะทะเล ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่อันดับ 6 ของโลก“ นายวราวุธ กล่าว
จากนั้นนายวราวุธ ได้นำพาเดินรณรงค์ “Everyday Say No to Plastic Bags” ร่วมกับศิลปินดารา ที่ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง โดยมุ่งหวังให้ข้าราชการในหน่วยงานโดยรอบตลาด เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้
ด้านนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ จะรณรงค์ในหน่วยงานราชการในบริเวณใกล้เคียง ทั้งหน่วยงานภายใต้สังกัด ทส. กระทรวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร และ หน่วยงานภาคเอกชนอีกจำนวนมาก มีร้านค้าเฉลี่ย 150 ร้าน/วัน และมีผู้ใช้บริการตลาดโดยเฉลี่ย 3,000 คน/วัน โดยก่อนทำกิจกรรมรณรงค์ พบว่า ตลาดนัดแห่งนี้ มีปริมาณการใช้ถุงพลาสติก เฉลี่ย 46,602 ใบ/วัน หรือ มีการใช้ถุงคนละ 15 ใบต่อวัน แต่หลังจากจัดกิจกรรมรณรงค์ เมื่อ ก.ค. 2561 เป็นต้นมา พบว่า มีการใช้ถุงพลาสติกลดลงเหลือ 34,329 ใบ/วัน หรือ มีการใช้ถุงคนละ 11 ใบ ต่อวัน