ตร.ฆ่าตัวตายรายวัน ปัญหาใหญ่ที่สตช.ต้องเร่งสะสาง
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยจะพบทันทีว่าอาชีพตำรวจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปมากถึง 2.32 เท่า
โดย...วัสยศ งามขำ
ปัญหาตำรวจไทยฆ่าตัวตายยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบจะรายวัน ล่าสุดเหตุสลดเกิดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ด.ต.เกรียงไกร พิณเสน ผู้บังคับหมู่ ผบ.หมู่ ป.ทำหน้าที่งานเทคโนโลยี ประจำอยู่ที่ สภ.สะเดา ใช้ปืนขนาด 11 มม.ยิงศีรษะตัวเองเสียชีวิตในห้องนอน อีกราย ด.ต.ภิรมย์ จันทชูโต ผบ.หมู่ ฝ่ายอำนวยการ ตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ก็ใช้ปืนยิงตัวตาย ภายในบ้านพักเช่นกัน ทั้ง 2 คน เบื้องต้นยังไม่สรุปชนวนเหตุเช่นเดียวกัน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กำลังพลของตำรวจมีปัญหากระทำอัตวินิบาตกรรมจำนวนมาก ถึงขั้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเปิดโทรศัพท์สายด่วน ให้ตำรวจที่ปัญหาชีวิตโทรปรึกษา หรือระบายความทุกข์ ก่อนจะคิดสั้น ส่วนกำลังพลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีปัญหาความเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบเพิ่มขึ้นมา
โดยในช่วงหลายปีก่อน มีกำลังพลยิงกันเอง และยิงตัวเองเสียชีวิตบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงปี 2550-2555 ซึ่งสถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างตึงเครียด แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่กระทำอัตวินิบาตกรรมมักเป็นทหาร หรือทหารพราน บางปีมีกรณียิงกันเองและฆ่าตัวตายมากกว่า 10 กรณี แต่ระยะหลังปัญหาเบาบางลงไป แต่ก็ยังมีอยู่บ้างประปราย
เหตุตำรวจชายแดนใต้ยิงตัวตายเมื่อปลายปีที่แล้ว เกิดขึ้น 2 เหตุการณ์ คือ เมื่อวันพุธที่ 25 ก.ย.2562 ส.ต.ท.ชาตรี ฮะปาน อายุ 32 ปี เจ้าหน้าที่การเงิน สภ.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ยิงตัวเองเสียชีวิตบนโรงพัก วันศุกร์ที่ 4 ต.ค.2562 ส.ต.อ.วุฒิกร จิตปุณปภัสร์ อายุ 31 ปี ใช้อาวุธปืน M4 ยิงตัวเองจนเสียชีวิตในแฟลตตำรวจ สภ.เมืองยะลา ชั้น 2 อำเภอเมืองยะลา โดย ส.ต.อ.วุฒิกร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
หากพิจารณาจากสถิติจะพบสิ่งที่น่าวิตกกังวลในวงการตำรวจไทย เนื่องจากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยจะพบทันทีว่าอาชีพตำรวจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปมากถึง 2.32 เท่า นั่นทำให้เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงขนาดต้องตวัดปากกาเซ็นคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาดูแลใส่ใจลูกน้องเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งช่วยหาวิธีการลดหนีสิ้นเพื่อป้องกันบรรดาสีกากีปลิดชีพตัวเอง สอดคล้องกับนักจิตวิทยาที่ชี้ว่าตำรวจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง เพราะอยู่กับงานที่มีความเครียดสูงและทำงานเคียงข้างอยู่กับทูตมรณะอย่างอาวุธปืน
พ.ต.อ.วินัย ธงชัย นักจิตวิทยา กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ในฐานะอุปนายกสมาคมนักจิตวิทยาคลินิคไทย ยืนยันว่า สถานการณ์ตำรวจฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและต้องรีบแก้ไข เนื่องจากว่า ผลการสำรวจข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 จากทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก คิดเฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน
ในส่วนของตำรวจจากข้อมูลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ถึง 2562 มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายจำนวน 396 นายโดยเฉลี่ย 18.2 นายต่อ 1 แสนนายต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยจะพบว่า ตำรวจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปมากถึง 2.32 เท่า ทั้งหมดเป็นเพศชายส่วนใหญ่มียศจ่าสิบตำรวจ ถึง นายดาบตำรวจ และปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญกรรม
ทั้งนี้ จากเอกสารรายงานการประชุมในการแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งประชุมครั้งใหญ่ไปเมื่อเดือนต.ค.2562 พบว่าหน่วยงานที่มีตำรวจฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ ตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของเมืองไทย โดยพฤติกรรมการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ทำโดยยิงตัวตาย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัว รองลงมาเป็นปัญหาสุขภาพ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี
จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า สาเหตุสำคัญคือ สาเหตุด้านจิตใจ ส่วนใหญ่มีภาวะซึมเศร้า เคยคิดหรือเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน มีบุคลิกเก็บตัว วิตกกังวลง่าย หุนหันพลันแล่น มีความรับผิดชอบสูงและไม่ยืดหยุ่น มักดื่มเครื่อดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เมื่อมีเหตุการณ์กระตุ้น เช่น ปัญหาจากการทำงาน ปัญหาสัมพันธภาพหรือความเจ็บป่วยเรื้อรังต่างๆ เป็นต้นจะทำให้มีการตัดสินใจฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
พ.ต.อ.วินัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวิบาตกรรม ที่ตั้งโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เล่าให้ฟังว่า คณะทำงานกำลังเร่งทำงานเรื่องนี้อยู่ เพื่อจะได้หาวิธีการจัดการกับปัญหาที่แท้จริงว่า อะไรคือสาเหตุที่ตำรวจฆ่าตัวตาย ที่ผ่านมามีงานวิจัยอยู่ 2 ชิ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำขึ้น
ชิ้นแรกเป็นงานของกองวิจัย โดยการเอาสำนวนคดีที่ตำรวจฆ่าตัวตายทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2555 มีประมาณ 170 กว่าเคส เอาสำนวนทั้งหมดมาสกัดดูว่าอะไรคือสาเหตุ ซึ่งพบว่า ปัญหาครอบครัวเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาก็เป็นเรื่องของปัญหาส่วนตัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ และปัญหาหน้าที่การงานตามลำดับ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว สตช. ก็ให้โรงพยาบาลตำรวจไปศึกษาในเชิงลึก โดยใช้หน่วยงานของตนเองนั้นเป็นผู้ศึกษา มีการสัมภาษณ์ ญาติ พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่ฆ่าตัวตายรวม 10 เคสด้วยกัน ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของเขา
ผลออกมาพบว่ามี 2 ปัจจัยใหญ่ๆ ปัจจัยที่ 1 คือ ปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนใหญ่มีลักษณะภาวะซึมเศร้า เนื่องจากในทุกรายที่จะฆ่าตัวตายพบว่า สองสัปดาห์ก่อนฆ่าตัวตาย ทุกเคสจะมีภาวะซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพียงแต่มีภาวะซึมเศร้า อีกส่วนหนึ่งคือลักษณะบุคลิกภาพส่วนตัวเขาเอง เพราะส่วนใหญ่ตำรวจจะเป็นพวกที่ค่อนข้างจะเพอร์เฟกชั่นนิสต์ค่อนข้างจริงจังกับการทำงาน จึงเกิดภาวะเครียด ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือพวกค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยพูดแต่ทำงานมากจึงเกิดภาวะขัดแย้งแล้วไม่ได้ไปจัดการ พูดคุย หรือแก้ปัญหา ทำให้มีแนวโน้มและมีโอกาสจะฆ่าตัวตายได้ เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่เป็นโรคเรื้อรังด้วย
อีกปัจจัยหนึ่ง คือปัจจัยสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ปัญหาคือเรื่องเงิน และปัญหาครอบครัว อย่างไรก็ตามงานวิจัยโดยส่วนใหญ่ จะบอกว่าการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดจากปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันมาจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน เพียงแค่ว่า ปัจจัยไหนในช่วงนั้นที่โดดเด่นขึ้นมา เพราะชีวิตตำรวจมีหน้าที่การงานที่ต้องทำค่อนข้างตลอด 24 ชั่วโมง แล้วก็มีสายบังคับบัญชางานที่ค่อนข้างจะเข้มงวดไม่ค่อยยืดหยุ่น
ทำให้การทำงานนอกจากจะเจอเรื่องของประชาชนเจอปัญหาเรื่องของสายบังคับบัญชาแล้ว ส่วนตัวเองก็มีปัญหาเรื่องของครอบครัว เพราะอาชีพตำรวจเอง ก็ไม่ค่อยจะมีเวลาให้กับครอบครัวมากนัก เพราะฉะนั้นครอบครัวจะแตกแยกเยอะ เมื่อครอบครัวแตกแยก ตำรวจส่วนมากก็จะอยู่คนเดียว เมื่อเกิดเครียดจึงไม่มี Social Support ถ้าครอบครัวยังอยู่ อย่างน้อยยังมีคนช่วยพูดคุยด้วย เมื่อตัวเองไม่มี ก็อาจจะไปดื่มสุราโดยมีอาวุธปืนอยู่ใกล้มือ
“ปัจจัยเหล่านี้แล้วบวกกับมีโรคประจำตัวด้วยแถมไม่มีอะไรมาช่วยพยุงเขาเลย สังคม หรือครอบครัว หรือญาติพี่น้องไม่มี มันก็อยู่คนเดียว กินสุรา โอกาสจะฆ่าตัวตายมันก็สูงมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าปัจจัยมันรวมกันหลายๆ อย่าง เพียงแต่ว่าตอนนั้นมันโดนอะไรที่มันชี้ชัด แต่ส่วนหนึ่งก็มักจะบอกว่ามันจะมาจากเรื่องเครียด แต่จริงๆ เรื่องเครียด มันเป็นตัวปลายเหตุมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ คือถ้ามีเพื่อนร่วมงาน หรือคนที่ทำงานใกล้ชิด สามารถสังเกตเรื่องวอนนิ่งไซน์ สัญญาณการฆ่าตัวตาย รวมทั้งภาวะซึมเศร้าใน 2 อาทิตย์ แล้วถ้าเข้าช่วยเหลือเขาตอนนี้มันจะช่วยได้” พ.ต.อ.วินัย กล่าว
พ.ต.อ.วินัย กล่าวว่า ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และครอบครัว สำคัญมากมีส่วนช่วยได้มาก เพราะภาวะทางจิตใจคนที่คิดจะฆ่าตัวตายมันจะโดดเดี่ยว ภาวะซึมเศร้า ภาวะไร้หวัง หรือโฮปเลท มีภาวะรู้สึกว่าหาทางออกในชีวิตไม่ได้ 4 ตัวนี้ เป็นภาวะทางจิตใจที่สำคัญ แล้วถ้าบวกกับความอิมเพาซีฟ หรือหุนหันพลันแล่น เพราะมีเรื่องสุราเข้ามา รวมทั้งอาวุธอยู่ใกล้มือ ใส่ 6 ตัวนี้เข้ามาเมื่อไหร่ คือ “การง่ายที่สุดที่จะฆ่าตัวตาย”
โดยการฆ่าตัวตายจะมี 2 ลักษณะใหญ่ๆ ก็คือ เป็นแบบอารมณ์ชั่ววูบทันทีทันใด กับอีกอย่างคือวางแผนไว้แล้วว่าจะฆ่าตัวตาย แต่สังเกตดูตำรวจส่วนใหญ่จะเป็นภาวะอารมณ์ชั่ววูบโดยไม่ค่อยมีการวางแผน อย่างไรก็ตามจากงานวิจับจะพบด้วยว่า ตำรวจที่ฆ่าตัวตายจะมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 50 แต่พอ 50 กว่าๆ แล้ว ที่ฆ่าตัวตายส่วนมากจะมีโรคประจำตัวเข้ามาเป็นตัวแปรตัวหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังตำรวจสายงานสอบสวนมีการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นรองจากสายงานปราบปราม ที่สายสอบสวนเป็นข่าวดังในปีนี้เนื่องจากปัจจัยเรื่องขององค์กรและโครงสร้าง เพราะว่าพนักงานสอบสวนเอง ปัญหาในงานมากอยู่แล้ว เพราะสำนวนคดีมีจำนวนมากที่ต้องรับผิดชอบ และคนที่จะมาทำงานด้านสอบสวนมีน้อยลง เพราะไม่ค่อยได้รับการพิจารณาในการเติบโตในงานของเขา ขณะที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เลยยิ่งบีบเขามากขึ้น อยู่กับว่าเขาจะจัดการกับตรงนี้อย่างไร
พ.ต.อ.วินัย กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาหรือลดอัตราการฆ่าตัวตาย ทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งขณะนี้ สตช. พยายามทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มันเหมือนงานที่ทุกคนต้องทำและผู้บังคับบัญชาทุกคนต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานต้องดูเมื่อมีสัญญาณเตือน ถ้าสังเกตเห็นก็จะช่วยได้โดยตรงเลย ดังนั้นผู้บังคับบัญชาทุกคนต้องมีความสามารถในการสังเกตุ หรือมีองค์ความรู้เรื่องนี้
การแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย มันไม่เหมือนการป้องกันไฟไหม้ ที่ทำเป็นครั้งคราว แต่ต้องให้เขาตื่นตัวตลอดเวลา ดังนั้นการอบรม การฝึก การให้ความรู้ ต้องทำให้คนได้ตระหนัก ในการรับรู้สัญญาณการฆ่าตัวตาย มีความสามารถในการรู้เรื่องภาวะซึมเศร้า ต้องมีเทคนิคในการพูดคุย หรือซักถาม
นักจิตวิทยาโรงพยาบาลตำรวจคนเดิม กล่าวต่อว่า สตช.กำลังพิจาณาให้งบประมาณโรงพยาบาลตำรวจเพื่อการอบรมตำรวจทั้งปีทั่วประเทศ อย่างน้อยทุกโรงพักจะต้องมีคณะกรรมการเรื่องนี้ ในการที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตตำรวจ และคณะกรรมการเหล่านี้ จะต้องมีความสามารถในการที่มีองค์ความรู้ ลำดับต่อมาคณะกรรมการต้องมีเครื่องมือในการไปประเมินได้ สุดท้ายต้องมีความสามารถในการที่จะพูดคุยแก้ปัญหาได้
จากนั้นเมื่อเราได้เครือข่ายมา เมื่อถึงเวลาตรวจสุขภาพประจำปีคณะกรรมการก็จะได้ส่งข้อมูลให้กับโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ตอนนี้โรงพยาบาลตำรวจมีโครงการโมบาย 24 ชั่วโมง ในการที่จะพูดคุยกับตำรวจที่มีปัญหาโทรเข้ามาปรึกษา แต่ตำรวจโทรมาน้อยมากกลับกันกลายเป็นประชาชนที่โทรเข้ามามากกว่า อาจจะเป็นเพราะความเป็นผู้ชาย เรื่องศักดิ์ศรี และเรื่องผลประโยชน์เพราะว่าถ้ามันมีปัญหาทางสุขภาพจิตขึ้นมา มันจะมีผลเสียต่ออาชีพหน้าที่การงานเขาก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้ตั้งตำรวจใหญ่นั่งแก้ปัญหาสามระยะ เร่งตั้งกรรมการระดับโรงพัก พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รองผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม กล่าวว่า ผบ.ตร. ได้ตั้งเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมีการประชุมใหญ่ไปเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีแพทย์ นักจิตวิทยา จากโรงพยบาลตำรวจ ร่วมด้วยรวมทั้งหมด 12 คน
จากการประชุมพบว่า ปัญหาสังคมในปัจจุบันมีความซับซ้อนส่งผลต่อสภาพจิตใจของตำรวจจนนำไปสู่ความเครียด กระทบต่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตจนเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ตนจึงได้ทำบันทึกข้อความส่งไปยังนายตำรวจผู้ใหญ่ทุกระดับชั้น ตั้งแต่เมื่อฃอวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย โดยกำหนดเป็ฯมาตรการรวม 3 ระยะ
ระยะที่ 1 เป็นระยะเร่งด่วน คือ ให้ผู้บังคับบัญชาประเมินลูกน้องตัวเองที่มีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการสังเกตุพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเครียดรุนแรง คือ กลุ่มแรกมีปัญหาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เช่น มีความขัดแย้งในการทำงาน จริงจังกับงานมากเกินไป ถูกดำนินคดีวินัยหรืออาญา หรือมีเรื่องที่ถูกกล่าวหาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่มีปัญหาครอบครัว ภาระหนี้สิน และปัญหาชู้สาว กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่มีปัญหาทางบุคลิกลักษณะหรือสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า สิ้นหวัง โดดเดี่ยว กลุ่มที่สี่ พวกที่มีปัญหาสุขภาพเป็นโรคเรื้อรัง ร้ายแรง รักษษไม่หาย และกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มคนที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน ทั้งหมดแล้วให้ผู้บังคับบัญชาต้องทำความเข้าใจ แนะนำช่วยเหลือสอดส่องดูแลและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและปฏิบัติการชวยเหลืออย่างทันท่วงที หากละเลยไม่สอดส่องจนเกิดความสูญเสียให้พิจารณาความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาอย่างเด็ดขาดทันที
“ในระยะเร่งด่วนนี้ผมยังได้ให้ทุกสถานีตำรวจแต่งตั้ง คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว ขึ้นมา ประกอบด้วยตำรวจที่มีความเหมาะสมและอาจจะมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยให้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัญหา รวมทั้งให้ความช่วยเหลือตำรวจที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยประสานโรงพยาบาลตำรวจ หรือสถานพยาบาลใกล้เคียง รวมทั้งผู้นำศาสนา และเครือข่ายชุมชนในการแก้ปัญหานี้” พล.ต.อ.มนู กล่าว
นอกจากนั้น ยังมอบหมายให้โรงพยาบาลตำรวจจัดอบรมให้กับคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อให้ความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เป็นที่ปรึกษา และรู้ถึงวิธีการสังเกตสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย รวมทั้งยังให้เร่งประชาสมัพันธ์ให้ตำรวจรู้ถึงสายด่วน Depress We Care หมายเลข 0819320000 ของโรงพยาบาลตำรวจและสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ด้วย
พล.ต.อ.มนู กล่าวว่า สำหรับมาตราการระยะกลาง ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานจัดให้มีการตรวจสุขภาพตำรวจประจำปี ทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภาวะการติดสุราเรื้อรังหรือสารเสพติด และมีนักจิตวิทยาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังให้กองบัญชาการศึกษาและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สอดแทรกเนื้อาการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เพื่อเสริมส้รางวินัยทางการเงินและป้องกันปัญหาหนี้สินของตำรวจด้วย
ส่วนในระยะยาวนั้น มอบหมายให้โรงพยาบาลตำรวจ จัดตั้งศูนย์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย โดยจัดทำรายละเอียดเสนอมาไป สตช. พิจารณาต่อไป นอกจากนี้เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ผบ.ตร.ยังได้ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ สตช. เนื่องจากปัญหาการเงินเป็นหนึ่งในปัจจัยของตำรวจฆ่าตัวตายด้วย
“ให้สำรวจผู้มีหนี้วิกฤตหรือมีปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของหน่วยงาน ให้เจ้าหน้าที่การเงินของหน่วยงานออกหนังสือรับรองเงินเดือน ให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามความเป็นจริง ในการใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาขอกู้เงิน หากผู้บังคับบัญชาที่ให้การรับรองการกู้ของข้าราชการตำรวจ ให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ และคำนึงถึงศักยภาพในการชำระหนี้เป็นข้อมูลประกอบการรับรอง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการชำระหนี้ในอนาคต” พล.ต.อ.มนู กล่าว