ศาลแพ่งจำหน่ายคดีขอยกเลิกพรก.ฉุกเฉินฯออกจากสารบบ ชี้ไม่มีเหตุจำเป็นต้องยกเลิก
ศาลแพ่ง สั่งจำหน่ายคดี "เครือข่าย People GO" ออกจากสารบบ ยื่นฟ้องขอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้ไม่มีเหตุจำเป็นต้องยกเลิก ปัจจุบันประชาชานมีสิทธิชุมนุมตามขอบเขตภายใต้กฎหมาย
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 63 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลนัดฟังคำสั่ง คดีหมายเลขดำ พ.3454/2563 ที่เครือข่าย People GO Network ประกอบด้วย นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ , น.ส.แสงสิริ ตรีมรรคา , นายณัฐวุฒิ อุปปะ , นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และ นายวศิน พงษ์เก่า สมาชิกคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. เป็นโจทก์ที่ 1-5 ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดเรื่อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งคดีนี้ เครือข่าย People GO Network ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวาน (9 ก.ค.63) ที่ผ่านมา
โดยโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) 254,266 เพื่อขอให้ศาลพิจารณาคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีขออนุญาตชุมนุมเพื่อติดตามความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ที่หน้าองค์การสหประชาชาติแห่งประเทศไทย หรือยูเอ็น (UN)
วันนี้ นายนิมิตร์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ โจทก์ที่ 1 กับพวกจำนวนหนึ่ง เดินทางมาฟังคำสั่งที่ศาลแพ่ง
ขณะที่ ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนที่โจทก์ทั้งห้าจะยื่นคำฟ้อง มีเหตุโรคไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเกือบทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย จำเลยจึงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และประกาศขยายระยะเวลาอีก ถึงวันที่ 31 ก.ค.63 และออกข้อกำหนดห้ามชุมนุม ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ทั้งห้า
คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุที่ต้องเพิกถอนประกาศ เรื่องขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) ฉบับลงวันที่ 30 มิ.ย.63 และข้อกำหนดตาม มาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือไม่
ศาลเห็นว่า หลังจากโจทก์ยื่นคำฟ้อง จำเลยออกประกาศเรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 4) ฉบับลงวันที่ 28 ก.ค.63 ซึ่งมีผลบังคับระหว่างวันที่ 1-31 ส.ค.63 และจำเลยประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.63 เป็นต้นไปโดยข้อกำหนดล่าสุด ระบุว่า
ข้อ 1.การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใด ๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย เห็นได้ชัดว่า ข้อกำหนดใหม่ดังกล่าวแตกต่างและเป็นการผ่อนคลายจากข้อกำหนดตามความใน มาตรา 9 พระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งข้อที่ 5 ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความมสงบเรียบร้อย
ดังนั้นขณะนี้โจทก์ทั้งห้า จึงมีเสรีภาพในการชุมนุม ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ถึงกับต้องห้ามชุมนุมทุกกรณีเช่นเดียวกับขณะยื่นคำฟ้อง จึงไม่มีเหตุที่ต้องเพิกถอนประกาศ เรื่อง ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) ฉบับลงวันที่ 30 มิ.ย.63 และข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่มีประโยชน์ต่อคู่ความทุกฝ่าย จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ