สถิติอุบัติเหตุทางถนนตายมากกว่าโควิด-19 ปลุกสำนึกคนไทยสวมหมวกนิรภัย
แฉสถิติอุบัติเหตุทางถนน คนไทยตายมากกว่าติดเชื้อโควิด-19 ปลุกสำนึก“สวมหมวกนิรภัย” เหมือนร่วมมือ “ใส่แมส” ช่วยป้องกันโรคแพร่ระบาด
เมื่อวันที่ 4กันยายน ที่บริเวณลานหน้า Lido Connect สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ภาคีเครือข่ายเยาวชน สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ “ชีวิตปลอดภัย สวมหมวกใส่แมส” เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกกันนิรภัย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อปี 2561 มูลนิธิไทยโรดส์ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1,529,808 คน ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมทุกจังหวัด พบว่าภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสวมหมวกกันน็อกเพียง 45 % แบ่งเป็นผู้ขับขี่ 52 % และผู้โดยสาร 22 % ซึ่งงานวิจัยโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่าการสวมหมวกกันน็อกช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะในผู้ขับขี่ได้ 43 % และผู้ซ้อนท้าย 58%
“ส่วนสถิติความรุนแรงของโควิด-19 ในประเทศไทย ผู้ติดเชื้อ 100 คน จะเสียชีวิตราว 2 คน ขณะที่ข้อมูลจากกรมทางหลวงพบว่าอุบัติเหตุทางถนนทุก 100 ครั้ง จะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 คน โดยอุบัติเหตุกว่า 84 % เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ ดังนั้นภัยบนท้องถนนจึงน่ากลัวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นความสามัคคีของคนในชาติ สวมใส่หน้ากากผ้าป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ความสามัคคีนี้ทำให้สถานการณ์ติดเชื้อภายประเทศดีขึ้น สสส. และภาคีเครือข่าย จึงหวังว่าหากคนไทยร่วมมือกันสวมใส่หมวกกันน็อกทั้งคนขี่และคนซ้อน จะช่วยลดตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนลงได้มาก...มาร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ “สวมหมวก+ใส่แมส” ” ดร.สุปรีดา กล่าว
นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์ชีวิตปลอดภัยสวมหมวกใส่แมสขึ้นในแหล่งที่วัยรุ่นรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เพื่อต้องการกระตุ้นเตือนให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของการใส่หมวกกันน็อกทั้งคนขี่คนซ้อน และอยากเห็นคนสวมหมวกกันน็อกเพิ่มมากขึ้นเหมือนกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่คนมีวินัยรับผิดชอบสังคร่วมกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนต้องกลายเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2,000 คน พร้อมกับสื่อสารขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ดื่มไม่ขับ และมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบาง อาทิ คนเดินเท้า และรถจักรยาน
ด้านนายพัชรพล แดงสีดา ประธานชมรมลมหายใจไร้มลทิน กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยในวันเกิดเหตุซ้อนมากับเพื่อนรวม 3 คน แต่ไม่ได้สวมหมวกกันน็อก กระทั่งเกิดอุบัติเหตุมีรถมาชน ทำให้เพื่อนเสียชีวิตหนึ่งคน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญว่า แม้เราจะระวังมากแค่ไหน แต่อาจมีคนอื่นขับรถมาชนเราได้เสมอ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และไม่เลือกว่าเป็นใคร ในวันหนึ่งอาจเป็นเราหรือคนใกล้ชิด หมวกกันน็อกจึงเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอย่างน้อยก็ช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ นอกจากนี้ยังพบว่าว่ามีผู้ปกครองให้บุตรหลานขับรถจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น อายุน้อยสุดที่เคยเจอคือ 7 ขวบ
“ผู้ปกครองบางรายอาจมีความเชื่อว่าการให้รถจักรยานยนต์เป็นของขวัญ จะช่วยกระตุ้นให้เด็กตั้งใจเรียนหนังสือมากขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายเวลาใช้ลูกหลานทำธุระให้ ซึ่งอยากให้ผู้ปกครองเปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้เด็กและเยาวชนเราปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มมากขึ้น จึงขอวอนไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้เข้มงวดกวดขันกับกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างผาดโผนอันตราย” นายพัชรพล กล่าว