posttoday

เปิดร่างประกาศศบค.คุมโควิด แก้ไขทบทวน8ข้อ รอนายกฯเคาะ4ม.ค.นี้

03 มกราคม 2564

โฆษกศบค.เผยร่างประกาศมาตรการฉบับ6เพื่อคุมโควิด มีการทบทวน 8 ข้อ ให้จังหวัดพิจารณาให้ร้านอาหารในพื้นที่นั่งทานที่ร้านได้หรือไม่ ขณะที่การเดินทางข้ามจังหวัดสามารถทำได้

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงประเด็นประกาศมาตรการที่จะนำมาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังเป็นร่างประกาศ ซึ่งนำมาพูดคุยกันในที่ประชุมวันนี้อีกรอบหนึ่ง ได้มีการทบทวนมาตรการต่างๆตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในมาตรการที่จะออกไป โดยจะดูจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ข้อมูลที่มีมา เรื่องของจังหวัดที่แตกต่างกันไป ฉะนั้นได้มีการปรับแก้ไขบ้าง เพื่อให้นายกฯพิจารณาลงนาม

ที่ประชุมมีการพูดคุยและเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อที่จะเกิดในฉบับที่ 6 นี้

ข้อที่ 1 เช่น การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียน สถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดงที่ประกาศใน 28 จังหวัด

ข้อที่ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงกับการควบคุมโรค ยังให้เช่นการจัดประชุมสัมมนา จัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหาร หรือสิ่งของต่างๆ เว้นแต่เป็นการดำเนินงานโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

"มีหลายคนถามมาเรื่องการแต่งงานแจกการ์ดไปแล้ว ตรงนี้เราเปิดช่องต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในจังหวัด แต่ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ ซึ่งจะเติมคำว่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบ"โฆษกศบค.กล่าว

ข้อที่ 3 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ทั้งอยู่ในพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พูดง่ายๆถ้าเป็นประกาศสีแดงได้เลย ตอนนี้ก็ต้องปิดกันไปทั้งหมด

ข้อที่ 4 เรื่องของร้านอาหาร ที่มีการพูดคุยกันเยอะ ร้านอาหารที่อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวคนมาเท่านั้นถึงจะไปกิน แล้วให้เอากลับไปกินที่บ้านเขาจะไปกินที่ไหน และไม่ได้เป็นที่แออัดมากมาย เขาจะต้องโดนด้วยหรือ จึงมีร่างใหม่ขึ้นมาว่า เงื่อนไขการเปิดดำเนินการในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สถานที่ กิจการ หรือการทำกิจกรรมต่อไปนี้เปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่างๆที่กำหนด

(1) การจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนด โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณากำหนดรูปแบบและการกำกับการดำเนินการตามข้อปฏิบัติมาตรการดังกล่าวของแต่ละพื้นที่จังหวัดให้มีความเหมาะสม

“พูดง่ายๆ คือปรับโทนเบาลงไป ให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้ที่พิจารณา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประกอบกิจการร้านอาหาร เพราะเป็นเรื่องที่บริโภคทุกวัน หากเห็นแล้วตรงนี้มีติดเชื้อสูงสุดแล้วมีประวัติไปสถานกิจการร้านอาหาร หรือผับบาร์ คาราโอเกะ ก็ห้าม และให้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียว แต่ถ้าพื้นที่ไกลไปกว่านั้นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะประกาศให้นั่งทานได้ โดยมีมาตรการป้องกัน นี่คือสิ่งที่สร้างความอ่อนตัวกับเรื่องของประกาศข้อนี้"โฆษกศบค.กล่าว

(2) การจำหน่ายสุราสำหรับร้านอาหาร สถานที่ซึ่งจำหน่ายสุรา ห้ามบริโภคสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ตรงนี้ทำเหมือนเดิม

ข้อที่ 5 ห้างสรรพสินค้ายังให้เปิดทำการได้ในเวลาปกติ ซึ่งคำสั่งปิดหรือเปิดในข้อนี้ตามความเหมาะสมของมาตรการสถานที่ มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งเปิด-ปิดในพื้นที่ต่างๆเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดได้

ข้อ 6 เรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ยังไม่ได้ห้าม แต่กำหนดให้ตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจและคัดกรองการเดินทาง โดยใช้เส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคลจากเขตพื้นที่ที่สถานการณ์กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามศบค.กำหนด โดยพิจารณาตามควาเมหมาะสมของพื้นที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ เว้นแต่มีเหตุกรณีจำเป็น

"สรุปเป็นการขอความร่วมมือ ไม่ได้งด ไม่ได้ให้หยุดการเดินทาง ผู้ที่มีธุระจำเป็นสามารถไปได้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเข้มงวดการเดินทาง โดยอาจมีความไม่สบายอยู่บ้าง อาจตั้งด่านตรวจบ่อยขึ้น ถ้ามีเหตุสมควรในการเดินทางจากพื้นที่ที่เป็นสีแดง จะได้ดูว่ามีความจำเป็นจริงๆอาจจะมีความยากลำบาก เพราะด่านอาจะต้องมีการตั้งด่านหลายด่านมากขึ้น ก็ต้องไม่ว่ากัน นี้คือความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้น เพราะเราต้องคัดกรองคนที่ไม่จำเป็นอย่างเดินทาง"โฆษกศบค.กล่าว

ข้อที่ 7 การทำงานแบบ Work from Home การทำงานเหลื่อมเวลาก็จะทำอย่างเต็มที่

ข้อ 8 เรื่องของการให้คณะกรรมการเฉพาะกิจฯพิจารณาผ่อนคลายข้อบังคับการใช้มาตรการป้องกัน และยับยั้ง เสนอนายกฯให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่บังคับใช้กับสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมหรือที่เห็นสมควร เป็นข้อที่อาจเป็นไปตามนี้หรืออาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับอำนาจนายกฯในฐานะผอ.ศบค.ที่จะเกิดขึ้น

โดยฝากติดตามต่อโดยเลขาธิการสมช.จะกราบเรียนนายกฯพิจารณา ส่วนจะออกเช้าวันที่ 4 ม.ค.หรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจนายกฯและที่สุดความร่วมมือของพี่น้องประชาชน

เมื่อถามว่า อยากให้ยกตัวอย่าง อย่างร้ายขายอาหาร ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ในกทม.ที่ได้ประกาศพื้นที่สีแดง 3 เขต ถ้าสมมุติประกาศของนายกฯในวันที่ 4 ม.ค.ส่งผลกทม.เป็นพื้นที่สีแดงหมดเลยหรือไม่ แล้วร้านก๋วยเตี๋ยวต้องฟังจากใคร นั่งได้หรือนั่งไม่ได้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องฟังจากกทม.จะประกาศจะใช้แนวทางใด จะทั้งกทม.หรือบางพื้นที่ เป็นอำนาจผู้ว่าฯกทม.รอฟังประกาศนายฯและรอฟังประกาศพื้นที่ตัวเอง