หมอธีระเสนอรัฐใช้ "Regional lockdown" หยุดการเดินทางระหว่างจังหวัดสกัดโควิด
รศ.นพ.ธีระ เสนอรัฐใช้มาตรการ "Regional lockdown" ระยะสั้น 2-4 สัปดาห์พร้อมนโยบายใส่หน้ากาก 100% เพื่อหยุดการเดินทางระหว่างจังหวัด สกัดการระบาดของโควิด
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงสถานการณ์โควิดระบาดในไทยและมาตรการสกัดกั้นการระบาดของภาครัฐผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาบางช่วงดังนี้
เราจะเห็นการแพร่ระบาดที่ต่างจากระลอกแรกอย่างมาก เพราะกระจายเร็ว ไปทุกหนแห่ง ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น แต่แพร่ไปในชุมชน ทำให้พบว่ามีการติดเชื้อในครอบครัว มีการติดจากปาร์ตี้สังสรรค์ที่บ้านระหว่างเพื่อนฝูง และในที่ทำงานในลักษณะต่างๆ กันไป
ดังนั้นจึงต้องเคร่งครัดป้องกันตนเองให้ดี ใส่หน้ากากเสมอ พบปะคนให้น้อยลง ใช้ออนไลน์แทนไปก่อน ระบาดรุนแรงเช่นนี้ไม่ใช่เวลาในการมาเจอกันสังสรรค์กัน
สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำคือ "ทำในสิ่งที่ควรทำ และอย่าทะลึ่งไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ"
สิ่งที่ควรทำคือ การหยุดการเคลื่อนที่ไปมาหากันทั้งระหว่างจังหวัด และภายในจังหวัดที่มีเคสติดเชื้อ ด้วยการหยุดการเดินทางที่ไม่จำเป็นแบบ Regional lockdown ระยะสั้น 2-4 สัปดาห์ พร้อมนโยบายใส่หน้ากาก 100% และประกาศให้ชัดเจนเป็นนโยบาย"อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ" ไม่อ้อมแอ้มให้ไปคิดกันเอง จัดการกันเองในแต่ละจังหวัด
เราเห็นชัดเจนว่าการตอบสนองของระบาดซ้ำครั้งนี้ ขาดความเป็นเอกภาพ สับสน จนมีการตั้งฉายาอันหลากหลายให้แก่หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ "ทราบแล้วเปลี่ยน" หรือแม้แต่ยุคมาตรการแบบ "กลับลำ" ซึ่งจะยากต่อการทำให้เกิดความเชื่อมั่นสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับกระบวนทัพและการจัดการให้เข้มแข็ง เพื่อจะสู้ศึกนี้ให้ชนะ
ในขณะเดียวกัน รัฐต้องไม่หลงคารม บ้าจี้ไปทำตามนโยบายหรือมาตรการบางอย่างที่ไม่เข้าท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดการมองว่าเปลืองงบประมาณ และจะไม่ดูแลกลุ่มคนที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะการพนัน หรือลักลอบเข้าเมือง
มองเผินๆ แบบตื้นๆ ก็คงเห็นว่าแนวคิดนี้เข้าท่า เพราะทำดีควรได้ดี ทำไม่ดีก็ไม่ควรไปช่วยเหลือ
แต่หากทำเช่นที่คิด จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาการระบาดที่รุนแรงหนักหนาสาหัส เพราะคนในที่มืดจะยิ่งหลบในที่มืด ไม่ปรากฏตัว ไม่บอกข้อมูล ไม่ยอมไปตรวจแม้จะไม่สบาย กว่าจะรู้กันก็จะแพร่ให้แก่คนในประเทศไปมากมาย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ในระบบสุขภาพของเราด้วย
การดูแลคนในมุมมืดที่ติดเชื้อนั้นจำเป็นต้องทำ ไม่ใช่แค่เพราะทำตามหลักจริยธรรมและมนุษยธรรมเพื่อช่วยชีวิตเค้า แต่เหตุผลสำคัญที่จะพลาดไม่ได้เลยคือ การดูแลเพื่อตัดวงจรการระบาด ป้องกันไม่ให้แพร่ไปในคนอื่นในสังคม นี่คือ"การลงทุนเพื่อป้องกัน" ไม่ได้มองแค่มุมจ่ายเงินรักษาคนอื่นโดยสิ้นเปลือง
การมองแบบ"ซื้อมาขายไป" กับการมองแบบ"ยุทธศาสตร์"นั้นต่างกัน
ดังนั้นคนสร้างนโยบายจึงจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญเรื่องยุทธศาสตร์ ไม่ใช่มีทักษะแบบซื้อมาขายไป
การตัดสินใจเชิงนโยบายระดับชาติจำเป็นต้องมีกลไกถ่วงดุลอำนาจ และกลั่นกรองให้ถ้วนถี่ ก่อนจะนำไปประกาศใช้ดำเนินการ ไม่งั้นจะเกิดผลกระทบตามมาต่อทุกคนในสังคมครับ