นักวิชาการ-แพทย์จี้สรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่
นักวิชาการ-แพทย์ประสานเสียงจี้กรมสรรพสามิตรื้อโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ พร้อมหนุนเก็บภาษีอัตราเดียว
จากกรณีวันรณรงค์งดสุบบุหรี่โลก เมื่อ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา นโยบายภาษีบุหรี่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยเครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยสอบตก ด้านการควบคุมการบริโภคบุหรี่และไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้กลุ่มแพทย์และนักวิชาการ ต่างนำเสนอจุดร่วมเดียวกันคือ ให้ยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่า 2 อัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แล้วปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่โดยใช้อัตราภาษีตามมูลค่าอัตราเดียวในระดับที่ไม่สูงมากนักและไม่ส่งผลให้สัดส่วนภาษีปริมาณน้อยกว่าภาษีมูลค่า รวมทั้งมีการวางแผนภาษีบุหรี่ในระยะยาวเพื่อขึ้นภาษีตามกำลังซื้อของผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า หลังจากมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ (เดือนกันยายน 2560) ส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่ราคาถูก เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ลดการสูบแต่ผู้บริโภคเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ราคาถูกกว่าโดยเฉพาะบุหรี่นอกราคาถูกที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเท่าตัว
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า โครงสร้างอัตราภาษียาสูบแบบ 2 ระดับนั้นทำให้บุหรี่ไทยมีราคาสูงขึ้นและขายได้น้อยลง แต่บุหรี่ต่างประเทศราคาถูกลงและขายได้มากขึ้น และต่างประเทศทั่วโลกมีการปรับอัตราภาษียาสูบให้เหลือระดับเดียว เนื่องจากภาษีหลายระดับขัดกับเจตนารมณ์ของภาษียาสูบที่ถูกต้องในการควบคุมและรณรงค์ให้ประชากรในประเทศสูบบุหรี่ลดลงและรัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น งานสำคัญเร่งด่วนของกรมสรรพสามิตคือเร่งปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่
อย่างไรก็ตรม ก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่ากำลังจะพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด และต่อมาได้มีการเปิดเผยไทม์ไลน์เพิ่มเติมว่าจะนำผลการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างใหม่ไปหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการแถลงความคืบหน้าว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะเป็นแบบใด
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ที่ใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเก็บภาษีตามมูลค่าโดยแบ่งเป็น 2 ขั้นคือ บุหรี่ขายปลีกซองละ 60 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษี 40% แต่ถ้าต่ำกว่า 60 บาท ให้เสีย 20% ว่า ถือว่าเป็นมาตรการที่ล้มเหลว ผิดหลักการของภาษีบุหรี่ เพราะไม่ทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น แต่กลับลดราคาลง ทำให้คนสูบไม่ลด รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง ชาวไร่ยาสูบเดือดร้อน ซ้ำร้ายบริษัทบุหรี่ข้ามชาติฉวยโอกาสเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดโดยการลดราคาบุหรี่ล่อใจผู้บริโภค
รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่รายงาน Cigarette Tax Scorecard (2020) ภายใต้โครงการในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (www.tobacconomics.org) ที่ได้รายงานผลการประเมินโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 174 ประเทศทั่วโลกโดยใช้ข้อมูลการเก็บภาษีบุหรี่ขององค์การอนามัยโลก รายงานดังกล่าวให้คะแนนสูงกับประเทศที่มีโครงสร้างภาษีแบบอัตราเดียว มีการใช้ภาษีปริมาณมากกว่าภาษีมูลค่า และมีกลไกในการปรับอัตราภาษีตามกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งประเทศไทยสอบตกในเรื่องนี้ แม้ว่าไทยจะมีการขึ้นภาษีบุหรี่เฉลี่ยเป็นประจำทุก 3 ปี และมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2560 เพราะมีการใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบ 2 อัตรา ทำให้เกิดช่องโหว่ทางภาษี โดยเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาแข่งขันลดราคาบุหรี่หรือผลิตสินค้าตัวใหม่ที่มีราคาถูกลงเรื่อย ๆ
ขณะที่องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศหน่วยงานหลักที่มีภารกิจด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้แนะนำเสมอมาว่ารัฐความเก็บภาษีบุหรี่ในอัตราเดียว ซึ่งเอกสารคู่มือด้านการเก็บภาษีล่าสุดขององค์การอนามัยโลกที่ได้เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ยังคงตอกย้ำคำแนะนำดังกล่าว สนับสนุนแต่ละประเทศควรใช้ภาษีอัตราเดียวสำหรับบุหรี่ เพราะช่วยให้บุหรี่มีราคาโดยเฉลี่ยสูงกว่าการใช้ภาษีหลายอัตราถึงร้อยละ 26 และช่วยให้รัฐบรรลุวัตถุประสงค์ด้านรายได้และการสาธารณสุขได้ดีกว่าแนวทางปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ระยะสั้น – ระยะยาว
ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำข้อเสนอแนะต่อแนวทางการปรับนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบโดยให้กำหนดโครงสร้างภาษีตามมูลค่าแบบอัตราเดียว ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีและตามหลักสากล ซึ่งจะช่วยลดการกระกระจุกตัวที่บุหรี่ราคา 60 บาท และส่งผลดีต่อการขายใบยาสูบของชาวไร่ยาสูบที่ขายให้กับการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) และผลการดำเนินงานของ ยสท. ด้วย เพราะสามารถกำหนดระดับราคาบุหรี่ได้หลากหลายและไม่ต้องให้มีภาระภาษีต่อซองสูงจนเกินไป
สำหรับ ข้อเสนอแนะต่อมาคือ อัตราภาษีตามมูลค่าอัตราเดียวที่จะประกาศใช้ไม่ควรสูงถึงร้อยละ 40 ตามที่กำหนดไว้เมื่อ 4 ปีก่อน เพราะไม่เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้มีการคำนวณอัตราภาษีที่น่าจะเหมาะสมสำหรับอัตราภาษีตามมูลค่าอัตราเดียวคือ อัตราร้อยละ 23 โดยจะทำให้รายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นไม่มากเกินไปจนส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันไปหาสินค้าทดแทนที่ราคาถูกกว่า โดยจะทำให้สัดส่วนภาระภาษีจะอยู่ในระดับร้อยละ 70-75 ต่อราคาขายปลีก ซึ่งเป็นระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างภาษียาสูบต่อไปในระยะยาว โดยแนะว่าหลังจากที่รวมอัตราภาษีตามมูลค่าเป็นอัตราเดียวแล้วและเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว กระทรวงการคลังควรพิจารณาปรับอัตราภาษีขึ้นทุก ๆ 2-3 ปี ตามการขยายตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยควรพิจารณาขึ้นอัตราภาษีตามปริมาณเป็นหลัก เพื่อเพิ่มสัดส่วนของอัตราภาษีปริมาณต่อภาระภาษีทั้งหมดให้มากขึ้น และแนวทางที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับการขึ้นภาษีบุหรี่คือ กำหนดแผนขึ้นภาษียาเส้น โดยอัตราภาษียาเส้นควรอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราภาษีบุหรี่ เพื่อส่งผลให้สามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มรายได้รัฐตามมาด้วย