posttoday

คมนาคม ส่งผู้ป่วยโควิดกลับ 7 จว.อีสานตอนล่างแล้ว 2,824 ราย

06 สิงหาคม 2564

“ศักดิ์สยาม” ประชุมติดตามการส่งผู้ป่วยโควิดกลับ 7 จังหวัดอีสานตอนล่าง เข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนาแล้ว 2,824 ราย ชูใช้แนวทางนี้พื้นที่อื่นทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามการเตรียมการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ” (บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และนครราชสีมา) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ด้วย Application “Zoom” โดยมีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม (นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์) อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานนอกกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี) เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา) ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง” (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ) การประชุมดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลการดำเนินงานการอำนวยความสะดวก การเดินทางของผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ 7 จังหวัด ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม 2564-5 สิงหาคม 2564 โดยมีการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา คือ การส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 โดยเริ่มจากสถานีรถไฟรังสิต ไปยังปลายทางที่ จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้ขบวนรถไฟ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ของ รฟท. ซึ่งเป็นรถนั่ง และนอนปรับอากาศ ห้องน้ำระบบปิด มีระบบปรับอากาศเหมือนกับบนเครื่องบิน

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำรถบัสโดยสารของ บขส. ในการรับส่งผู้ป่วยจากกรมการขนส่งทหารบก (บางเขน) ไปยังจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 2 และ 4 ส.ค. 2564 โดยได้ปรับปรุงรถโดยสาร และกั้นห้องโดยสารระหว่างพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และห้องโดยสาร การปรับระบบปรับอากาศบนรถ นำพลาสติกมาหุ้มบริเวณเบาะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง รวมทั้งกรมการขนส่งทางบกดำเนินการรับผู้ป่วยจากจังหวัดนนทบุรี ไปส่งที่ศูนย์ขนส่งทหารบก บางเขน เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 และได้มีการสนธิกำลังกับหน่วยงานในระดับจังหวัดเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยให้สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาได้อย่างสะดวก และปลอดภัย

ทั้งนี้ ภาพรวมของการรับ – ส่งผู้ป่วยกลับไปยังพื้นที่ภูมิลำเนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด มียอดสะสม ณ วันที่ 5 ส.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 2,824 ราย โดยมีผลการดำเนินการรายจังหวัด ดังนี้

คมนาคม ส่งผู้ป่วยโควิดกลับ 7 จว.อีสานตอนล่างแล้ว 2,824 ราย

(small pink diamond)จังหวัดนครราชสีมา

- ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด : รวม 404 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วย รถส่วนตัว)

- การรับ-ส่งระหว่างจังหวัด : จัดหารถ อบจ. รถมูลนิธิ รถโรงพยาบาลเพื่อไปรับผู้ป่วยจากจังหวัดต้นทางกลับจังหวัดนครราชสีมา

- การรับส่งเข้าสู่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย : มีการรับ-ส่งผู้ป่วยถึงที่พัก (Door-to-Door)

(small pink diamond)จังหวัด บุรีรัมย์

- ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด : รวม 458 คน โดยรับจาก 1330 และจากโครงการ “อุ้มลูกหลานกลับบ้าน” (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

- การรับ-ส่งระหว่างจังหวัด : จัดหารถมูลนิธิ รถพยาบาลทหาร เพื่อรับ-ส่ง ผู้ป่วยกลับจังหวัดบุรีรัมย์ จากจังหวัดต้นทาง

- การรับส่งเข้าสู่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย : มีการรับ-ส่งผู้ป่วยถึงที่พัก (Door-to-Door)

(small pink diamond)จังหวัด สุรินทร์

- ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด : รวม 395 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

- การรับ-ส่งระหว่างจังหวัด : จัดหารถของ มทบ. 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน และกองกำลังสุรสี รถของมูลนิธิ กลับจังหวัด

- การรับส่งเข้าสู่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย : ใช้รถของ อปท ในการรับผู้ป่วยไปส่งยัง CI-รพ สนาม หรือ รพ.อำเภอ

(small pink diamond)จังหวัด ศรีสะเกษ

- ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด : รวม 211 ราย (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

- การรับ-ส่งระหว่างจังหวัด : ใช้รถบัสโดยสารรับผู้ป่วย โดยระดมทุนจากจิตอาสาบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมารถบัสรับผู้ป่วยเดินทางภายใต้โครงการ “ศรีสะเกษไม่ทิ้งกัน” “รับพี่น้องกลับศรีสะเกษ” รวมทั้งจากภาคส่วนอื่นๆ

- การรับส่งเข้าสู่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย : ใช้รถตู้จาก สขจ.ศก. รถพยาบาล รถทหาร ดำเนินการรับ-ส่งผู้ป่วย ไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่

(small pink diamond)จังหวัด อุบลราชธานี

- ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด : รวม 778 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

- การรับ-ส่งระหว่างจังหวัด : ขนส่งผู้ป่วยจาก กทม. ไปยังจังหวัดโดยรถไฟ 1 ขบวน และรถบัสจำนวน 19 รถตู้ 5 คัน จากการจัดหาของทางจังหวัด

- การรับส่งเข้าสู่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย : จังหวัดจัดหารถ ทหาร มทบ.ที่ 22, รถพยาบาลของอำเภอต่างๆ, รถมูลนิธิสว่างบูชาธรรม ส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสนามแต่ละอำเภอ, ศูนย์ CI และ HI ของอำเภอต่างๆ

(small pink diamond)จังหวัด ยโสธร

- ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด : รวม 550 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

- การรับ-ส่งระหว่างจังหวัด : มูลนิธิมูลนิธิฮุก 31 และ ฮุกเพชรเกษม จัดหารถบัส 1 คัน รถตู้ 4 คัน และรถกระบะ 1 คัน เพื่อรับ-ส่ง ผู้ป่วยจากจังหวัดต้นทางกลับภูมิลำเนา

- การรับส่งเข้าสู่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย : มีการรับ-ส่งผู้ป่วยถึงที่พัก (Door-to-Door)

(small pink diamond)จังหวัด อำนาจเจริญ

- ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด : รวม 28 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)

- การรับ-ส่งระหว่างจังหวัด : ขนส่งผู้ป่วยจากกทม. ไปยังจังหวัดอำนาจเจริญ โดยรถบัส จำนวน 3 คัน

- การรับส่งเข้าสู่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย : รับ-ส่ง ผู้ป่วยไปยัง รพ.สนาม แต่ละอำเภอด้วยรถพยาบาล จำนวน 22 คัน และ รถกู้ชีพ อบต. 35 แห่ง

คมนาคม ส่งผู้ป่วยโควิดกลับ 7 จว.อีสานตอนล่างแล้ว 2,824 ราย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงานคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) และหน่วยงานสาธารณสุข (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) เพื่อรับผู้ป่วยออกจากต้นทาง (บ้านผู้ป่วย) ไปยังศูนย์การขนส่งผู้ป่วย (สถานีรถไฟรังสิต/จุดจอดรถบัสโดยสาร บขส. หรือ ศูนย์การขนส่งทหารบก บางเขน) เพื่อเตรียมจำนวนรถ และบริหารจัดการให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่จะเดินทางโดยรถไฟหรือรถบัสโดยสารแต่ละเที่ยว ในรูปแบบของ Feeder ก่อนที่ส่งผู้ป่วยขึ้นรถบัสโดยสาร หรือรถไฟไปยังจังหวัดปลายทางต่อไป และในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

1. ให้กำหนดการเดินทางโดยยานพาหนะที่เหมาะสมกับปริมาณผู้ป่วยที่จะเดินทาง โดยให้ บขส. จัดเตรียมรถบัสโดยสาร และ ขบ. ดำเนินการช่วย สพฉ. ในการจัดหารถสองแถว หรือรถสามล้อที่มีการปรับแต่งซีลกั้นตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยให้ดำเนินการวางแผนร่วมกันระหว่างจังหวัด และ สพฉ. สำหรับงบประมาณในการลำเลียงผู้ป่วยข้างต้น ให้ดำเนินการตามแนวทาง หลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของ สพฉ. รวมทั้งให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาการหาแหล่งงบประมาณหรือกองทุนมาใช้ดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

2. การรวบรวมตัวเลขผู้ป่วยเดินทางสะสม ขอให้จังหวัดจัดส่งข้อมูลให้ สปสช. เพื่อรวบรวมให้เป็นฐานข้อมูลของผู้ป่วยในภาพรวมทั้งหมดในแต่ละจังหวัด

3. ให้ สพฉ. และกระทรวงคมนาคม บูรณาการในการกำหนดจุดรับ-ส่ง ผู้ป่วยให้มีความชัดเจน และหลีกเลี่ยงการรับส่งในที่ที่มีประชาชนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง

4. ให้ทุกจังหวัดสรุปจำนวนเตียงว่างของโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอยของแต่ละจังหวัดเข้ามาใน Group Line เพื่อให้ สพฉ. ใช้ประกอบการวางแผนการจัดส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา

5. การดำเนินการจัดส่งผู้ป่วยกลับไปยังภูมิลำเนา ขอให้ใช้แนวทางการอำนวยความสะดวก การเดินทางของผู้ป่วยที่ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัดที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งเดินหน้าพาผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้านเกิด 7 จังหวัดอีสานใต้ ตามภารกิจที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ว่าจะสามารถเดินทางกลับไปยังจังหวัดภูมิลำเนา 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์อย่างทันท่วงที และนำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน ที่ได้รับเชื้อจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19