posttoday

ศบค. เคาะมาตรการเข้มขึ้นเครื่องบิน ห่วงยอดพุ่ง 3 หมื่นรายต่อวัน ขอปชช.อย่าประมาท

08 ตุลาคม 2564

ศปก.ศบค. เคาะมาตรการ ขึ้นเครื่องบิน ต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือตรวจโควิดไม่พบเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ขอประชาชนยึดหลักป้องกันตนเองอย่างครอบจักรวาล หวั่นยอดผู้ติดเชื้อพุ่งวันละ 25,000-30,000 ราย

เมื่อวันที่ 8 ตค. 64 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุขตอบข้อซักถามในการแถลงข่าว ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ถึงข้อปฏิบัติในการเดินทางโดยใช้บริการสายการบินต่างๆ ว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้เห็นชอบการปรับมาตรการผู้โดยสารอากาศยาน สำหรับผู้ที่จะเดินทางต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือมีผลตรวจโควิด-19 ด้วย ATK หรือ PCR ที่ยืนยันว่าไม่พบเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ที่สำคัญการตรวจคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่จะต้องมีความเข้มงวด หากมีการตรวจพบในข้อห้ามต่าง ๆ ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะมีเงื่อนไขในการห้ามเข้าพื้นที่ จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในการตรวจสอบความพร้อมของตนเองก่อนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย และในส่วนของมาตรการอื่น ๆ ที่ได้มีการกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ทั้งในเรื่องของความเข้มงวดบนอากาศยาน การปรับระบบการระบายอากาศ งดการเสิร์ฟอาหาร รวมถึงการลำเลียงผู้โดยสาร ยังคงมาตรการความเข้มงวดดังกล่าวไว้ด้วย

เมื่อถามว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังอยู่ที่หลักหมื่น ทั้งที่จะมีการผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ ศบค. จะต้องบริหารจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับมาเกิดการระบาดระลอกใหม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พูดถึงเรื่องเรามาถึงทางแยกคือผลของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา น่าจะจางลงหรือหมดไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ แนวโน้มจากกราฟดูเริ่มลดลง แต่ถ้าเราไม่มีมาตรการที่ดีพอกราฟ ก็อาจพุ่งกลับสูงขึ้นไปอีกครั้งซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น หากดำเนินการไม่ดีการติดเชื้อรายใหม่อาจจะไปถึงวันละ 25,000 คน หรือใกล้ 30,000 คนก็ได้

นพ. เฉวตสรรยังกล่าวว่า มาตรการที่เราใช้อยู่ขณะนี้ขอย้ำว่า เรื่องของการฉีดวัคซีนถ้าเราฉีดกันได้อย่างกว้างขวางทุกพื้นที่ เข้มมาตรการครอบจักรวาล ป้องกันตัวแบบสูงสุดตลอดเวลาให้เสมือนหนึ่งว่า เราอาจจะเจอคนใกล้ชิดหรือไม่ใกล้ชิดก็ตามที่มาในสถานที่เดียวกันอาจจะมีเชื้อโควิด-19 อยู่ในตัวหรือแม้แต่ตัวเราเองอาจจะมีเชื้ออยู่ในตัวได้ ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ และมาตรการอื่นๆจะต้องเต็มที่อยู่ตลอดเวลา และ ATK เป็นเครื่องมือที่ถ้าเรามีความเสี่ยง หรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงก็สามารถใช้ตรวจได้ เช่น ไปร่วมงานบุญ ไปตลาดเจอผู้คน ควรรีบใช้อย่าได้ทิ้งไว้ เดี๋ยวจะหมดอายุเสียก่อน ซึ่งการใช้ประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นตัวชี้บอกให้เราปฏิบัติตัวได้ดี