กลุ่มหนุน เผย 100 ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ระดับโลกจี้ WHO เปลี่ยนจุดยืนบุหรี่ไฟฟ้า
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เผย ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับโลกกว่า 100 รายร่วมกันลงชื่อในจดหมายเรียกร้อง WHO แก้ไขจุดยืนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ไทยยังคงปฏิเสธทางเลือกของผู้สูบบุหรี่ด้วยอคติ-ไม่ยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ พร้อมเรียกร้องไทยสร้างความโปร่งใสในการพิจารณานโยบายเกี่ยวกับยาสูบ-บุหรี่ไฟฟ้า
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” นำโดยนายอาสา ศาลิคุปต และนายมาริษ กรัณยวัฒน์ สองแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนานโยบายเกี่ยวกับยาสูบกว่า 100 คน กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ยังคงมองข้ามศักยภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ จึงได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ WHO สนับสนุนและรวมเอาหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) เข้าไปไว้ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบด้วย
ในจดหมายที่ 100 ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันลงชื่อ เผยว่า มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 3.4 ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อของประชากรโลก นอกจากนี้ ในจดหมายยังได้ ระบุข้อเรียกร้อง 6 ประการ ได้แก่ 1) ให้ WHO และประเทศสมาชิกสนับสนุนแนวทางการลดอันตราย 2) การพิจารณานโยบายของ WHO ต้องมีความครอบคลุมเหมาะสม ทั้งกับผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และการป้องกันเยาวชนจากความเสี่ยงในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า 3) การจะแบนบุหรี่ไฟฟ้าต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างไม่ตั้งใจด้วย 4) ใช้มาตรา 5.3 ของ FCTC อย่างเหมาะสม 5) การประชุม FCTC ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อสร้างความโปร่งใส และ 6) ริเริ่มการทบทวนอย่างเป็นอิสระต่อแนวทางของ WHO และ FCTC
นายอาสากล่าวว่า การแบนบุหรี่ไฟฟ้าตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการควบคุมยาสูบ การปฏิเสธนวัตกรรม และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค จนทำให้ผู้สูบบุหรี่ยังคงได้รับอันตรายจากควันบุหรี่ต่อไป พอมีใครเสนอให้พิจารณาหาทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าใหม่ กลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในประเทศไทยมักจะอ้าง WHO โดยไม่พิจารณาว่าหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำของโลก เช่น สาธารณสุขอังกฤษ สาธารณสุขนิวแลนด์ ยูเอสเอฟดีเอ ต่างก็มีจุดยืนที่ส่งเสริมการลดอันตรายและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนการสูบบุหรี่เพื่อลดอันตรายให้กับผู้ที่จะสูบบุหรี่ต่อไป ในขณะที่ป้องกันการเข้าถึงของเด็กเยาวชนควบคู่กัน
ทั้งนี้ จดหมายฉบับดังกล่าวทำขึ้นก่อนการจัดการประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ครั้งที่ 9 (FCTC COP9) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและรัฐบาลของหลายๆ ประเทศเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 8-13 พฤศจิกายน 2564 และอาจจะมีการพิจารณามาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบลดความเสี่ยงในการประชุมครั้งนี้
ด้านนายมาริษ กล่าวว่า ผู้แทนจากทั่วโลกที่จะเข้าร่วมการประชุม FCTC COP9 ซึ่งถือว่ามีความสำคัญในการกำหนดอนาคตของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในการประชุมนี้จะมีผลกระทบต่อผู้สูบบุหรี่ 1 พันล้านคนทั่วโลกรวมถึงผู้สูบบุหรี่และยาเส้นในเมืองไทยกว่า 9.9 ล้านคน สุขภาพของผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า และผู้สูบบุหรี่ในปัจจุบันที่ควรจะมีสิทธิเข้าถึงทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย
“สำหรับประเทศไทย ไม่มีข้อมูลว่าใครจะเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม ไม่มีใครรู้ว่าจุดยืนของไทยเป็นอย่างไร ไม่มีการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบหรือ และประเทศไทยจะไปตกลงอะไรในเวทีการประชุมนี้ยังคงเป็นคำถามที่มีมีใครทราบเพราะกระบวนการนี้ถูกเก็บเป็นความลับ ประชาชนและสื่อมวลชนถูกกีดกันออกจากกระบวนการและการประชุมที่มาจากภาษีประชาชน เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข สร้างความโปร่งใสในการเข้าประชุมครั้งนี้และมีการกำหนดท่าทีของประเทศไทยโดยการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนเข้าร่วมการประชุม” นายมาริษ กล่าว