"ศักดิ์สยาม" เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คาดเกิดผลประโยชน์ทางศก.4 แสนล้าน/ปี
คมนาคม เดินหน้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เผย ปี 65 ลุยแผนลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท คาดเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ 4 แสนล้านบาท/ปี
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ชีวิตคนไทยจะดีขึ้นอย่างไรบนแผนคมนาคม” ณ ห้องอีเทอร์นิตี้ บอลรูม ชั้น G โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนการพัฒนาระบบขนส่งของไทยในระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันมีรายได้สูงอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คนไทยมีความสุข อยู่ดี กินดี สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม กระทรวงคมนาคมถือเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของประเทศ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่กระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุดหรือชะงักการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศแต่อย่างใด โดยได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกันทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศและเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งโครงการต่าง ๆ มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก หลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นแผนระยะกลางและแผนระยะยาว ดังนี้
1. การคมนาคมขนส่งทางบก ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 สายทาง คือ สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 81,121 ล้านบาท และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96.0 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 62,452 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก ระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 28,734 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ยกระดับ) สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย และช่วงที่ 2 ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว คาดว่าทั้ง 2 ช่วงจะแล้วเสร็จในปี 2567 และ 4) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 สายทาง คือ M5 ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง และ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา
2. การคมนาคมขนส่งทางราง ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะมีระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร 2) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการขนส่งระบบระบบรถไฟทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศโดยเชื่อมโยงทั่วทุกภูมิภาคและรองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย 3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งในปีนี้ได้เร่งดำเนินการ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 นครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร และ 4) โครงการถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571
3. การคมนาคมขนส่งทางน้ำ ได้แก่ 1) โครงการท่าเรือบก (Dry Port) จะเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งต่อไปทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา ซึ่งตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบกได้กำหนดพื้นที่ไว้ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา
4. การคมนาคมขนส่งทางอากาศ ด้วยประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก โดยสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประมาณการนักท่องเที่ยวที่จะเข้าสู่ประเทศไทยว่าจะมีจำนวนสูงถึง 200 ล้านคน ในปี 2574 กระทรวงคมนาคมจึงมีความมุ่งมั่นที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยมีโครงการพัฒนาท่าอากาศยายต่าง ๆ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนเมษายนนี้ 2) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ขณะนี้กำลังเร่งรัดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ 4) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการประเมิน EIA เช่นกัน
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เตรียมแผนงานสำหรับอนาคตของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำแผนและพร้อมจะเดินหน้าโครงการในครึ่งปีหลังของปีนี้ ได้แก่ 1) การศึกษาจัดทำแผนแม่บท MR-Map เป็นแผนการพัฒนาระบบคมนาคมในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ และกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น โดยรูปแบบ MR-Map เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ ตามแผนประกอบด้วย 10 เส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงข่ายการค้า การลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และ 2) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน ซึ่งโครงการ Land Bridge ชุมพร - ระนอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รูปแบบการพัฒนาและรูปแบบการลงทุนโครงการ และเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2566 ตามแผนจะสามารถเริ่มการพัฒนาโครงการได้ในปี 2568 พร้อมเปิดโครงการได้ในช่วงปี 2573
ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่าง ๆ ที่กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมดแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับนานาประเทศได้ และประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์จากแผนการการลงทุนด้านคมนาคม สามารถแบ่งการพิจารณาได้เป็น 4 มิติ ดังนี้
1. มิติด้านความสะดวก เพิ่มความเร็วในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงรถติดเป็น 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
2. มิติด้านเวลา โครงการรถไฟทางคู่แก้ปัญหารถไฟรอหลักและจุดตัดถนน ทำให้ความเร็วในการขนส่งสินค้าเพิ่มจาก 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3. มิติด้านราคา โครงการรถไฟทางคู่สามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 4 เท่าตัว โครงการท่าเรือแหลมฉบัง การขนส่งทางน้ำลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 8 เท่าตัว
4. มิติด้านความปลอดภัย แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการ RFB ซึ่งใช้ยางพาราหุ้มแท่งคอนกรีตจะสามารถลดความเสียหายและแก้ปัญหาการชนต่างทิศทางบนถนนที่เป็นเกาะสี โครงการ Motorway ซึ่งเป็นระบบปิดและไม่อนุญาตให้รถมอเตอร์ไซค์มาใช้งาน จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุจากรถ ที่ใช้ความเร็วต่างกันได้ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จะช่วยลดปริมาณการเดินทางและอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟสามารถรองรับการเดินทางของคนได้มากกว่าและโอกาสการเกิดอุบัติเหตุน้อยมาก รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะช่วยลดปริมาณการเดินทางและอุบัติเหตุบนถนน และโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางทางอากาศเป็นศูนย์
นอกจากประชาชนจะได้ประโยชน์จากแผนลงทุนด้านคมนาคมแล้ว ในส่วนภาพรวมของประเทศจะได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนด้านคมนาคมเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจจากเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางบก ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ด้วยวงเงินการลงทุนที่สูงนี้ มีการคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิด การจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่ง และมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักรและยานพาหนะะต่าง ๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท และจากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณที่เป็นผลมาจากงานวิจัยของ Global Infrastructure Hub and Cambridge Economic Policy Associates ของสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 2.35% ของ GDP
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแต่ละโครงการตนกับบุคลากรทุกคนในกระทรวงคมนาคมได้ร่วมวางแผนการดำเนินงานเป็น Action Plan ไว้แล้ว ซึ่งต่อจากนี้ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แผนในการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด อย่างไรก็ตามแผนการลงทุนโครงสร้าง เพื่อวางโครงข่ายคมนาคมของประเทศทั้งระบบนั้น กระทรวงคมนาคมได้วางไว้เป็นแผนกลยุทธ์ 20 ปี และเมื่อนำมาต่อเนื่องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามแนวทางของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากทั้งหมดเกิดขึ้นได้ครบวงจร เราจะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากวันนี้อย่างแน่นอน