"มักกะสัน" ความหวังสุดท้ายของพื้นที่สีเขียวกลางกรุง
ที่ดิน 497 ไร่ย่าน"มักกะสัน" พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ผืนสุดท้ายใจกลางกรุงที่รอวันชี้ชะตา
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล, นิติพันธุ์ สุขอรุณ / ภาพ....เครือข่ายมักกะสัน
พื้นที่ 497 ไร่ย่านมักกะสัน ภายใต้การดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร
เปรียบดั่งปอดทำหน้าที่ฟอกอากาศให้เมือง เป็นที่พักพิงของสัตว์และพันธุ์พืชนานาชนิด ทั้งยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นที่ตั้งของโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟและสถานที่เก็บหัวรถจักรเก่าแก่โบราณอายุนับร้อยปี
วันนี้ ที่ดินผืนดังกล่าวกำลังรอวันตัดสินชี้ขาดว่าจะให้เป็นตึกสูงระฟ้า โรงแรมหรู ห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล หรือเป็นพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้ประโยชน์
ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะพลิกโฉมกรุงเทพมหานครไปตลอดกาล
คอมเพล็กซ์หรือสวนเขียว?
เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉายภาพความแตกต่างระหว่างการเนรมิตที่ดินมักกะสันให้เป็นแหล่งรวมอาคารสูงและห้างสรรพสินค้า กับการสร้างให้เป็นสวนสาธารณะที่เป็นปอดของเมือง
เริ่มที่ “มักกะสัน สวนสร้างสรรค์” คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นพื้นที่สำหรับต้นไม้ใหญ่ หรือบริเวณที่ให้คนไปวิ่งเล่นออกกำลังกาย ทว่าความจริงแล้วสิ่งที่กลุ่มนักอนุรักษ์พยายามรณรงค์มาโดยตลอด คือ การพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยที่มีคุณค่าพิเศษ เช่น มีสวนพฤกษศาสตร์แห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงพื้นที่ย่านธุรกิจใจกลางเมือง ส่งเสริมเศรษฐกิจ รูปแบบเช่นนี้เป็นความต้องการให้มักกะสันตอบโจทย์สังคมยุคใหม่มากกว่าเป็นเพียงสวนสาธารณะเท่านั้น
ความต้องการลำดับต่อมาคือ การพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่รับน้ำป้องกันน้ำท่วมเมืองชั้นใน พร้อมกับพัฒนา ให้เป็นสวนเกษตรเชื่อมโยงสวนพฤกษศาสตร์เชื่อมโยงอาคารสีเขียวที่มีดาดฟ้าเป็นแผงโซล่าเซลล์หรือปลูกพืชแนวตั้งลดการใช้พลังงานไฟฟ้า แตกต่างจากแนวคิดสร้างอาคารสูงเป็นห้างสรรพสินค้า ที่ต้องใช้กำลังไฟฟ้าจำนวนมาก สภาพของย่านอาคารสูงจะกลายเป็นภาระให้เจ้าหน้าที่กทม. ต้องคอยดูแลสูบน้ำออกจากพื้นที่ยามฝนตกลงมาอย่างหนัก เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในปัจจุบันที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำ
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นหัวใจหลักของย่านมักกะสันคือความเชื่อมโยงกันของเส้นทางคมนาคม เริ่มที่ย่านพระราม 9 ต่อเนื่องถึงอโศกมนตรี ใช้เส้นทางของแอร์พอร์ตลิงค์ อีกด้านหนึ่งคือย่านประตูน้ำ ต่อเชื่อมเข้าเมืองสู่ซอยรางน้ำ ที่มีห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางไปอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่มักกะสันด้วย ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้เป็นแหล่งธุรกิจขนาดเล็กหล่อเลี้ยงชุมชนรอบข้างได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี แม้จะไม่อาจเทียบกับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลของการขายที่ดินผืนงามใจกลางเมือง ซึ่งการรถไฟไทยมองคนละมุมกับนักอนุรักษ์ เพราะต้องการเงินก้อนใหญ่จำนวนหลายหมื่นล้านบาทมาปลดหนี้สินในครั้งเดียว
การจัดสรรพื้นที่มักกะสันให้เป็นพื้นที่สีเขียวยุคใหม่ ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 5.8 แสนตารางเมตร ใช้พลังงานไฟฟ้ารวมกันเพียง 217 ล้านหน่วยต่อปี ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ จำนวนที่จอดรถถูกกำหนดให้มีเพียง 8,000 ที่จำกัดจำนวนรถยนต์ที่จะวิ่งเข้ามาประมาณ 1.2 หมื่นคันต่อวันเท่านั้น แล้วหันมาขยายส่วนต่อเชื่อมการคมนาคมหลากหลายด้านอื่นเช่น เรือ รถไฟ รถไฟฟ้า รถเมล์ และแอร์พอร์ตลิงค์ ผลที่ตามมาคือการบริโภคน้ำมันลดลง การปล่อยก๊าซพิษจากท่อไอเสียลดลงตามไปโดยอัตโนมัติ
ด้านความสามารถในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของพื้นที่สีเขียวมีถึง 604 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 4.3เท่าเมื่อเทียบกับสภาพของย่านอาคารสูงกลางเมือง เกิดประโยชน์ทางด้านธรรมชาติสูงสุดคือช่วยเพิ่มออกซิเจนได้ถึง 441 ตันต่อปี ช่วยลดฝุ่นละอองในอากาศได้มากกว่า 7.5 ตันต่อปี ลดจำนวนขยะมูลฝอยได้ถึง 80% เพิ่มพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก 5,000 คนต่อวัน อุณหภูมิในบริเวณนี้ลดลง 2-5 องศา ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้ามารู้สึกเย็นสบาย
“ความพยายามผลักดันให้มักกะสันเป็นแหล่งธรรมชาติ ที่มีความผสมผสานร่วมกับศิลปะวัฒนะธรรม การท่องเที่ยวและย่านธุรกิจเป็นเรื่องยาก เพราะเจ้าของที่ดินมองคนละมุมกับฝั่งของประชาชนคนเมือง ที่เห็นเป็นทรัพยากรที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์หลากหลาย แตกต่างจากการมองว่าทำอย่างไรที่จะได้เงินก้อนใหญ่ที่สุดเพื่อปลดหนี้สิน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่ความคาดหวังของคนกรุงเทพฯจะได้สวนสีเขียวมาเป็นปอดไว้หายใจในอนาคต ” เดชรัตน์ กล่าวเสียงหนักแน่น
หากมีการก่อสร้างเป็น “มักกะสันคอมเพล็กซ์” ขึ้นมาในอนาคต จะต้องใช้พื้นที่กว่า 80%มาสร้างเป็นอาคารห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมระดับห้าดาว ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยในอาคารมากกว่า 2.65 ล้านตารางเมตร ทว่าเมื่อคำนวณพลังงาน ไฟฟ้าในอาคารมาตรฐานในปี 2553 พบว่า มักกะสันคอมเพล็กซ์จะใช้พลังงานไฟฟ้ารวมกัน 533 ล้านหน่วยต่อปี เท่ากับความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้ง จ.มหาสารคาม ในปี 2554 ทั้งยังใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าอีก 28 จังหวัดที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่ามักกะสันคอมเพล็กซ์แห่งนี้ ผลที่ตามมาคือ ประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 100 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนสู่มักกะสันคอมเพล็กซ์
อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขั้นประมาณ 3 แสนตันต่อปี ความสามารถในการผลิตออกซิเจนอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากทำได้เพียง 83 ตัน/ปี เพิ่มจำนวนขยะมากขึ้นอีก 265 ตันต่อวัน ทำให้กทม.ต้องรับภาระปัญหาขยะเพิ่มขึ้นอีก
ขณะเดียวกัน พื้นที่จอดรถของตัวอาคารโรงแรม ห้างสรรพสินค้าคาดว่าจะได้จำนวนกว่า 3.3 หมื่นคัน จะทำให้มีรถวิ่งเข้าสู่มักกะสันเฉลี่ยประมาณ 5 หมื่นคัน/วัน อัตราการบริโภคน้ำมันเท่ากับ 18 ล้านลิตรต่อปี เปรียบเทียบโดยคิดอัตราการบริโภคน้ำมันคันละ 1 ลิตรต่อวัน
“สิ่งที่น่าเสียดายคือเวลานี้ข้อเรียกร้องยังไม่ถูกรับฟังหรือถูกพูดคุยกันในวงกว้างเท่าที่ควร ดังนั้นเรื่องนี้จึงควรเป็นเรื่องที่คนเมืองทุกคนต้องหันมาใส่ใจให้มากขึ้น เพราะกรุงเทพฯมีศูนย์การค้ามากเกินไป แต่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ช่วยสร้างออกซิเจนให้กับเมืองเป็นสิ่งที่ขาดแคลน ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่มักกะสันเป็นพื้นที่สีเขียวเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศได้ เป็นมากกว่าความหวัง ความฝัน ทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางสังคมยุคใหม่ และเป็นโอกาสที่คนหนึ่งคนจะหายใจได้เต็มปอด”
โอกาสสุดท้ายของกรุงเทพฯ
ไม่ว่าจะด้วยอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้น มลพิษในอากาศ ความหนาแน่นของตึกสูงระฟ้าและประชากรที่เกินจะรับไหว ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต่างโหยหาพื้นที่สีเขียว
กนก เหวียนระวี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงกวี และอาจารย์พิเศษประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ปัจจุบันคนนิยมอาศัยอยู่คอนโดมิเนียมและทาวเฮาส์มากขึ้น ต่างจากอดีตที่มักอาศัยอยู่บ้านเดี่ยวมีบริเวณโล่งกว้าง ปลูกต้นไม้ ลึกๆในใจทุกคนต้องการพื้นที่สีเขียว ต้องการสวนสาธารณะด้วยกันทั้งนั้น
"ที่ผ่านมา สวนสาธารณะที่มีอยู่ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนมาออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ตอบสนองการใช้งานของคนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้มุ่งเน้นให้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างแท้จริง ไม่ได้ถูกสร้างให้ทำหน้าที่เป็นปอดของเมือง เป็นที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์และพืชพันธุ์ ยกตัวอย่างสวนบ้านเรามักใช้ไม้ดอกไม้ประดับ แทนที่จะเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความจำเป็นต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซน์ ฟอกอากาศ หรือต่างประเทศเขาคิดไปถึงการพยายามทำให้นกฮูกเข้ามาอยู่ในสวน เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์สัตว์เมืองทั้งหลาย เช่น นก หนูและแมลงที่มีจำนวนมากเกินไป
สวนสาธารณะมีคุณค่ามากกว่าสวนสวยๆให้คนมาวิ่งเล่น ปั่นจักรยาน ลึกๆแล้วยังเป็นปอดให้เมือง เป็นเครื่องฟอกอากาศ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับจิตใจคนให้ดีขึ้น แม้แต่เด็กก็มีสมาธิดีขึ้น คนก็ไม่เครียด เคยมีผลวิจัยว่าคนที่อยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวมีสุขภาพดีขึ้น อายุยืนขึ้น ความรุนแรงทางด้านอาชญากรรมลดน้อยลง ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากตรงนี้คือ คนจน เพราะคนรวยมีสตางค์เขามีปัญญาไปพักผ่อนตากอากาศที่ไหนก็ได้ แต่คนจน คนที่ด้อยโอกาสกว่าจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้"
ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตย์รายนี้ เสนอแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่สวนสาธารณะมักกะสันไว้อย่างน่าสนใจ
ศึกษาพื้นที่ให้ชัดเจนโดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ต้องศึกษาและวางแผนให้ชัดเจนเสียก่อนว่าพื้นที่ 497 ไร่ของมักกะสันนั้นจะมีการวางผัง หรือจัดสรรพื้นที่อย่างไร ตรงไหนควรเป็นพื้นที่สีเขียว ตรงไหนควรเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาที่ได้รับการยอมรับต้องมามีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย เช่น สถาปนิก ภูมิสภาปัตย์ สิ่งแวดล้อม พฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ไม่ใช่อุปโลกน์เอาใครก็ได้มาทำ
สร้างพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานที่ดินผืนนี้ให้การรถไฟ เพื่อใช้เป็นรัฐสาธารณูปโภคบริการประชาชน ทรงสร้างคุณูปการมากมายมหาศาลแก่ประเทศชาติ แต่สมัยนี้เวลานึกถึงรัชกาลที่ 5 กลับมีแค่พระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น ขอเสนอให้มี "สวนสมเด็จพระปิยมหาราช" เพื่อเทิดพระเกียรติและให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่าน
ต้นแบบของสวนสาธารณะสมัยใหม่ ควรทำให้สวนมักกะสันเป็นสวนสาธารณะสมัยใหม่ที่เป็นต้นแบบการสะท้อนความคิดที่ว่าเมืองที่ดีต้องรักษาพื้นที่สีเขียว ทำให้คนเห็นคุณค่าของการพยายามอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว และกระจายสำนึกนี้ไปยังเมืองอื่นๆในต่างจังหวัดทั่วประเทศ
แหล่งเรียนรู้ของเยาวชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ควรทำให้เป็นสถานที่เอื้อประโยชน์ให้เด็กๆจากต่างจังหวัดได้เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการศึกษาเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ไม่ใช่เฉพาะเด็กในกรุงเทพฯ เพื่อปลูกฝังให้มีทัศนคติรักและหวงแหนธรรมชาติ
"นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของกรุงเทพมหานครในการแก้ปัญหาความหนาแน่นของเมือง ไม่ต้องห่วงพื้นที่เชิงพาณิชย์หรอก เอกชนไปหาตรงไหนก็ได้ ซึ่งตามหลักการเชิงผังเมืองก็ต้องกระจายความเจริญไปตามจุดต่างๆอยู่แล้ว จะมาอัดแน่นตรงนี้ทำไม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พื้นที่มักกะสันเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ขนาดใหญ่กลางเมืองแบบนี้เป็นสิ่้งที่มีคุณค่ามาก ยุทธศาสตร์ที่ตั้งแบบนี้จะหาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ถ้าไม่ทำจบเห่แน่ เพราะสถานการณ์เลวร้ายของเมืองจะทวีรุนแรง อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความแออัดของประชากร มลพิษ ความเครียดสะสมต่างๆ"
สวนสร้างสรรค์ ...พื้นที่ในฝันของทุกคน
ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส ที่ปรึกษากรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มองว่า นี่คือโอกาสที่จะปฏิรูปการบริหารจัดการพื้นที่ของภาครัฐ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
"เรามองไปไกลกว่าเรื่องการแบ่งสัดส่วนพื้นที่แล้ว อยากส่งเสียงไปดังๆไปยังรัฐบาลว่าควรให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นและเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ตรงนี้ด้วย จะแบ่งสัดส่วนกี่เปอร์เซนต์มันเป็นเรื่องหลังจากการได้เข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ประชาชนจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด นี่คือโอกาสที่จะทำให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยสมบูรณ์ขึ้น กรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทยก็จริง แต่เป็นหน้าตาของประเทศต่อสายตาชาวโลก ถึงเวลาแล้วที่จะพัฒนาพื้นที่กลางเมืองซึ่งมีความสมบูรณ์ทางมรดกทางสถาปัตยกรรมและมรดกทางธรรมชาติให้เป็นที่กล่าวขวัญในระดับโลกในแง่ที่ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ประชาชนได้มาใช้ประโยชน์สูงสุดในทุกๆด้าน"
ปองขวัญเสนอแนวคิด "สวนสร้างสรรค์" หวังให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดความต้องการที่ตอบสนองความเป็นเมืองน่าอยู่
"ตอนนี้ผู้คนเรียกร้องอยากได้สวนสาธารณะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นสวนสาธารณะแบบเดิมที่จะต้องมีรัฐมาจัดสรรให้ และไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่นิยามใหม่ของคำว่าสวนสาธารณะ ขอเรียกว่า 'สวนสร้างสรรค์' คือพื้นที่ที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้ามาสร้างสรรค์พื้นที่ และสามารถสร้างเม็ดเงินได้ ยกตัวอย่าง การสร้างพิพิธภัณฑ์ ด้วยศักยภาพของมักกะสันที่มีมรดกทางประวัติศาสตร์ เช่น โรงงานเก็บรถไฟ โรงซ่อมบำรุง หัวรถจักรเก่า อาคารสถาปัตยกรรมที่มีอายุกว่า 100 ปี เหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ได้
นอกจากนี้ยังมีมรดกทางธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ใหญ่ คลอง บึง ระบบนิเวศน์ที่มีความหลากหลายอุดมสมบูรณ์ ก็พัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะที่ดีโดยไม่ต้องลงทุนสูง ขณะเดียวกันบางพื้นที่ที่ไม่ได้มีมรดกทางประวัติศาสตร์ หรือมรดกทางธรรมชาติ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรเชิงคุณค่า มิใช่เน้นมูลค่าเพียงอย่างเดียว เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับงานออกแบบ เสื้อผ้า แฟชั่น ศิลปะ วัฒนธรรม โรงภาพยนตร์ และอื่นๆที่ต่อยอดไปเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ในอนาคต"
แม้นาทีนี้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าที่ดินมักกะสันจะถูกกำหนดให้ออกมาเป็นรูปร่างหน้าตาอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลมิอาจมองข้ามไปได้คือ ต้องรับฟังความคิดเห็นและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของพวกเขา ในฐานะเจ้าของพื้นที่