ตำนานตลาดน้ำวัดไทร
ผู้เขียนยกคอลัมน์แกะรอยบางกอก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2546 เรื่องตลาดน้ำวัดไทร-อดีตที่รุ่งโรจน์ มาแกะให้อ่านอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 12 ปี เพื่อให้เห็นตำนานที่หลายคนถวิลหา
โดย...ส.สต
ผู้เขียนยกคอลัมน์แกะรอยบางกอก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2546 เรื่องตลาดน้ำวัดไทร-อดีตที่รุ่งโรจน์ มาแกะให้อ่านอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 12 ปี เพื่อให้เห็นตำนานที่หลายคนถวิลหา
เวลาบ่ายแก่ๆ แดดร่มลมตกของวันอาทิตย์ในเดือน มี.ค.นี้ ชายวัยกลางคน ผิวค่อนข้างดำ สูงประมาณ 170 ซม. แต่งกายตามสบาย นั่งอย่างสบายอารมณ์ที่ระเบียงพักหน้าบ้านริมฝั่งคลองสนามชัย ซึ่งในอดีตมันคือ เรือนแพแห่งหนึ่งของย่านตลาดน้ำวัดไทร สายตาทั้งคู่ของเขาทอดลงไปตามกระแสน้ำที่มีสีดำคล้ำ ขุ่นข้น โชยกลิ่นขึ้นมา เมื่อมีกระแสลมพัดมาบ้างเป็นครั้งคราว นานๆ กระแสน้ำจะกระเพื่อมแรงเป็นคลื่นเมื่อเรือหางยาววิ่งมาพร้อมกับเสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์ นั่นหมายถึงเรือที่พาฝรั่งนักท่องเที่ยวมาชมคลองและร่องรอยตลาดน้ำที่ซบเซา เขาอดรำพึงถึงอดีตที่รุ่งโรจน์ของคลองหน้าวัดไทรแห่งนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้วไม่ได้ สมัยนั้นเขาคงไม่มีเวลามานั่งใคร่ครวญ หรือคนึงหาสิ่งใดๆ แม้แต่น้อยเหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะอดีตนั้นตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงกลางคืน ลำคลองหน้าวัดไทรนี้ไม่เคยหลับเลย
ทุกพื้นที่จะเต็มไปด้วยเรือที่ชาวสวนพายเอาของสวนมาขาย ในขณะที่เรือนแพทั้งสองฝั่ง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 หลังคา ก็สาละวนอยู่กับการค้าขายหรือรับสินค้าจากชาวสวนที่เพิ่งตกลงราคากัน เสียงทักทายของแม่ค้า สลับไปกับเสียงต่อรองราคาจะได้ยินกันชินหูจนเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว
จากข้อมูลของพระครูกิตติญาณวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดไทร แต่เดิมนั้นตลาดน้ำวัดไทรยังไม่มี มีแต่ตลาดน้ำวัดจอมทอง เรียกว่า แพหน้าวัดจอมทอง ต่อมาเลื่อนมาติดที่สามแยกบางขุนเทียนที่เรียกว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิม ต่อมาพ่อค้าแม่ค้าเห็นว่าน้ำเชี่ยวมากก็ขยับมาที่หน้าวัดบางประทุนนอกและขยายมาถึงวัดไทรมาติดตลาดที่หน้าวัดไทรนี้นานมากๆ มีพ่อค้าแม่ค้าตลอดจนชาวสวนย่านบางปะกอก บางขุนเทียน ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ บางมด ภาษีเจริญ บางแค หลังสอง ตลอดถึงบางช้าง จ.สมุทรสงคราม จะพายเรือนำของสวนมาขายที่ย่านคลองสนามชัยต่อเนื่องกันมา เมื่อตลาดน้ำคึกคัก จนกระทั่งกลายเป็นจุดขายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยทุกเล่ม นอกจากจะระบุวัดและวังแล้วยังต้องระบุตลาดน้ำไว้ด้วย แม้กระทั่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียน ปี 2514 รัฐบาลได้จัดทำแสตมป์เป็นรูปตลาดน้ำขึ้นมาหนึ่งชุด แสดงให้เห็นว่าตลาดน้ำแห่งนี้สำคัญแค่ไหน
ปัจจุบันตลาดน้ำวัดไทร แม้จะเลิกราไปแล้วยังมีฝรั่งนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งถามหาและบอกให้บริษัททัวร์พาไปเที่ยวเป็นประจำ ดังนั้นจึงมีเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวล่องเรือไปเกือบทุกวัน ถึงจะไม่ได้ชมตลาดน้ำที่รุ่งเรืองในอดีตก็ยังได้กลิ่นอายของสวน และชมชีวิตชาวบ้านตามแนว 2 ฟากคลองไปบ้างก็ยังดี
การที่ชาวสวนทั่วไปย่านฝั่งธนบุรีนำของสวนมาขายบริเวณตลาดน้ำ ก็สืบเนื่องมาจากการคมนาคมเป็นปัจจัยหลัก หากสำรวจเส้นทางเดินเรือตามแนวคลองจะพบว่าคลองสนามชัยนี้เป็นคลองที่ยาวกว่า 10 กม.
ซึ่งเริ่มแถวคลองภาษีเจริญ บางกอกใหญ่ ไปออกทะเลที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร โดยมีคลองสาขาหรือคลองซอยมาเชื่อมต่ออีกจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น คลองดาวคะนองมาเชื่อมคลองบางมด คลองบางมดก็มาเชื่อมกับคลองสนามชัยที่หน้าวัดไทร ดูเหมือนจะเป็นชุมทางทางเรือไปเลย
ในขณะที่การคมนาคมทางบกก็มีทางเกวียน ทางรถไฟสายแม่กลองมหาชัย วงเวียนใหญ่ ผ่านหลังวัดไทรพอดี จึงสะดวกสำหรับผู้ซื้อที่เดินทางมาทางบก ทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้การค้าที่ตลาดน้ำวัดไทรเจริญรุ่งเรืองดังเป็นพลุแตก จนกลายเป็นแหล่งที่ต้องมาเที่ยว ฝรั่งมังค่ามาเที่ยวเมืองไทยไม่ได้ไปตลาดน้ำวัดไทรก็เหมือนว่ามาไม่ถึงเมืองไทยนั่นทีเดียว
การที่ชาวสวนและนักท่องเที่ยวต่างก็มีเป้าหมายที่ตลาดน้ำวัดไทรเหมือนกัน ทำให้การจราจรทางน้ำติดขัด จนกระทั่งต้องมีตำรวจจราจรทางน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินเรือในคลองแห่งนี้ ความที่เรือจอดกันหนาแน่นมากดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้คนที่จะข้ามฟากไม่ต้องเสียเวลาไปข้ามสะพาน แต่เดินข้ามจากเรือลำหนึ่งไปยังอีกลำหนึ่งได้สบาย
นี่คือภาพตลาดน้ำวัดไทร ที่กลายเป็นตำนาน