เบื้องลึก "เขาหัวโล้น" น่าน...เมื่อชาวบ้านติดกับดัก "ข้าวโพด"
คำอธิบายเบื้องลึก เบื้องหน้า เบื้องหลังของของพืชชนิดนี้ และภาพดราม่าภูเขาหัวโล้น
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
บ่อยครั้งที่เราเห็นภาพภูเขาหัวโล้นอันน่าหดหู่และไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตาปรากฏขึ้นทางสื่อมวลชน พร้อมกับคำสบถในสังคมมากมาย แต่กลับไม่มีคำอธิบายเบื้องลึก เบื้องหน้า เบื้องหลังของพืชชนิดนี้
อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง..
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจสำคัญ..จังหวัดน่าน
จะเข้าใจภาพภูเขาหัวโล้นขนาดกว้างใหญ่ไพศาลมากขึ้นเมื่อเห็นความสำคัญและความต้องการของตลาดอาหารสัตว์
โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ร้อยละ 85 ของประชากรทั้งจังหวัดน่านมีรายได้จากภาคเกษตร และพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกมากที่สุดก็คือ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” รอบการผลิตปี 2557/2558 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดจำนวนทั้งสิ้น 7.9 แสนไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกพืชทั้งจังหวัด 1.4 ล้านไร่ โดยมีผลผลิตที่ได้รวมทั้งสิ้นกว่า 4 แสนตัน
ทำไมต้องปลูกข้าวโพด...
ประยงค์ ดอกลำไย นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า ความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี นโยบายและมาตรการส่งเสริมของภาครัฐมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ยางพารา) ปีพ.ศ. 2553 โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีพ.ศ. 2552 และโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ปีพ.ศ. 2548 รวมทั้ง โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร นอกจากนั้น ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นเชิงเขา ยังเอื้อต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ใช้น้ำน้อย แต่ให้ผลผลิตสม่ำเสมออีกด้วย ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้เกษตรกร ยกข้าวโพดเป็นตัวหลักที่คอยสร้างเม็ดเงินให้กับครอบครัว
พาโชค พงษ์พานิช จากสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เคยกล่าวถึงความความสำคัญของข้าวโพดต่อเศรษฐกิจประเทศไทยตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการปลูก นั้นมีมูลค่าสูงถึง 2,500 ล้านบาท/ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากเมล็ดพันธุ์มูลค่าดังกล่าวนั้น เป็นผลผลิตที่มีมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท/ปี และผลผลิตดังกล่าว ที่จะผ่านผู้รวบรวมทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้นมีมูลค่าถึง 300,000 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ส่งออกหรือบริโภคคิดเป็นมูลค่าอีกกว่า 1 ล้านล้านบาท
“เห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นน้ำที่มีการนำเข้าเมล็ด ไปถึงเกษตรกรนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 15 เท่า เมื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มูลค่าเพิ่มเป็น 20 เท่า และออกมาเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรส่วนหนึ่ง” พาโชค กล่าวและทำให้เห็นว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวมาก
ชาวบ้านหนีออกจากข้าวโพดไม่ได้
เมื่อทุกอย่างเอื้อต่อข้าวโพด เกษตรกรจึงออกจากวงจรการผลิตนี้ได้ยาก
ชายผิวคล้ำเเดด บุคลิกใจดี “เอนก จาวนา” คณะกรรมการสมาพันธ์สมาคมผู้ปลูกข้าวโพด จ.น่าน ระบายให้ฟังว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดภาพภูเขาหัวโล้นขึ้น แต่การจะหลุดออกจากวงจรข้าวโพด ลำพังแค่ชาวบ้านอย่างเดียวอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้
“ไม่ใช่ว่าอยากปลูก แต่ให้ปลูกอย่างอื่นมันเสี่ยง อย่างยางพารา รัฐบาลอุดหนุนต้นพันธุ์แม่พันธ์ใหม่ ต้องรอผลผลิตถึง 7 ปี ราคาก็ไม่แน่นอน ที่ฝันว่า 40 บาทจะอยู่ได้ แต่ตอนนี้มันแค่ 20 กว่าบาท อยู่ไม่ไหว ผิดกับข้าวโพดที่มีโครงการประกันราคา มีบัตรเครดิตเกษตรกรให้ใช้จ่าย มีตลาดรองรับ ขายง่าย มีคนรับซื้อถึงไร่ เพราะความต้องการสูง พื้นที่ของบ้านเราก็เหมาะสม ไม่ใช่ชาวบ้านไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแล้วไม่มีคนซื้อ”
อย่างไรก็ตามเกษตรกรหนุ่มใหญ่ยอมรับว่า รายได้จากการปลูกข้าวโพดนั้นลดลงทุกปี เนื่องมาจาก ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และมีความกังวลในอนาคตหลังประชาคมอาเซียน เมื่อผลผลิตต่างๆ จากต่างประเทศ จะแห่เข้ามาเป็นตัวเลือกในระบบอุตสาหกรรม ทำให้หลายหมู่บ้านเริ่มทดลองปรับพื้นที่บางส่วนรองรับพืชชนิดอื่นบ้างแล้วเช่นกัน
“ต้นทุนของจังหวัดน่านสูงกว่าจังหวัดอื่นในภาคกลาง ตัวอย่างเช่น ต้องมีการเผาซังตอหลังการเก็บเกี่ยว เพราะพื้นที่ดอนนั้นไม่สามารถทำการไถกลบได้เหมือนกับพื้นที่ราบ ขณะเดียวกันดินก็สูญเสียเเร่ธาตุสารอาหารออกไปทุกปี ทำให้ดินขาดเเคลนความอุดมสมบูรณ์ ยิ่งปลูก ยิ่งอ่อนแอ หมดภูมิคุ้มกัน ผลผลิตลดน้อยลง ต้องซื้อปุ๋ยหรือยาฆ่าเเมลงมาใส่เสริมลงไปไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ต้นทุนส่วนใหญ่หมดไปกับปัจจัยภายนอก ที่ต้องใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มผลผลิต”
ประยงค์ ดอกลำไย นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บทสรุป ภูเขาหัวโล้นเกิดขึ้นเพราะทุกคน
หลังจากลงพื้นที่ ศึกษา และรับฟังเสียงชาวบ้านตลอดระยะเวลา 3 วัน ประยงค์ นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวสรุปว่า ป่าเมืองนานไม่ได้พึ่งหายไปเพียงแค่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่กลับมีความเสื่อมโทรมมาไล่ตั้งแต่ยุคสมัยเปิดสัมปทานป่าไม้ปี 2512 ยุคคอมมิวนิสต์ และกระทั่งล่าสุด ยุคพืชเศรษฐกิจ
“ข้าวโพดได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน ด้วยความต้องการผลผลิตสูงจากภาคอุตสากรรม ทำให้ชาวบ้านเลือกที่จะเปิดใช้พื้นที่พร้อมๆกัน จนกลายเป็นว่าที่ดินทุกแปลงถูกเปิดใช้งาน เป็นที่มาของภาพเขาหัวโล้น ความเสื่อมโทรมของพื้นที่เนื่องจากสารเคมีชนิดต่างๆ เมื่อพื้นที่เดิมเสื่อมหรือให้ผลผลิตไม่เพียงพอ หลายคนเลือกที่จะรุกล้ำเข้าไปปลูกในพื้นที่ป่ามากขึ้น”
ประยงค์ บอกว่า เมื่อข้าวโพดเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนตั้งแต่รัฐบาล เอกชน เกษตรกร ไปจนถึงผู้บริโภค หากจะแก้ปัญหานี้ทุกภาคส่วนก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ จะมากน้อยแค่ไหนก็ต้องศึกษา แต่ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม ชาวบ้านไม่ปฎิเสธว่า ข้าวโพดสร้างผลกระทบ แต่เขาต้องมีส่วนร่วมในการคิดหาทางออกด้วย
“สิ่งที่ทุกคนรับร่วมกันก็คือผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เมื่อชาวบ้านเริ่มตระหนักแล้วว่า ถ้าปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ไม่รอดแน่ ทั้งเรื่องระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจ ตลอดจนภาพลักษณ์ของตัวเอง ฉะนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดต้องตระหนักให้มากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีทางเลือกน้อยกว่า และแทบไม่มีทางหลุดไปจากวงจรนี้”
ที่มาของดอยหัวโล้นทั้งหลาย ถ้าไม่ปลูกข้าวโพด จะเปลี่ยนเป็นอะไร หากจะปลูกไม้เศรษฐกิจอื่นๆ จะต้องทำอย่างไร จะเปลี่ยนข้าวโพดเป็นสวนป่าได้ไหม นโยบายและกฎหมายต้องแก้ให้สอดคล้องกัน ต้องชักจูงหรือทำให้เขาสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตได้ ยังตอบไม่ได้ว่า รูปแบบการผลิตที่เหมาะสมเป็นอย่างไร แต่จำเป็นต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย และต้องมีหลักประกัน มีการแก้ไขกฎหมายและนโยบายเพื่อเอื้อให้ชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนการผลิต”
ประยงค์ บอกทิ้งท้ายถึงความท้าทายที่กลายเป็นความกังวลของชาวบ้านคือ “มาตราการทวงคืนฝืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ที่กำลังสร้างปัญหาใหม่ เพราะจะเกิดอะไรขึ้นหากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ประกาศไม่รับซื้อข้าวโพด ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
“เมื่อทัศนคติของคนทั้งประเทศมองว่า ชาวบ้านคือผู้ร้าย ก็ง่ายต่อรัฐที่จะทวงคืนผืนป่า ซึ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด กำลังจะถูกลอยแพร เพราะบริษัทมีทางเลือกจากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่เสียภาษีมากขึ้นจากการเปิดเออีซี รัฐบาลวางทางออกไว้อย่างไร เป็นเรื่องที่เกษตรกรหนักใจ”
ภูเขาหัวโล้นเกิดจากเกษตรกรชาวน่านหรือไม่.. ก็ต้องตอบว่า ใช่ เเต่ ผู้รับผิดชอบนั้น ไม่ควรจะเป็นแค่พวกเขา เนื่องจากชาวบ้านทำเกษตรตอบสนองตลาด ตลาดที่ถูกกำหนดโดยนายทุนเเละผู้บริโภคอย่างเราๆ