"สร้างไม่ดี-ใช้ผิดประเภท"ชำแหละต้นเหตุ"ทางเท้า"ไทยทำไมห่วย
หาคำตอบสาเหตุความทรุดโทรมของ "บาทวิถี" โครงสร้างพื้นฐานสุดใกล้ตัว
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
“ทรุดโทรม เป็นหลุมเป็นบ่อ สกปรก เลอะเทอะ” กลายเป็นคำจำกัดความของทางเท้าเมืองไทย
ไม่นานมานี้ยังถูกชาวต่างชาติบ่นประจานผ่านเฟซบุ๊กด้วยว่า อิฐตัวหนอนที่ปูบนทางเท้าในกรุงเทพฯ นั้นเปรียบเสมือนกับระเบิดน้ำ ที่เหยียบเมื่อไหร่น้ำเน่าพุ่งขึ้นมาทันที
คำถามมีอยู่ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้การเดินเท้าของประชาชนอย่างเราช่างยากลำบากเสียเหลือเกิน ชีวิตจะได้มีโอกาสได้เดินอย่างสบายอกสบายใจบนทางเท้าพื้นผิวดีๆ บ้างไหม
ใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ตัวการทำทางเท้าพัง
ธิติ ทรงเจริญกิจ ผอ.สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ กรุงเทพมหานคร ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับทางเท้าคนเมือง ตั้งแต่การออกเเบบ ก่อสร้าง เเละบำรุงรักษา ตลอดจนสาเหตุการทรุดโทรมของทางเท้าให้ฟังว่า ปัจจัยที่ทำให้ฟุตปาธ-ทางเท้าเสียหายนั้นมีอยู่ด้วยัน 2 สาเหตุหลัก ดังนี้
1.กายภาพและการพัฒนาสาธารณูปโภค
สภาพดินของกรุงเทพมหานครเป็นดินเหนียวอ่อน และเกิดการทรุดตัวได้ง่ายกว่าในหลายเมืองทั่วโลก เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นชั้นหินเก่า ขณะเดียวกันการซ่อมแซมพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งไฟฟ้า ประปา ป้ายบอกเส้นทาง เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ทำการขุดเจาะ เปิดพื้นที่ให้กับสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดินแล้วทำการซ่อมคืน มักทำได้ไม่สมบูรณ์และใช้งานได้ดีดังเดิม ส่วนการก่อสร้างที่อาจต่ำกว่ามาตรฐานของผู้รับเหมานั้นมีปัญหาน้อยมาก เนื่องจาก กทม.มีการกำหนดและควบคุมมาตรฐานอยู่แล้ว
2.การใช้งานผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งพบได้มากกว่า 80 เปอร์เซนต์
“บ้านเรายังมีการปล่อยให้ค้าขายได้บนทางเท้า ร้านอาหารกลายเป็นแหล่ง เทน้ำ ทิ้งเศษขยะลงบนฟุตบาทจนเป็นเรื่องปกติ ทำให้คราบน้ำต่างๆ ซึมเข้าไปลงในดิน สะสมนานเข้า กลายเป็นปัญหาทรุดตัวตามมา นอกจากนั้นยังมีพวกชอบขับและจอดจักรยานยนต์บนทางเท้าที่มีผลให้ทรุดโทรมเร็วกว่ากำหนด”
ธิติ กล่าวว่า ฟุตปาธที่เป็นลักษณะอิฐตัวหนอนหรือกระเบื้องปูนซีเมนต์นั้นมีอายุการใช้งานโดยปกติถึง 10 ปี แต่เนื่องจากปัจจัยข้างต้นทำให้ทุกวันนี้พบว่า เกิดความเสียหายอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นเสียงบ่นจากคนกรุง
“ปัจจุบัน กทม.ได้ปรับเปลี่ยนฟุตปาธจากอิฐตัวหนอนเป็นกระเบื้องซีเมนต์สี่เหลี่ยมแล้วในหลายพื้นที่ เนื่องจากเหมาะสมกับการใช้งาน ติดตั้งได้รวดเร็วและมีความเรียบกว่าตัวหนอน เวลาเกิดการทรุดตัวก็สร้างความลำบากให้ผู้ใช้น้อยกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อเจอการใช้งานผิดวัตถุประสงค์ก็ไม่สามารถทนต่ออาการทรุดและเสื่อมโทรมได้อยู่ดี”
ชาวกรุงหลายคนบอกว่า ไหนๆ ก็ทรุดตัวเสียหายบ่อยครั้งแล้ว ทำไมไม่เทคอนกรีตเรียบๆ ทำทางเท้าเสมือนถนนไปเลย ?
ผอ.สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ ตอบว่า การเทคอนกรีตลักษณะดังกล่าว ใช้เวลาในการทำงานนานกว่า ที่สำคัญยังมีปัญหาเมื่อถึงยามแก้ไขหรือเพิ่มเติมสาธารณูปโภค ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมากกว่ารูปแบบปัจจุบัน เนื่องจากต้องทุบพื้นทิ้ง
ส่วนความเข้าใจและเสียงนินทาที่ว่า กทม.ชอบ ปูๆ รื้อๆ เพื่อผลาญงบประมาณนั้น ผู้ดูแลรายนี้ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนอยากก่อสร้าง ซ่อมแซม และโดนประชาชนด่าทออยู่แล้ว
“ขอชี้แจงว่าขั้นตอนการก่อสร้างและวัสดุที่ใช้นั้นมีมาตรฐาน เหมาะสมกับการใช้งานและงบประมาณที่ได้รับแน่นอน เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ฟุตปาธกทม. มีการใช้งานที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์จริง หากไปดูเมืองที่สวยงามทั่วโลกในต่างประเทศ จะพบว่า เขามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และฝ่าฝืนกันน้อยมากแทบไม่มีเลย ผิดกับเมืองไทย ทางออกของเรื่องนี้ก็คือ นอกจากก่อสร้างให้เรียบร้อยตามหลักการแบบแผนแล้วประชาชนทั่วไปก็ต้องใช้งานให้ถูกต้องด้วย”
รถยนต์ส่วนบุคคลขึ้นมาจอดบนฟุตปาธเพื่อมาทานอาหาร
ขาดความใส่ใจ วางแผน เเละพัฒนา
รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายว่า การก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมนั้นมีอยู่ 5 ขั้นตอน เริ่มจากวางแผน ออกแบบ ก่อสร้าง บำรุงรักษา และควบคุมดูแลให้สามารถใช้งานได้ตามจุดประสงค์
“จะก่อสร้างให้ดี เราต้องเห็นความสำคัญของสิ่งนั้นก่อน ทางเท้าวันนี้เราอาจหลงลืมมันไป หลายพื้นที่เหมือนเป็นที่หลบมากกว่าที่เดิน”
รศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ทุกอย่างต้องคำนึงถึงประชาชน หากมองจากสภาพความเป็นจริง การออกแบบอาจจะมองแค่เรื่องการเดินเท้าไม่ได้อีกแล้ว ต้องมองไปถึงประเด็นการใช้สอยที่ดินของประชาชนรอบข้างด้วย ที่ผ่านมาเราไม่ได้เตรียมแผนนี้ไว้ มีประชาชนที่ต้องการค้าขายริมทางจำนวนมาก เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่า จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา รวมไปถึงการทรุดโทรมของพื้นที่ด้วย
“ผมเชื่อว่าเราจัดการทางเท้าให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงได้ สมัยก่อนประเทศสิงคโปร์เคยมีสภาพรกๆ แบบเรา แต่พวกเขาเลือกที่จัดที่ทางให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า จนสุดท้ายก็เป็นระเบียบเรียบร้อย”
ผู้เชี่ยวชาญด้านโยธา ระบุทิ้งท้ายว่า ความสำเร็จนั้นเป็นไปได้แน่นอน เพียงแต่ต้องช่วยกันหลายฝ่าย ไล่ตั้งแต่ผู้ออกแบบ และผู้ก่อสร้างที่ต้องใส่ใจ เข้าใจสภาพความเป็นจริง ปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งาน ขณะที่ผู้ใช้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำตามกฎระเบียบ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจก็หนีไม่พ้นที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ถ้าใส่ใจและเต็มที่กันครบทุกเครือข่าย เชื่อว่าลดปัญหาได้
“มันเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ไม่ยากเกินไป ในโลกนี้มีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทางเท้าที่ดีนั้นทำได้จริง เราไม่ได้กำลังพูดเรื่องเพ้อฝันอยู่ น่าตลกที่วันนี้คนทั่วไปเขาคุ้นเคยกับปัญหา และคิดว่าไม่มีใครมาแก้ให้หรอก งั้นเดินๆ หลบๆ เอาแล้วกัน”
ผู้รับเหมาฯชี้การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
แม้ทางกรุงเทพมหานครจะระบุว่า สาเหตุของความทรุดโทรมกว่า 80 % เกิดจากการใช้งานผิดประเภท
แต่ ปารเมฏฐ์ มั่งมี ผู้รับเหมาซึ่งเคยรับงานก่อสร้างทางเท้าในหลายพื้นที่ กลับเห็นต่างว่า ความเสียหายที่พบเห็นในกรุงเทพฯ 70 % เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่าเหตุผลเรื่องการใช้งานผิดประเภท
“ปัญหาฟุตบาทที่พบเห็นในกรุงเทพฯ เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งงานบาทวิถีของภาครัฐมีค่าแรงค่อนข้างถูก ผู้รับเหมาหลายรายเลือกใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน มีขั้นตอนปฎิบัติที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทั้งการลงทราย ปรับพื้นที่ และบดอัดพื้นผิว หรือในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับท่อน้ำทิ้งหลายแห่งพบว่าไม่มีการก่อปูนบล็อคที่ดี ทำให้ทรายไหลเข้าไปได้ หรือกรณีการติดตั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ประปา ป้ายโฆษณา พวกนี้ติดตั้งเสร็จก็ไม่ได้ซ่อมกลับไปเหมือนเดิม บางที ทำเสร็จก็เอาไปวางไว้แปะเฉยๆ พื้นตัวหนอนหรือแผ่นซีเมนต์พวกนี้พอหลุดออกจากกัน มันก็ลามไปเรื่อย”
ปารเมฏฐ์ บอกว่าการก่อสร้างทางเท้าที่ดี ต้องเริ่มจากการปรับพื้นที่โดยใช้ทรายหยาบเท่านั้น อัดลงไปไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตร ไม่ใช้ทรายเป็ด ซึ่งผู้รับเหมาชอบใช้เพราะมีราคาถูก มีลักษณะหลวม ยึดตัวไม่ดี เสี่ยงต่อการเสียหาย จากนั้นต้องบดอัดด้วยเครื่อง เพื่อให้พื้นแน่นเรียบ หลายแห่งมีการวางแผ่นกันทรายไหลด้วย ก่อนทำการเช็คระดับให้ดี ป้องกันเป็นแอ่งในภายหลัง จากนั้นค่อยปูตัวหนอนและเติมทราย กวาดและบดอัดอีกรอบ เพื่อให้ก้อนบล็อคแน่น แข็งแรงด้วยการประสานทราย ฝนตกขนาดไหน ก็ดิ้นไปไม่ได้
ส่วนการปูพื้นด้วยแผ่นคอนกรีตที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคปัจจุบันนั้น เป็นเพราะ สะดวก ทำได้รวดเร็ว ทรุดหรือเคลื่อนตัวยากกว่าตัวหนอน อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังในการเลือกวัสดุให้ดี
“หลายครั้งนายจ้างสั่งสเปคกระเบื้องซีเมนต์หนา 5 ซม. ผู้รับเหมาะลักไก่ ใช้แผ่นบาง แค่ 2 ซม. แค่นี้ปัญหาก็เกิดแล้ว ร่อนหลุดออกเป็นแผ่น แตกหักง่าย เป็นบ่อน้ำขัง บางรายกลัวเปลืองปูนเลยผสมทรายมากไปหน่อย การยึดเกาะก็ลงไป นานวันไปก็ ยวบยาบ ทรุดลงไปเรื่อย ต้นไม้บริเวณทางเท้าก็สำคัญมาก ในขั้นตอนการก่อสร้าง ต้องมีการขุดขอบ บล็อกโคนรอบต้นไม้ไว้ ฝังไปประมาณ 30 ซม. หากพบรากฝอยเสี่ยงต่อการทำลายทางเท้าก็ต้องบล็อกตัดแต่ง” ผู้รับเหมาเอกชนเปิดเผย
ฟุตปาธในพื้นที่ใกล้เเยกเกียกกาย เขตดุสิต พบว่ามีความเรียบ สะอาด กว่าในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ
ทางเท้าดี=ประเทศพัฒนา
“กายภาพของเมืองเป็นตัวขีดกรอบพฤติกรรมของผู้คน รวมทั้งหล่อหล่อม พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา เมืองเป็นตัวกำหนดสำนึกของคนในเมือง ส่งเสริมความสัมพันธ์ของผู้คนให้มีความเท่าเทียม และมีความประชาธิปไตยหรือว่าส่งเสริมความเหลื่อมล้ำและสูงต่ำของสังคม การออกแบบเมืองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกับอนาคตของเรา” เป็นประโยคของ ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบและพัฒนาผังเมือง (UddC) ที่กล่าวไว้ในงาน TEDxBangkok
หัวหน้าโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี บอกว่า เมืองน่าอยู่ในโลกใบนี้เป็นเมืองที่เดินได้และเดินดี หมายถึงว่า ผู้คนสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ เนื่องจากมีการออกแบบเมืองที่มีความกระชับ ผสมผสาน การใช้ประโยชน์ที่ดี จุดหมายปลายทางที่เราใช้ชีวิต ไม่ได้ว่าจะเป็น ที่ทำงาน เรียน กิน จับจ่าย หรือบริการ สาธารณะเช่น ขนส่งมวลชน สวนสาธารณะ อยู่ในระยะเดินถึงและเชื่อมต่อด้วยทางเท้าหรือพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ
หากมีการปรับเปลี่ยนเมืองให้เดินได้และเดินดี ประการแรก การศึกษาหลายชิ้น พบว่า พื้นที่ที่มีการออกแบบให้คนสามารถเดินไปไหนต่อไหนได้สะดวก คนในพื้นที่มีโอกาสลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ถึง 10 % จากกิจกรรมทางกายสูงและสามารถเผาผลาญแคลลอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่สองในมุมเศรษฐกิจ พบว่าเมืองที่มีการลงทุน พัฒนาปรับปรุงทางเท้า ทางจักรยาน โดยเฉพาะในย่านพาณิชย์ พบว่าดึงดูดให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอย และผลประโยชน์ตกกับร้านค้าเล็กๆ หรือโชห่วย เพราะคนเดิน คนขี่จักรยานมีโอกาส ความถี่สูงกว่าในการจับจ่ายมากกว่าคนขับรถ
ประการที่สาม เรื่องสังคม พบว่า ย่านที่อยู่อาศัยสามารถเดินได้ คนในพื้นที่มีแนวโน้มที่จะรู้จักย่านตัวเอง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มีความห่วงใยในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอาศัย และได้พบปะกับเพื่อนบ้าน เรื่องนี้สำคัญมาก เนื่องจากทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยและน่าอยู่ ขณะเดียวกันเมืองที่คนเดินเยอะ และมีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อให้คนเมืองมาพบปะเจอกัน มีแนวโน้มที่จะมีสำนึกของความเท่าเทียมสูง เพราะว่าคนเท่าเทียมกันเมื่อเวลาเดิน มีแนวโน้มว่าจะมีความอดทน อดกลั้นต่อความแตกต่างกับคนที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน ซึ่งนั่นคือรากฐานของความเป็นประธิปไตยเช่นกัน
ภาพทางเท้าอันสะอาดสวยงาม ในประเทศญี่ปุ่น จากเพจ JapanPerspective
“เมืองเดินได้ เดินดีไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ต้องการการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และการวางแผนอย่างสำคัญ อย่างเช่น กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในอดีตเจ็บป่วยด้วยปัญหาจราจรและมลภาวะทางอากาศ เหมือนกรุงเทพบ้านเรา แต่เมื่อประมาณ ค.ศ. 1960 เทศบาลเมือง ริเริ่มนโยบายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นั่นคือเมืองเดินได้ โดยปรับปรุงทางเท้า ทางจักรยาน พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในขณะเดียวกัน ค่อยๆ ลดจำนวนปริมาณรถยนต์ จนในปัจจุบันโคเปนเฮเกนติดอันดับต้นๆ ของเมืองน่าอยู่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก”
ผศ.ดร.นิรมล มองว่า นโยบายที่ผ่านมาของกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่าการเดินเท้า กลายเป็นเมืองที่พึ่งพารถยนต์อย่างเต็มรูปแบบ จากการศึกษาพบว่า คนกรุงเทพบางคนใน 1 ปี ใช้เวลาอยู่ในรถยนต์ถึง 800 ชั่วโมง หรือ 1 เดือนกับอีก 3 วัน
“เวลาออกไปเดินถนนเหมือนออกรบ ถนนคือสมรภูมิที่ต้องเอาชีวิตรอด เปิดประสาทสัมผัสทั้ง 6 ให้ไวต่อภัยอันตรายที่อาจมาถึงเมื่อไหร่ก็ได้ ความสำคัญรถยนต์ย่อมมาก่อนเสมอ ดูจากช่องทางจราจร ที่ใหญ่กว่าทางเท้ามาก รวมถึงสะพานลอยที่เป็นหลักฐานสำคัญที่เรายอมจำนนกับรถ ออกแบบให้คนปีนหลบเพื่อให้รถไปได้เร็ว สภาพทางเท้าก็ไม่สู้ดี มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีความต่อเนื่อง ที่น่าตกใจคือ ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคนกรุงเทพนั้นสูงกว่าเมืองหลวงในภูมิภาคอาเซียน โดย 1 ใน 5 ของรายจ่ายถูกแบ่งให้กับค่ารถและค่าน้ำมัน”
ภาพทางเท้าอันสะอาดสวยงาม ในประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้งานวิจัยจากศูนย์การออกแบบและพัฒนาผังเมืองและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี สำรวจคนกรุงเทพฯ จำนวน 1,111 คน พบว่า คนกรุงพร้อมที่จะเดินทางด้วยเท้า โดยระยะทางที่พร้อมจะเดินคือ 800 เมตร หรือ 10 นาที ซึ่งสูสีกับญี่ปุ่นที่ 820 ม. อเมริกา 805 ม. และชนะฮ่องกงที่ 600 ม.
“งานนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพพร้อมเดิน และจำนวนมากที่เดินอยู่ อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่ทำให้คนกรุงไม่เดิน คือ สิ่งกีดขวาง ขาดร่มเงา แสงสว่างไม่เพียงพอ ทางเท้าสกปรกหรือเป็นหลุมบ่อ ถ้าเราแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เราจะอนุมานได้ว่า ระยะทางเดินของคนกรุงจะเพิ่มขึ้น และจำนวนคนเดินจะเพิ่มขึ้นด้วย”
ผศ.ดร.นิรมล ทิ้งท้ายว่า ความเจริญของเมืองเราคงไม่ได้วัดกันที่พิสัยบน อย่างคือ ตึกสูง ห้างสรรพสินค้าใหญ่โต แต่จริงๆ แล้วความเจริญของเมืองวัดที่พิสัยล่าง บริการสาธารณะที่ทำให้คนในเมืองสามารถใช้ได้อย่างทั่วถึงไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ และใช้ได้อย่างมีความสุข กรุงเทพเป็นเมืองเดินได้อย่างแน่นอน ขอแค่เปลี่ยนกระบวนทัศน์และนโยบายในการพัฒนา ให้ส่งเสริมการเดินมากขึ้น เราน่าจะร่วมกันผลักดันให้ผู้นำที่มีอำนาจในการพัฒนาเมืองได้หยิบเอาวาระของการเดิน เป็นวาระต้นๆ ของการพัฒนาเมือง
ถึงเวลาแล้วที่ทางเท้าจะต้องกลายเป็นวาระแห่งชาติ น่าสนใจว่าผู้มีอำนาจคนใดจะเป็นผู้ขับเคลื่อนพื้นฐานการเดินทางของคนกรุงอย่างแท้จริง
ภาพทางเท้าอันสะอาดสวยงาม ในประเทศญี่ปุ่น จากเพจ JapanPerspective
ภาพทางเท้าอันสะอาดสวยงาม ในประเทศญี่ปุ่น จากเพจ JapanPerspective
ทางเท้าประเทศไทย ย่านคลองเตย
ทางเท้าประเทศไทย ย่านคลองเตย