เรื่องเล่าจากบทสนทนาธรรม ในหลวงกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เกจิอีสานใต้
ในฐานะพุทธมามกะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ชื่อว่าทรงศึกษาพระธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติจนแตกฉาน เห็นได้จากการเยี่ยมสักการะและสนทนาธรรมกับพระอริยสงฆ์หลายรูป
โดย...นพรัตน์ กิ่งแก้ว
ในฐานะพุทธมามกะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้ชื่อว่าทรงศึกษาพระธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติจนแตกฉาน ซึ่งจะเห็นได้จากการเยี่ยมสักการะและสนทนาธรรมกับพระอริยสงฆ์หลายรูป ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ
ในความทรงจำของ พระราชวรคุณ หรือหลวงปู่โพธิ์ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ รูปปัจจุบัน ซึ่งเคยทำหน้าที่พระเลขาฯ ของ พระราชวุฒาจารย์ หรือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์ ประชาชนในแถบอีสานใต้ให้ความเคารพศรัทธา ได้เล่าถึงครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมหลวงปู่ดูลย์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2522
ในครั้งนั้นในหลวงภูมิพลเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรชายา (พระยศในขณะนั้น) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
“พสกนิกรที่ทราบข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาต่างตื่นเต้นและมากันที่วัดเป็นจำนวนมาก แม้ว่าการเสด็จฯ ในครั้งนั้นจะเป็นการเสด็จส่วนพระองค์”
หลวงปู่โพธิ์ เล่าว่า หลังจากมีพระราชปฏิสันถารถึงสุขภาพพลานามัยของหลวงปู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาให้หลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาและทรงบันทึกเทปไว้ด้วย เมื่อหลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาย่อๆ ถวายจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนทนาธรรมะข้ออื่นๆ พอสมควรแก่เวลา แล้วทรงถวายจตุปัจจัยแก่หลวงปู่ แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ
หลวงปู่โพธิ์ เล่าว่า หัวข้อสนทนาธรรมระหว่างในหลวงภูมิพลและหลวงปู่ดูลย์ในครั้งนั้น คือทรงถามเรื่องการสละกิเลส หลวงปู่ท่านถวายวิสัชนาว่า กิเลสเกิดขึ้นที่จิต กิเลสใดเกิดขึ้นมาก่อนให้ละข้อนั้นก่อน จากนั้นได้สนทนาธรรมในเรื่องต่างๆ จนกระทั่งก่อนจะเสด็จฯ กลับได้ดำริกับหลวงปู่ ให้หลวงปู่ดำรงขันธ์อยู่เป็นเวลานานเป็นร้อยๆ ปี เพื่อประโยชน์สุขของพลเมือง หลวงปู่ตอบไป แล้วแต่สังขาร ก็เป็นไปตามธรรมดา
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านทรงกราบไหว้พระอริยสงฆ์ในหลายพื้นที่ ซึ่งพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่าน ทรงสนพระทัยในเรื่องธรรมะปฏิบัติ และแสวงกราบไหว้ครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานผู้มีความละเอียดอ่อนในกระแสธรรมหลายองค์ แสดงถึงตลอดพระชนม์ชีพพระองค์ท่านมีความซาบซึ้งในคุณธรรม หรือในกระแสธรรมต่างๆ จากพระราชดำรัส ณ ที่ใดที่หนึ่ง เหมือนนพรัตน์ที่เจียระไนเสร็จแล้ว มีคุณค่าแก่การเชื่อถือ และปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นพระองค์ทรงเป็นผู้แตกฉาน ทั้งฝ่ายปริยัติปฏิบัติ หรือข้ออัฐข้อธรรม เข้าใจหลักลึกซึ้งอย่างแท้จริง จากการที่ทรงสนพระทัย หรือฟังครูบาอาจารย์มาตลอดตามเวลาที่พระองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่ ซึ่งเราก็ยอมรับว่าพระองค์ทรงซาบซึ้ง แตกฉานทั้งทางโลกและทางธรรม หรือทางปริยัติปฏิบัติเป็นอย่าง ยิ่งหาได้ยาก” หลวงปู่โพธิ์เล่าถึงความแตกฉานเข้าใจในธรรมของในหลวงภูมิพล ซึ่งเป็นที่ประจักษ์จากการได้ฟังการสนทนาธรรมกับหลวงปู่ดุลย์
หลวงปู่ดูลย์นั้นได้รับการยอมรับจากสาธุชนทั้งหลายว่าเป็นพระอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งรูปหนึ่ง เป็นชาว จ.สุรินทร์ สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรกของ จ.อุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ เนื่องจากวัดสุทัศน์ สถานที่ศึกษาใน จ.อุบลราชธานี เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายในปี 2461
ในพรรษาต่อมาหลวงปู่ดุลย์ได้มีโอกาสพบ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอริยสงฆ์สายวิปัสนาธุระ เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวจากพระอาจารย์มั่นก็เกิดความอัศจรรย์ใจ จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่นไปยังที่ต่างๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่ดูลย์เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ต่อมาเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาขอให้หลวงปู่ดุลย์กลับ จ.สุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม หลวงปู่จึงจำต้องระงับกิจธุดงค์ และเริ่มงานบูรณะตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงปู่ได้อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง
หลวงปู่โพธิ์เล่าอีกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ พบหลวงปู่ดูลย์เป็นครั้งที่ 2 เมื่อครั้งหลวงปู่อาพาธเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2526 เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เยี่ยมหลวงปู่ ทรงสนพระทัยไต่ถามอาการของหลวงปู่ด้วยพระปริวิตก เกรงว่าหลวงปู่จะไม่ปลอดภัยในครั้งนี้ เมื่อทรงทราบว่าหลวงปู่มีอาการดีขึ้นมากแล้ว ก็ทรงคลายความเป็นห่วง ทรงสนทนากับหลวงปู่พอสมควรแก่เวลา ทรงถวายจตุปัจจัยไทยทานแก่หลวงปู่และพระภิกษุสามเณร ตลอดจนศิษย์ที่อยู่รักษาพยาบาลโดยทั่วหน้ากัน แล้วจึงเสด็จฯ กลับ และเสด็จฯ เยี่ยมอีกครั้งในวันที่ 12 มี.ค. 2526
และครั้งสุดท้ายเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ ที่วนอุทยานเขาสวาย ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2528
ไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดศาสตร์พระราชา ซึ่งพระราชทานเป็นแนวทางแก่พสกนิกรจะได้รับการยอมรับในระดับโลก นั่นเพราะเป็นศาสตร์ เป็นแนวทางที่กอปรขึ้นจากธรรม ที่ี่ทรงศึกษาจนแตกฉานและประยุกต์มาเป็นแนวทางพระราชทานแก่ปวงพสกนิกร