posttoday

ธรรมนัส-นฤมล ร่วมเปิดงานศิลปะช้างฟื้นท่องเที่ยวเชียงใหม่

13 มีนาคม 2564

เชียงใหม่-ธรรมนัส-นฤมล ร่วมเปิดงาน Art for elephant ณ เชียงใหม่ อาร์ต มิวเซียม ฟื้นท่องเที่ยวไทย หลังเจอผลกระทบโควิด-19

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเปิดงาน Art for elephant ณ เชียงใหม่ อาร์ต มิวเซียม ต.บ้านสหกรณ์ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการประมูลภาพและผลงานทางศิลปะในการระดมทุนช่วยเหลือช้างที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเลี้ยงช้างและช้างกว่า 300 เชือกในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda, Ambassador of Switzerland เอกอัครราชทูต สมาพันธรัฐสวิสประเทศไทย ให้เกียรติร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเรา ในสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ การแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทยทั้งแผ่นดินทำให้วิถีชีวิตคนไทยต้องเปลี่ยนไปและหลายอาชีพได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว ดังนั้นการท่องเที่ยวเชิงใช้ช้างเป็นพาหนะ หลายครอบครัวต้องได้รับความเดือดร้อน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี และรู้สึกว่าเรามีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนอะไรหลายๆอย่าง อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือปางช้าง ตนจะกลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูอีกครั้งในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร หวังว่ากิจกรรมการกุศลครั้งนี้จะบรรลุผลตามที่หวังไว้ทุกประการ

ธรรมนัส-นฤมล ร่วมเปิดงานศิลปะช้างฟื้นท่องเที่ยวเชียงใหม่

ด้านศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ไม่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผู้เลี้ยงช้างไม่มีงาน ขาดรายได้ บางรายต้องหาอาชีพเสริมด้านอื่นเพื่อหารายได้ในการดูแลครอบครัว ส่วนช้างที่อยู่ในระบบการท่องเที่ยวก็ได้รับความเดือดร้อน ขาดแคลนทั้งอาหารและยา ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤต การจัดงานในวันนี้จึงเป็นการช่วยเหลือช้างโดยการประมูลภาพวาดของศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงโชว์ของช้าง กิจกรรมถ่ายภาพ วาดรูป การจำหน่ายสินค้าราคาถูก เพื่อนำรายได้ช่วยเหลือช้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งในวันนี้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมงานโครงการ “ช้างรอดเพราะเราช่วย” โดยมีการจัดแสดงผลงานผู้เข้ารับการฝึกอาชีพเสริม(ผู้สูงอายุ) สาขา ปักผ้าเบื้องต้น รุ่นที่ 1 จากกลุ่มวิสาหกิจทศลักษเกษตรและกลุ่มหัตถกรรมในอำเภอสันกำแพง พร้อมนำสินค้ามาจำหน่ายเพื่อหารายได้ร่วมสมทบทุนช่วยช้างส่วนหนึ่ง รวมถึงนำแรงงานผู้สูงอายุ มาจัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริม การปักผ้าเบื้องต้น รุ่นที่ 2 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้เห็นขั้นตอนและวิธีการปักผ้าในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ยังจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการสมัครฝึกอบรมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีหลายหลักสูตรที่สามารถบริการประชาชนได้

พร้อมกันนี้ ได้รับรับฟังการนำเสนอข้อมูลจากมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตหัวข้อ Skills 4 Life on Swiss apprenticeship Skills 4 life โดย H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda, Ambassador of Switzerland เกี่ยวกับหลักสูตร Technical and Vocational Education and Training (TVET) ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ทักษะทางอาชีพจากหน่วยงานภาคเอกชนหลากหลายสาขาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 240 สายงาน เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้ที่เข้าสู่หลักสูตรนี้ยังสามารถเข้าร่วมการฝึกอบรมทางวิชาการ เพื่อเพิ่มเติมความรู้ที่จะนำไปประกอบกับทักษะทางอาชีพที่ได้รับจากการฝึกทำงานจริงกับหน่วยงานเอกชนและมีโอกาสสูงในการได้รับการจ้างงาน เนื่องจากมีทักษะที่บริษัทนั้น ๆ ต้องการโดยตรง นับเป็นปัจจัยสำคัญในการลดอัตราการว่างงานได้เป็นอย่างดี

รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กพร. กระทรวงแรงงาน สามารถให้ความช่วยเหลือเพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงช้างและอาชีพอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ในหลักสูตร “เทคนิคการสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว” เพื่อให้กลุ่มผู้เลี้ยงช้างสามารถนำเสนอในรูปแบบออนไลน์ เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของช้าง เพื่อบริการนักท่องเที่ยว หรือเพื่อเชิญชวนเข้ามาท่องเที่ยวในท้องถิ่นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้ การสร้างแนวคิด สร้างสรรค์ผลการและเทคนิคเพื่อการนำเสนอ ช่วยให้มองเห็นทิศทางในการประกอบอาชีพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมอีกหลายหลักสูตร สามารถติดตามได้ที่ www.dsd.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 กด 4