posttoday

เคยมีมาแล้ว ย้อนประวัติศาสตร์ลดพระอิสริยยศพระราชชายา

21 ตุลาคม 2562

มีเหตุการณ์ที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงขัดเคืองพระทัย จึงทรงลดพระอิสริยยศลง นับเป็นเหตุการณ์ลดพระอิสริยยศของฝ่ายในครั้งสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระภรรยา 3 พระองค์และพระคู่หมั้น หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เดิมนั้นทรงมีสถานะว่า "สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี" แต่เพราะมีเหตุการณ์ที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงขัดเคืองพระทัย จึงทรงลดพระอิสริยยศลง นับเป็นเหตุการณ์ลดพระอิสริยยศของฝ่ายในครั้งสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

มีสาเหตุที่ทรงถูกลดพระอิสริยยศจากพระบรมราชินีมาเป็นพระวรราชชายามีหลายประการ แต่เหตุการณ์ที่เป็นเหตุสำคัญอาจเกิดขึ้นเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซ้อมละครเรื่องพระร่วง ครั้งนั้น ในบทบาทการแสดงต้องมีการแตะเนื้อต้องตัวกันระหว่างนายมั่นแสดงโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสาวใช้ของนางจันทร์แสดงโดยคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ภาพนั้นคงไม่สบพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี จึงทรงกระทืบพระบาท และโปรดให้ข้าหลวงของพระองค์ โห่ฮาและใช้เท้าตบพื้นพระที่นั่ง แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยุดการซ้อม และเสด็จขึ้นทันที

เคยมีมาแล้ว ย้อนประวัติศาสตร์ลดพระอิสริยยศพระราชชายา สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

ขณะนั้น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีมีพระชันษาเพียง 21 ปี เป็นธรรมดาที่จะมีพระอาการหึงหวงต่างๆ และหลายครั้งก็ไม่ทรงสามารถเก็บกลั้นพระอารมณ์ได้ เช่น ทรงขอพระบรมราชานุญาตกลับพระนครก่อน ทำให้ต้องตระเตรียมเรือพระที่นั่งอย่างฉุกละหุก และอีกครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้คุณสุวัทนากราบพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระองค์ก็ทรงชักพระบาทหลบและเบือนพระพักตร์ เหตุเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระทัย (กัลยา, หน้า 231)

ไม่เพียงแต่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีเท่านั้น ยังมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือกรณีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี อดีตพระคู่หมั้น และเคยได้รับการสถาปนาเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

แต่มีพระบรมราชโองการให้ถอนหมั้น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2464 และโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

เคยมีมาแล้ว ย้อนประวัติศาสตร์ลดพระอิสริยยศพระราชชายา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระวรกัญญาปทานเสด็จมาถึงพระราชวังพญาไท มหาดเล็กเดิมคนหนึ่งได้เข้าไปเพื่อจะรับพระหัตถ์ตามธรรมเนียมตะวันตก แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม ครั้นเมื่อเรื่องไปถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กลายเป็นว่าทรงสะบัดมือ และแสดงพระกิริยาดูถูกมหาดเล็กเดิมคนนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการถอดถอนหมั้น (ศันสนีย์, หน้า 255)

จากเหตุการณ์สะบัดมือนั้น เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ และประพันธ์กลอนเชิงบริภาษว่า (ศันสนีย์, หน้า 256)

อย่าทะนงอวดองค์ว่างามเลิศ สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้
อย่าทะนงอวดองค์ว่าวิไล อันสุรางค์นางในยังมากมี
อย่าทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์ จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรี
นั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกา
อย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่า
อย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา อันชายใดฤๅจะกล้ามาง้องอน


อ้างอิง

"สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา". วิกิพีเดีย. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2562.

"พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี". วิกิพีเดีย. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2562.

"พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า อินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พุทธศักราช ๒๔๖๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41 (ตอน ง): หน้า 675. 15 มิถุนายน 2467. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.

กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2552,

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 255