posttoday

ผู้ประกอบการไทยกับเศรษฐกิจไทยปี 2560

24 มกราคม 2560

ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เหตุของผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการที่ นักเศรษฐศาสตร์ อาดัมส์ สมิธ (Adam Smith) ผู้นำเสนอ มือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) ทางเศรษฐศาสตร์ ที่ว่าตลาดเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นผู้นำเสนอว่า “ผู้ประกอบการ” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขับเคลื่อนการผลิต และเป็นผู้ทำให้ปัจจัยการผลิต (Factor of Production) อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน และทุนมารวมกันเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยจะเกิดขึ้นเป็นธุรกิจได้ก็ต่อเมื่อมีลูกค้าหรือผู้บริโภคที่จ่ายหรือใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ ด้วยเหตุนี้เองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งสถาบันการศึกษาต่างให้ความสำคัญต่อกผู้ประกอบการ ทั้งที่ดำเนินการ “ธุรกิจที่ตั้งอยู่ (Existing Business)” และที่สร้าง “ธุรกิจใหม่ (New Venture)” ทว่าไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนั้นจะเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ในทุกอุตสาหกรรมต่างต้องมีผู้ประกอบการที่คุมบังเหียนองค์กรนั้นๆ ด้วยเหตุนี้เองงบประมาณโดยเฉพาะจากภาครัฐต่างไหลลงสู่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาและปี 2560 ความสนใจของภาคการศึกษาที่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการสอนเพื่อสร้างผู้ประกอบการเยาวชนรุ่นใหม่ รวมไปถึงภาคสถาบันการเงินที่มีหน่วยงานสนองต่อผู้ประกอบการรายใหม่ และภาคเอกชนที่ให้ความสนใจการประกอบการภายในองค์กร (Corporate Entrepreneurship) มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางธุรกิจที่ต้องจับตาปี 2560

ปี 2559 ที่ผ่านมากับการเปิดตัว Startup Thailand ครั้งแรกทำให้กลุ่ม Startup โดยเฉพาะกลุ่ม Tech Startup ได้เปิดตัวกันอย่างเป็นข่าวดังกันทั่ววงการธุรกิจ จนผู้ประกอบการเดิมไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือ SMEs ต่างจับตามอง รูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สามารถขยายได้ สามารถทำซ้ำได้ และมีรูปแบบธุรกิจใหม่ หากแต่มีโอกาสล้มเหลวมากกว่า 90% เข้ามาเล่าสู่กันตามสื่อต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นกรณีศึกษาที่รุ่นปู่ Startup ซึ่งคร่ำวอดในวงการ และทำกันมานานมากกว่า 10 ปี ได้แจ้งเกิดกันในปีนี้อย่างชัดเจน เนื่องจากการที่รัฐบาลให้ความสนใจ แน่นอนว่า รูปแบบทางการธุรกิจที่น่าสนใจ ที่สร้าง Platform เชื่อมต่อระหว่าง Demand กับ Supply ในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยานพาหนะ (Uber, Grab) หรือโรงแรม (Airbnb) เป็นต้น จนมีคนกล่าวว่าในอนาคตคนจะซื้อและใช้บริการมากกว่าการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ นอกจากนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างต่อเชื่อมถึงกันอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล (Information Asymmetry) ลดลง ซึ่งกระทบต่อโอกาสของผู้ประกอบการที่จะนำสินค้าจากที่หนึ่งมาขายอีกที่หนึ่ง ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หากระบบขนส่งสาธารณะและเอกชนเชื่อมโยงถึง การสั่งสินค้าต่างๆ เหล่านี้ ปลาใหญ่ทาง E-commerce จะกินไปหมด
 
อีกหนึ่งวงการที่ต้องจับตาคือกลุ่ม Fin Tech Startup ที่มีการจัดตั้งสมาคมก็อย่างเป็นทางการ และแน่นอนว่าสถาบันการเงินของไทย ต่างไม่พลาดที่จะเข้าวงการดังกล่าว เพื่อรักษาพื้นที่ของตนเอง โดยการสร้างหน่วยงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Kbank ที่ตั้ง KBTG (Kasikorn Business-Technology Group) หรือ การที่ SCB ตั้ง Digital Ventures ขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อใช้ Fin Tech Startup เป็นตัวต่อยอด และเข้าใจถึงรูปแบบทางธุรกิจด้าน Fin Tech ที่จะเข้ามา Disrupt ธุรกิจเดิมของตนเองเพื่อที่จะสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งดึงเข้ามาเพื่อเสริมทัพในการให้บริการด้านการเงิน ทั้งนี้ การเข้ามาของ Alibaba ที่ร่วมกับทาง Ascend ต่างเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองว่า Alipay จะเข้ามาผ่านช่องทาง 7-11 และส่งผลกระเทือนถึงสถาบันการเงินได้มากน้อยเพียงใด แน่นอนว่า การเข้ามาของ Fin Tech Startup จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์และมีทางเลือกในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนธุรกิจด้านต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะว่าธุรกรรมทางการเงินสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น และต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินจะลดลง

ผู้ประกอบการไทยกับเศรษฐกิจไทยปี 2560

ประเทศไทยกับ Disruptive Innovation

การทำลายอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) ได้ถูกนำเสนอจากศาสตราจารย์ชุมปีเตอร์  (Schumpeter) ซึ่งให้คำกล่าวที่ว่า จะต้องสร้างนวัตกรรมที่ทำให้เกิดความยุ่งเหยิง หรือเรียกกันว่า Disruptive Innovation ซึ่งการที่จะสร้างนวัตกรรมประเภทนี้จะทำให้เกิดความไม่สมดุล หรือทำลายจุดสมดุลของ Demand และ Supply ซึ่งมันไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนความต้องการเดิมหรือ/และทำลายผู้ผลิตเดิมในตลาดใดตลาดหนึ่ง เพราะว่าการที่ผู้บริโภคจะยอมรับสิ่งใหม่หรือนวัตกรรมที่ก้าวกระโดด (Radical Innovation) ได้นั้นจะต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งที่จะสร้างการยอมรับและในที่สุดจะเกิดจุดเปลี่ยน (Tipping Point) ที่ผู้บริโภคยอมรับและทำให้ผู้เล่นเดิมและตลาดเดิมถูกทำลาย หรือ สุดท้ายเรียกว่า Disruptive Innovation หรือ Technology ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึง Technology องค์กรในประเทศไทยมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (Research & Development; R&D) ต่ำมากจนไม่กล้าที่จะกล่าวถึงตัวเลขกัน แสดงให้เห็นถึงผู้ประกอบการในประเทศไทยยังไม่สามารถรับได้หรือทนได้ต่อความไม่แน่นอนที่เกิดจากการลงทุนด้าน R&D ได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายทางด้านภาษีต่อค่าใช้จ่ายด้าน R&D ก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ประกอบการไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นการที่จะมี Technology ที่จะสามารถ Disrupt อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งได้ อาจไม่สามารถทำได้ทันที นอกจากนี้หากผู้ประกอบการไทยเริ่มที่จะต้องทำ อีกทั้งการทำ R&D ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนคืนได้อย่างรวดเร็ว (Quick Win)
 
ดังนั้น รูปแบบ Disruptive Innovation ของไทยจึงควรอยู่ในรูปแบบที่เป็น Disrupt นวัตกรรมเชิงกระบวนการ (Process Innovation) และเชิงบริการ (Service Innovation) ซึ่งยังมีโอกาสที่ทำได้ ไม่ต้องทำการ R&D ในเชิงเทคโนโลยีมากนัก แต่จะ Disrupt อย่างไรในอุตสาหกรรมไหน และเข้าในรูปแบบใดเท่านั้น โดยสามารถทดลองรูปแบบกระบวนการหรือบริการให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ ได้ก่อนเพื่อพิสูจน์การยอมรับ ก่อนนำไปใช้จริง นอกจากนี้ยังสามารถใช้วัฒนธรรม ที่เป็นความโดดเด่นของไทยเข้าไปผสมผสานการสร้างนวัตกรรมเชิงบริการได้  ทั้งนี้รูปแบบนวัตกรรมเหล่านี้จำเป็นจะต้องบูรณาการกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้วเข้ามาใช้ประโยชน์ เช่นการใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ บูลทูธ (Bluetooth) เข้ามาใช้ในการให้บริการด้านต่างๆ เพื่อให้สร้างประสบการณ์ใหม่กับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ได้แจกสายข้อมือยาง (Rubber Band) ที่ฝั่ง Bluetooth และข้อมูลให้กับเด็กๆ โดยผู้ปกครองจะใส่ชื่อเด็กและข้อมูลที่จำเป็นไว้ โดยข้อมูลส่งต่อถึงตัวละครต่างๆ ที่เด็กจะเข้าไปพบ ซึ่งทำให้พนักงานที่เล่นเป็นตัวละครเหล่านั้นสามารถเรียกชื่อเด็กได้ และทำให้เด็กเหล่านั้นได้รับประสบการณ์อันประทับใจที่ทำให้ผู้ปกครองยินดีที่จะใช้บริการ ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการไทยจะต้องเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคก่อนจึงจะสามารถสร้างนวัตกรรมเชิงบริการและกระบวนการได้

ผู้ประกอบการไทยกับเศรษฐกิจไทยปี 2560

ผู้ประกอบการกับ Thailand 4.0
 
นโยบายของภาครัฐผลักดันเต็มสูบกับ Thailand 4.0 ทั้งจากปี 2559 และปี 2560 โดยทางท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ชงนโยบาย 4.0 ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยมีแผน 5 ส่วนสำคัญไม่ว่าจะเป็นในด้านบุคลากร, กลุ่มอุตสาหกรรม, การบ่มเพาะผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม, ความเข้มแข็งด้านภูมิภาค, และการบูรณาการกับอาเซียนสู่ Global ซึ่งกลุ่มสมาชิกผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมต่างตอบรับนโยบาย โดยผลักดัน Trade 4.0 และ Industry 4.0 ตามลำดับ แต่สำหรับผู้ประกอบการไทยทั้งรายเดิมและรายใหม่นั้น การปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อ Thailand 4.0 ต่างเป็นส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของเศรษฐกิจของคนไทย หากแต่หวังว่าผู้ประกอบการจะไม่ตอบรับเพียงแค่เพื่อลดหย่อนภาษีตามนโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐเริ่มที่จะออกเครื่องมือทางภาษีอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่จะต้องปรับกระบวนการ แนวคิด และ ทัศนคติ ในการทำธุรกิจ ที่จะต้องมีนวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อน อีกทั้งยังจะต้องเข้าใจถึงผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง โดยจะต้องมองถึงความต้องการและปัญหาของผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อที่จะนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองกับผู้บริโภคได้
 
ทั้งนี้สิ่งที่จะต้องปรับตัวนอกจากผู้เล่นที่ทางรัฐบาลเปิดให้เข้ามาเล่นมากยิ่งขึ้น นั้นหมายถึงผู้ประกอบการายใหม่เข้ามาเป็นผู้เล่นง่ายมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการรายเก่าต่างก็ต้องปรับตัวกับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มวิสาหกิจรายใหม่ รวมไปถึงเฉพาะกลุ่มธุรกิจ อาจจะส่งผลดีไม่ทุกแง่มุม ซึ่งอาจจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันตามน่า Social media ต่างๆ ทั้งนี้ก็คงจะต้องทำการแก้ไขไปเป็นเรื่องกันไป กฎระเบียบเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการพิจารณา หากไม่สามารถเหมาะสมต่อการสร้างธุรกิจ ก็สามารถโยกย้ายไปทำธุรกิจที่อื่นๆ ซึ่งแน่นอนหากมีจำนวนมากรัฐบาลย่อมย้อนมองถึงปัญหาและพิจารณาทำการเปลี่ยนแปลง ท้ายสุด นโยบาย 4.0 กับปีใหม่ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดแรงสนับสนุนต่างๆ มากมายทั้งในแง่งบประมาณ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนองต่อผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงและตอบรับกับนโยบาย และท้ายที่สุด การขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ผู้ประกอบการกับทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2560
 
GDP = C + I + G + X-M  เป็นสมการที่อธิบายที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก การบริโภค (Customer: C) การลงทุน (Investment: I) การใช้จ่ายของภาครัฐ (Government Spending: G) การส่งออก (Export) การนำเข้า (Import: M) ซึ่งทิศทางที่ผู้ประกอบการพิจารณาต่างมีส่วนได้ส่วนเสีย ในทุกๆ ส่วน ทั้งนี้สื่อหลายๆ สำนัก รวมไปถึงของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยต่าง ได้กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทย ในเชิงบวก โดยเชื่อว่าจะ “โต” ภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวน หรือไม่ก็ “โต” แบบผิดคาด ในขณะที่สำนักอื่นๆ บอกถึง คงที่ หรือไม่ก็มีการเติบโตเล็กน้อย ทั้งนี้มีปัจจัยหลากหลายที่สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ผู้นำคนใหม่ ปัญหา Brexit ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะขึ้นเพิ่มขึ้น ฯลฯ ในขณะที่แรงผลักดันการเติบโตจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และการกระตุ้นผู้บริโภคจากนโยบายภาครัฐยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะช่วยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น
 
ทั้งนี้ฝนอาจจะตกไม่ทั่วฟ้า ผู้ประกอบการบางราย บางอุตสาหกรรมจำต้องอยู่รอด ด้วยตัวเอง ความไม่ชัดเจนทางเศรษฐกิจโลกและไทย ที่หลายครั้งส่งสัญญาณว่าให้ “รอ” ประเมินสถานการณ์ จากนโยบายใหม่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีแผนสำรองเพื่อคงอยู่ รวมไปถึงแผนสำรองต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กร สำหรับการสร้าง S-Curve ใหม่ที่ผลักดันโดยนโยบายภาครัฐ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในระยะยาว การสร้างแนวคิดใหม่ นวัตกรรมใหม่ กระบวนการใหม่ ต่างจะต้องใช้ระยะเวลาในการทดสอบ ทดลอง การยอมรับ และการเติบโตในอุตสาหกรรมใหม่ และหากทำสำเร็จแน่นอนว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง “คุณค่า” ใหม่ และเป็น “มูลค่า” ที่เพิ่มขึ้นในการผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ท้ายสุดนี้ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่ออยู่รอด ท่ามกลางสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

ผู้ประกอบการไทยกับเศรษฐกิจไทยปี 2560 ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล