ติดกล่องหยอดเหรียญ1.6พันล้านบาท ซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ได้ 456 คัน
เฟซบุ๊ก Samart Ratchapolsitte
เฟซบุ๊ก Samart Ratchapolsitte
ติดกล่องหยอดเหรียญ 1,665 ล้านบาท
ซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ได้ถึง 456 คัน
เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในขณะนี้กรณีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยกเลิกการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) บนรถเมล์หลังจากติดตั้งไปแล้ว 800 คัน จากจำนวนทั้งหมด 2,600 คัน โครงการนี้ ขสมก. ให้เอกชนติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ และเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) โดย ขสมก.จะต้องจ่ายค่าเช่าระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 1,665 ล้านบาท นั่นคือ ขสมก. ต้องจ่ายค่าเช่าคันละประมาณ 640,000 บาท
วัตถุประสงค์ของการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญก็คือ ขสมก.ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งจากข้อมูลของ ขสมก.พบว่า ค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารคิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเก็บค่าโดยสารได้ 1 บาท จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารประมาณ 60 สตางค์ ส่วนการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น ขสมก. ต้องการใช้ในการอ่านบัตรคนมีรายได้น้อยหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามที่รัฐบาลได้มอบให้
ปรากฏว่าหลังจากทดลองใช้กล่องหยอดเหรียญและเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ประมาณ 40 วัน โดยเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ขสมก.ได้สั่งยกเลิกการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญบนรถเมล์จำนวนที่เหลืออีก 1,800 คัน หลังจากติดตั้งไปแล้ว 800 คัน โดยอ้างว่าการใช้กล่องหยอดเหรียญมีปัญหาทางเทคนิค กล่าวคือบางครั้งกล่องไม่คืนเหรียญหรือคืนเหรียญไม่ถูกต้อง ที่สำคัญ ในช่วงเวลาเร่งด่วนซึ่งมีผู้โดยสารแน่นมาก ทำให้ต้องเสียเวลาในการหยอดเหรียญและรับเงินทอน
อันที่จริง ก่อนติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ ขสมก.จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้โดยสารรถเมล์จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน อีกทั้ง ในปัจจุบันหลายเมืองในหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้กล่องหยอดเหรียญไปแล้ว โดยได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แทน
ในขณะที่ ขสมก.กำลังจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่โดยจะต้องติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การลดจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสาร และสามารถอ่านบัตรคนมีรายได้น้อยได้ด้วย จึงไม่มีความจำเป็นที่ ขสมก.จะต้องเร่งติดตั้งกล่องหยอดเหรียญในเวลานี้ เพราะกล่องหยอดเหรียญจะถูกทดแทนโดยเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ในเร็วๆ นี้ ส่วนการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่ง ขสมก.ไม่ยกเลิก โดยจะติดตั้งบนรถเมล์ 2,600 คัน
หาก ขสมก.วางแผนการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ให้รอบคอบก็จะทำให้ไม่ต้องเสียค่าเช่าติดตั้งกล่องหยอดเหรียญและเครื่องอ่านบัตรโดยสารอีเล็กทรอนิกส์ให้เอกชนถึง 1,665 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่ ขสมก.กำหนดราคากลางไว้คันละ 3.65 ล้านบาท ได้ถึง 456 คัน
ถึงเวลานี้ พูดได้แต่เพียงว่า เสียดายจริงๆ