ผิดหวังกับ'กกต.'
การทำให้ว่าที่ ส.ส. ของพรรค 10 พรรคที่แต่ละพรรคมีคะแนนต่ำกว่า 71,057 คะแนน กลายเป็น ส.ส. สอบได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ว่าที่ ส.ส.อีกส่วนหนึ่งสอบตกจะเป็นธรรมได้อย่างไร
"การทำให้ว่าที่ ส.ส. ของพรรค 10 พรรคที่แต่ละพรรคมีคะแนนต่ำกว่า 71,057 คะแนน กลายเป็น ส.ส. สอบได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ว่าที่ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อของบางพรรคใน 16 พรรคที่ต่างก็สมนัยกับคะแนน 71,057 คะแนน กลายเป็นสอบตกไป แล้วจะกล่าวถึงความเที่ยงธรรมอย่างไร"
*******************************
โดย โคทม อารียา อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ผมหมดแรงที่จะให้กำลังใจแก่ กกต. รู้สึกเสียใจเมื่อทราบว่า กกต.เลือกสูตร กรธ. ที่จัดสรร ส.ส. แก่ 26 พรรคแทนที่จะจัดสรรให้แก่ 16 พรรคตามที่มีหลายคนเสนอ การตัดสินใจของ กกต. ครั้งนี้น่าจะส่งผลต่อการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นได้
ผมไม่ทราบเหตุผลและคำอธิบายของ กกต. ในเรื่องการเลือกสูตร กรธ. ที่ผ่านมาผมได้ส่งความเห็นเป็นบทความไปให้สำนักงาน กกต. หลายฉบับ ซึ่งคิดว่าได้ให้คำอธิบายต่าง ๆ ในรายละเอียด แต่ก็ไม่ได้รับคำอธิบายที่โต้แย้งกลับมาแต่อย่างใด กกต. ไม่ได้เสนอสูตร กรธ. ให้สาธารณชนทราบล่วงหน้า และเมื่อประกาศผลในวันสุดท้าย กกต. คงหวังใช้อำนาจหน้าที่ให้เป็นที่สิ้นสุด ไม่ต้องโต้เถียงอีกแล้ว
อย่างไรก็ดี ผมขออธิบายเรื่องการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีกครั้งโดยสังเขป หลักคิดของผมคือ เมื่อคำนวณจำนวน ส.ส. ให้แยกจำนวนเต็ม ซึ่งหมายถึง ส.ส. 1 คน จากเศษทศนิยม ส่วนเศษนั้นใช้เมื่อต้องการการปัดเศษขึ้นในกรณีที่จะเพิ่มจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อให้ครบ 150 คน
มาตรา 128 (1) ให้แบ่งคะแนนทั้งประเทศเป็น 500 ส่วน แต่ละส่วนเท่ากับ 71,057 คะแนน เรียกว่า “โควต้า” พรรคใดมีคะแนน 1 โควต้า ก็เทียบได้ว่ามี ส.ส. 1 คน ถ้าอยากรู้ว่าพรรคใดพึงมี ส.ส. กี่คน ก็เอาคะแนนของพรรคนั้นหารด้วยโควต้า ผลปรากฏว่ามี 16 พรรคที่มี ส.ส. พึงมีตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป พรรคอื่น ๆ ตั้งแต่พรรคที่ 17 เรื่อยไป มีคะแนนต่ำกว่า 71,957 คะแนน หรือผลการหารคะแนนด้วยโควต้าได้เพียงเศษทศนิยม ไม่มีจำนวนเต็ม สังเกตได้ว่า ส.ส. พึงมีของ 16 พรรครวมกันเท่ากับ 476 คน หมายความว่า เศษทศนิยมของพรรคทุกพรรครวมกันเท่ากับ 24 ส่วน ซึ่งเมื่อบวกเศษทั้งหมดกับจำนวนเต็มก็จะได้จำนวนทั้งหมด 500 ส่วนนั่นเอง
เราคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อดังนี้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ = ส.ส. พึงมี – ส.ส. เขต (1)โดยปกติ ส.ส. เขตของแต่ละพรรคจะน้อยกว่า ส.ส. พึงมีของพรรคนั้น ส.ส. บัญชีรายชื่อจึงเป็นเลขบวก ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. พึงมี 111 คน และ ส.ส. เขต 137 คน แสดงว่าพรรคเพื่อไทยมี ส.ส. เขตเกิน หรือมี overhang 26 คน จากสมการ (1)พรรคนี้จะมี ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็บเลขลบ จึงถูกทำให้เป็น 0 (ไม่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย)
จุดหมายของการคำนวณคือมี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน ประกอบด้วย ส.ส. เขต 350 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน แต่ในขั้นตอนเบื้องต้น เรามี ส.ส. พึงมี ทั้งหมด 476 คน เมื่อมี overhang ซึ่ง ส.ส. พรรคเพื่อไทยถูกปรับจาก -overhang เป็น 0 ก็เสมือนว่ามี ส.ส. บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (ที่จะนำไปจัดสรร ให้ครบ 150 คน) เพิ่มขึ้นเท่ากับ overhang คน ดังนั้น สมการ (1) เปลี่ยนมาเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อเบื้องต้น = ส.ส. พึงมี – ส.ส. เขต + overhang (2) แทนค่าลงไปจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้นรวม = 476 - 350 + overhang = 126 + overhang (คน)
3)สังเกตได้ว่า จำนวนรวมของ ส.ส. บัญชีรายชื่อเบื้องต้น เท่ากับ 126 คนในกรณีไม่มี overhang และเท่ากับ 150 คนพอดีเมื่อ overhang เท่ากับ 24 คน ขอเรียกกรณี overhang เท่ากับ 24 คน ว่ากรณี ส.ส. บัญชีรายชื่อเบื้องต้นพอดี หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “กรณี ส.ส. พอดี” ขอเรียกกรณี overhang ต่ำกว่า 24 คนว่า “กรณี ส.ส. ขาด” (น้อยกว่า 150 คน) และเรียกกรณี overhang มากกว่า 24 คนว่า “กรณี ส.ส. เกิน”
กรณี ส.ส. พอดีนั้น สำคัญมากเพราะเป็นกรณีอ้างอิงที่ไม่ต้องทำการคำนวณใด ๆ ไม่ต้องปัดเศษขึ้นตามมาตรา 128 (6) ไม่ต้องใช้บัญญัติไตรยางค์ตามมาตรา 128 (7) สังเกตว่าในกรณีนี้ เรามี 16 พรรคที่มี ส.ส. บัญชีรายชื่อรวมกันเท่ากับ 150 คน ตรงตามที่ต้องการแล้ว
กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า กรณีไม่มี overhang ให้ใช้การปัดเศษขึ้นตามมาตรา 128 (4) เมื่อมี overhang และเป็นกรณี ส.ส. ขาด (overhang ต่ำกว่า 24 คน) ให้ใช้มาตรา 128 (6) แต่ก่อนจะใช้มาตรา 218 (6) ให้ใช้มาตรา 128 (4) และ (5) เพื่อให้แน่ใจว่า overhang มีค่าเท่าไรเป็นกรณี ส.ส. พอดี และ overhang น้อยกว่านั้นจึงเป็นกรณี ส.ส. ขาด ส่วนกรณีมี overhang และเป็นกรณี ส.ส. เกิน (overhang มากกว่า 24 คน) ให้ใช้มาตรา 128 (7)
ถ้าลองคำนวณในกรณีที่สมมุติว่า ส.ส. ขาด 1 หรือ 2 คน (สมมุติ overhang เท่ากับ 22 หรือ 23 คน) ผลการคำนวณโดยการปัดเศษขึ้นตามมาตรา 128 (6) จะให้จำนวนพรรคที่มี ส.ส. เท่ากับ 16 พรรค เหมือนกรณี overhang เท่ากับ 24 คน ซึ่งเป็นกรณี ส.ส. พอดี แสดงว่าจำนวนพรรคที่มี ส.ส. เป็นฟังก์ชันต่อเนื่อง (continuous)
กกต. ใช้วิธีคำนวณที่น่าจะผิดพลาด โดยใช้บัญญัติไตรยางค์ที่ทำให้จำนวนพรรคที่มี ส.ส. กระโดดจาก 16 เป็น 26 พรรค ในทันทีที่ overhang เพิ่มขึ้น 1 คน หรือ 2 คนคือจาก 24 เป็น 25 หรือ 26 คน (26 คนคือกรณีปัจจุบันที่พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. เขต 137 คน) ตัวคูณในการทำบัญญัติไตรยางค์ตามที่มาตรา 128 (7) ระบุมีค่าเท่ากับ
150 ÷ (150 + จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่เกิน)
ในกรณีปัจจุบันซึ่ง overhang เท่ากับ 26 คน จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่คำนวณจากสมการ (3) เท่ากับ 152 คน แทนที่จะตีความว่าจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่เกินเท่ากับ 2 คน ซึ่งบัญญัติไตรยางค์ก็จะปรับจำนวนเต็มของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จาก 152 คน เป็น 150 คน แต่ดูเหมือนว่า กกต. จะเลือกตีความว่า จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่เกิน = 2 + เศษทศนิยมทั้งหมดของทุกพรรค
อนึ่ง เศษทศนิยมทั้งหมดนี้มีค่าเท่ากับ 24 ส่วน ดังกล่าวในย่อหน้าที่ 4 ข้างต้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ดูเหมือนว่า กกต.จะเลือกตัวคูณในการทำบัญญัติไครยางค์เท่ากับ 150 ÷ 152 + 24 = 150 ÷ (150 + overhang) (4)เมื่อคำนวณกับกรณีปัจจุบันที่ overhang เท่ากับ 26 คน ตัวคูณนี้จะปรับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเบื้องต้นจาก 152 คน เป็น 152 × (150 ÷ 176) = 129 คน สังเกตได้ว่า เพื่อให้ได้ จำนวนรวมของ ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่ากับ 150 คน จะต้องปัดเศษขึ้นให้แก่พรรค 21 พรรคที่มีเศษมากกว่าพรรคอื่น ๆ วิธีนี้จึงทำให้จำนวนพรรคที่มี ส.ส. เพิ่มเป็น 26 พรรค
การใช้ตัวคูณเท่ากับ 150 ÷ (126 + overhang) (หรือ 150 ÷ 152 ในกรณีปัจจุบัน โปรดดูสมการ (3) ประกอบ) มีข้อดีที่สำคัญ คือ (1) การปรับเป็นการลด ส.ส. จาก 2 พรรค พรรคละ 1 คน และไม่กระทบต่อพรรคอื่นหลายพรรคเหมือนการใช้สูตร 26 พรรค (2) จำนวนพรรคที่มี ส.ส. เมื่อผ่านจากกรณี “ส.ส. ขาดเล็กน้อย” เป็น “ส.ส. พอดี” และเป็น “ส.ส. เกิน” นั้น จะคงตัวอยู่ที่ 16 ซึ่งยืนยันว่าฟังก์ชันของจำนวนพรรคที่มี ส.ส. เป็นฟังค์ต่อเนื่องอย่างที่ควรเป้น (3) พรรคที่มี ส.ส.พึงมีต่ำกว่า 1 จะไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ส.ส. จัดสรรจึงไม่มากกว่า ส.ส. พึงมี ตรงตามที่เขียนใน พ.ร.ป. มาตรา 128 (5) และในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4)
ผมมีความเห็นว่า สูตร 26 พรรคของ กรธ./กกต. มีข้อเสียหลายประการ 1. เป็นการใช้บัญญัติไตรยางค์เกินกว่าเหตุ คือแทนที่จะปรับจาก “เกิน”เป็น “พอดี” กลับปรับเป็น “ขาด” ไปยี่สิบกว่าคน 2. การที่ต้องปรับเศษขึ้นให้แก่พรรคยี่สิบกว่าพรรคนั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อพรรคเหล่านั้น ในทางบวกบ้างในทางลบบ้าง (3) สูตร 26 พรรค ขัดกับมาตรา 128 (5) ที่บัญญัติว่า จะจัดสรร ส.ส. ให้แก่ พรรคที่ได้รับคะแนนต่ำกว่าโควต้า หรือต่ำกว่า 71057 คะแนน ไม่ได้ โดยเฉพาะใน “กรณี ส.ส. เกิน” 4. การทำให้ว่าที่ ส.ส. ของพรรค 10 พรรคที่แต่ละพรรคมีคะแนนต่ำกว่า 71,057 คะแนน กลายเป็น ส.ส. สอบได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้ว่าที่ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อของบางพรรคใน 16 พรรคที่ต่างก็สมนัยกับคะแนน 71,057 คะแนน กลายเป็นสอบตกไป แล้วจะกล่าวถึงความเที่ยงธรรมอย่างไร