เลือกตั้ง66:ฟังเสียงพรรคการเมือง ค้านแบ่งเขตหวั่นเลือกตั้งโมฆะ
หลายพรรคการเมือง คัดค้านแบ่งเขตเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. หลังกกต.เคาะใช้รูปแบบที่1 ส่อขัดพ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ม.27 แนะหาทางออกหวั่นการเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะ
เหล่าบรรดาพรรคการเมือง ออกมาประสานเสียงคัดค้าน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ในพื้นที่ กทม.หลังเคาะใช้รูปแบบที่1
สำหรับรูปแบบการแบ่งเขต โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 33 เขตเลือกตั้ง กกต. กทม. เคยมีการเสนอไว้ทั้งหมด 4 รูปแบบ กล่าวคือ
-รูปแบบที่ 1 ใช้วิธีการนำแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ ถึง 27 เขต ทำให้มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อนเพียง 4 เขต
-รูปแบบที่ 2 มีการรวมแขวงมาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ ถึง 30 เขต ทำให้มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้ง 2 เขต
ส่วนแบบที่ 3 และ 4 ถือว่าสอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด โดยเฉพาะรูปแบบที่ 3 มีเขต ที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดิมมาก่อนถึง 17 เขตเลือกตั้ง
สำหรับรูปแบบที่ 1 และ 2 ได้มีหลายพรรคการเมืองทักท้วงต่อการดำเนินการแบ่งเขตของ กกต. เนื่องจากเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 เพราะกฎหมายกำหนด "ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง" และ "การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน"
ทว่า ในที่สุด ที่ประชุมกกต. มีมติ ให้การแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.กทม.ในรูปแบบที่ 1
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน ให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ในพื้นที่ กทม. เนื่องจากไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 27(1) ที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่าการแบ่งเขตที่ออกมา มีการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขตหลัก เป็นเขตเลือกตั้งใหม่ การรวมแขวงต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27(1)ถือเป็นการกระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะการแบ่งเขตใหม่ 33 เขตครั้งนี้ เหมือนกับการแบ่งเขตเลือกตั้งเดิมเพียง 4 เขตเลือกตั้ง ถือเป็นการแบ่งเขตที่ไม่ได้ยึดถึงหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบังและนายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม.เขตหลักสี่ พรรคเพื่อไทย แสดงความกังวลว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่1 ที่ยึดหลักตามตัวเลขประชากรที่ให้สมดุลกัน ส่อขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา27 ที่กำหนดหลักเกณฑ์ “ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” และให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
พรรคเพื่อไทยได้เสนอไปแล้วว่าควรจะยึดเขตการเลือกตั้งตามแบบให้ใกล้เคียงกับปี 2554 และปี 2557 แต่หาก กกต.ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายลือกตั้ง ในท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศ และหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จหมายความว่าผู้มีอำนาจนำประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวประกันให้กับความเสียหาย
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกต. ได้ออกแบบเขตเลือกตั้งใน กทม. มากถึง 12 แบบ โดยออกแบบชุดแรก 5 แบบ ออกแบบชุดที่สอง 3 แบบ ออกแบบชุดที่สามอีก 4 แบบ กกตจะเคาะแบ่งการเขตการเลือกตั้งรูปแบบที่ 1 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จากพรรคการเมืองต่างๆ ว่าเป็นการออกแบบเขตเลือกตั้งใน กทม. ที่ขัดกฎหมายเลือกตั้ง จึงอยากฝากให้ กกต. พิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งบนพื้นฐาน 3 ประการ เพื่อให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริงดังนี้
1.ให้เป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบอย่างเคร่งครัด
2.ไม่คำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง
3.ให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม