เลือกตั้ง66:กตต.พิมพ์บัตรเลือกตั้ง57ล้านใบมั่นใจระบบป้องกันปลอมแปลงยาก
กิตติพงษ์ บริบูรณ์ เผย กกต. พิมพ์บัตรเลือกตั้ง 57 ล้านใบ ย้ำมีมาตรการตรวจสอบบัตรปลอมยังไม่เคาะสีบัตรที่เคยประชาสัมพันธ์ก่อนหน้ายังไม่ใช่ของจริง
นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายหัวข้อกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ต่อภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งว่า การเก็บรักษาบัตรเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ให้ กกต.เขต ดำเนินการเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง โดยกำหนดสถานที่เก็บรักษาไว้เป็นการล่วงหน้า และจัดให้มี รปภ.ตลอดเวลา โดย กกต.เขต อาจมอบหมายบุคคลหรือคณะบุคคล ที่แล้ว เป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้
สำหรับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 52 ล้านคน ก็น่าจะพิมพ์บัตรไว้เผื่อสำรองอยู่ที่ 57 ล้านใบ เพราะเวลาจ่ายบัตรเลือกตั้งลงหน่วยต้องจ่ายเต็มเล่ม ไม่ใช่จ่ายตามจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยนั้น อีกส่วนหนึ่งก็ต้องสำรองเอาไว้ แต่จะสำรองให้น้อยที่สุด เพราะถ้าสำรองมากเกินไปจะมีปัญหา
ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ที่มีช่องหมายเลขกับช่องกากบาท อาจจะมีการทำบัตรปลอม จะมีมาตรการดูแลอย่างไร นายกิตติพงษ์ บอกว่า ในตัวบัตรเลือกตั้งมีระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่บัตรทั่วไป ดังนั้นสามารถตรวจสอบได้ ว่าบัตรที่เรานำมาใช้เป็นบัตรจริงหรือบัตรปลอม สีของบัตร เนื้อกระดาษ แต่ไม่สามารถเปิดเผยกระบวนการตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะมีการแอบอ้าง ตรงนี้
พร้อมกันนี้ยังย้ำด้วยว่า บัตรเลือกตั้งที่ กกต. เคยนำมาประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ เป็นเจตนาที่ให้รู้ว่าบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทมีสาระสำคัญในบัตรอย่างไร ไม่ได้ผูกโยงในเรื่องของสี ก็ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนว่าสีที่มีการประชาสัมพันธ์ไปก่อนหน้านี้ไม่ใช่สีที่จะนำมาใช้สำหรับบัตรเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีการเปิดเผยเรื่องสีของบัตรเลือกตั้งแน่นอน เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีการประชาสัมพันธ์แล้ว
สำหรับรูปแบบบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จะกำหนดช่องทำเครื่องหมาย กับหมายเลขของผู้สมัครเท่านั้น ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะมีรายละเอียดหมายเลขประจำพรรค ชื่อพรรค โลโกพรรคและช่องทำเครื่องหมาย ซึ่งแตกต่างจากการบัตรเลือกเมื่อเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว จึงต้องออกเป็นการผสมผสานระหว่างบัตรแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ เพราะต้องนำคะแนนเขตไปคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อ จึงออกแบบให้โยงถึงพรรคการเมือง แต่ครั้งนี้บัตร 2 ใบ โดยบัตรแบ่งเขต ไม่ได้กำหนดรายละเอียดคล้ายกับบัตรแบบบัญชีรายชื่อ ข้อดีจะไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ครั้งนี้ผู้สมัครเขตสูงสุด 20 คน ไม่เกินขีดความสามารถของประชาชน แต่รายละเอียดของบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะมาก เพราะมีถึง 67 พรรค อีกทั้งหน้าหน่วยเลือกตั้งแต่ละพื้นที่ก็จะมีป้ายปิดประกาศผู้สมัครและพรรคการเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการลงคะแนน ย้ำว่าบัตรเลือกตั้งต้องทำตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะมาตรา 84 กำหนดไว้อย่างชัดเจน
นายกิตติพงษ์ ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าผู้สมัครส.ส. บัญชีรายชื่อ มีใครที่ขาดคุณสมบัติ โดยยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เพราะการส่งข้อมูลหลายหน่วยงานมีข้อตกลงให้ส่งวันสุดท้ายเป็นก้อนเดียว และมีการตรวจสอบออนไลน์ด้วย ดังนั้นจึงอยู่ในขั้นตอนส่งข้อมูลกลับมาที่สำนักงาน กกต. ซึ่งไม่เกินวันที่ 14 เมษายนแน่นอน ทั้งนี้ถ้าไม่ประกาศผู้ใดเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ บุคคลนั้นสามารถร้องต่อศาลฎีกาภายใน 7 วันเช่นเดียวกับผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าประกาศชื่อแล้ว ผู้สิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครรายใดเห็นว่าบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม กระบวนการก็จะเข้ามาสู่กกต. เช่นกัน โดยถ้าวินิจฉัยในเบื้องต้นแล้วเห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้าม ก็ถือเป็นการยุติไป แต่ถ้าต้องถอดถอนก็สามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ ซึ่งขั้นตอนก็จะเหมือนผู้สมัครแบบแบ่งเขต นอกจากนี้ การถือหุ้นสื่อหรือหุ้นต้องห้ามก็จะมีการตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบ ยืนยันยังใช้มาตรการเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว