posttoday

เลือกตั้ง66:ศาลฎีกาสั่งคืนสิทธิชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ลงสมัครส.ส.นครนายก

03 พฤษภาคม 2566

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คืนสิทธิลงสมัครส.ส. ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ปมถือหุ้นบริษัท AIS จำนวน200หุ้น ชี้ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ไม่มีอำนาจสั่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและพรรคการเมือง

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ความคดีเลือกตั้ง ระหว่าง นายชาญชัย อิสระเสนรักษ์ ผู้ร้องในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต2 จ.นครนายก กับผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่2 จังหวัดนครนายก กรณีมีคำสั่งตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของนายชาญชัย จากปมถือหุ้นในบริษัท AIS จำนวน200หุ้น มูลค่า34,000 บาท

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่2 จังหวัดนครนายกคืนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ให้กับนายชาญชัย โดยเห็นว่า การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทAIS จำนวนดังกล่าว  ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัทAISดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้องหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องหรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้

การตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพียง 20หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก จึงเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) จึงมีคำสั่งให้เพิ่มชื่อนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้ร้อง และประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ของพรรคประชาธิปัตย์

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครสส.จังหวัดนคนายกเขต2 เปิดเผยว่า หลังจากนี้ก็จะออกเดินหน้าขอคะแนนเสียงพบประชาชนก่อนเป็นอย่างแรก ส่วนเรื่องอื่นต้องรอดูคำพิพากษาว่าจะออกมาเป็นเช่นไร ถ้าหากคำพิพากษาออกมาแล้วไม่ได้กระทบต่อการทำงานโดยตรงของกกต. เช่น เจตนาไม่มี หรือกกต.ตีความไปในเจตนาที่ผิดกฎหมายหรือทำให้ตนเสียหายก็จะมีการพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง