posttoday

โตนเลสาบ วิถีคนบนผืนน้ำแห่งกัมพูชา

29 มีนาคม 2557

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศกัมพูชาจะเป็นหนึ่งในปลายทางสำคัญของนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศกัมพูชาจะเป็นหนึ่งในปลายทางสำคัญของนักลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เล็งเห็นถึงศักยภาพด้านแรงงาน แต่ประเทศนี้ก็ยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรม เพราะผู้คนส่วนใหญ่ยังเพาะปลูกเลี้ยงชีพ มากไปกว่านั้นประเทศนี้ยังมีแหล่งประมงน้ำจืดที่สร้างอาชีพและสร้างรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเป็นที่ตั้งของทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทะเลสาบกัมพูชาหรือที่ชาวกัมพูชาเรียกว่า “โตนเลสาบ” คือส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศกัมพูชา ซึ่งผ่านตรงจุดที่มีภูมิประเทศเป็นร่องน้ำลึกขนาดใหญ่ ทำให้น้ำในแม่น้ำไหลมารวมกันจนเกิดเป็นทะเลสาบขนาดมหึมา โดยปกติมีเนื้อที่ประมาณ 2,700 ตร.กม. มีน้ำลึกเฉลี่ย 2 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ พระตะบอง กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ และเสียมราฐ

เสียมราฐเป็นเมืองมรดกโลกชื่อดังของกัมพูชา นอกจากจะมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์น่าสนใจอย่างนครวัดและนครธมแล้ว การล่องเรือชมวิถีชีวิตผู้คนที่อยู่รอบโตนเลสาบก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องมาขึ้นเรือเช่าที่ท่าเรือเสียมราฐ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร เพื่อนั่งเรือลัดเลาะตามลำน้ำสาขาต่างๆ ไปยังโตนเลสาบ สองข้างทางยังคงปรากฏคราบน้ำที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงน้ำหลากระดับน้ำในโตนเลสาบสูงขึ้นเพียงใด ว่ากันว่าในฤดูฝนนั้นโตนเลสาบจะขยายพื้นที่จาก 2,700 ตร.กม. เป็น 1.6 หมื่น ตร.กม. และมีระดับน้ำลึกเฉลี่ยถึง 10 เมตรเลยทีเดียว

โตนเลสาบ วิถีคนบนผืนน้ำแห่งกัมพูชา

 

โตนเลสาบเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลากชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่มีมากกว่า 150 สายพันธุ์ จึงเป็นแหล่งอาหารสำคัญของผู้คนแถบนี้มาช้านาน รัฐบาลอนุญาตให้มีการทำประมงด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่ ตั้งแต่เดือน ม.ค.ไปจนสิ้นสุดเดือน มี.ค.เท่านั้น เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน โตนเลสาบจะแห้งขอดและปลาจะอพยพไปต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์กว่า จะอพยพกลับมาอีกครั้งพร้อมกับน้ำหลากในฤดูฝน เพื่อกลับมาวางไข่ในโตนเลสาบตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.เป็นต้นไป ถ้าหากไม่มีการควบคุมการจับสัตว์น้ำ ปลาเหล่านั้นก็ไม่มีโอกาสอนุบาลและเติบโตเข้าสู่วัฏจักรต่อไป ส่งผลให้ปลาในโตนเลสาบจับได้น้อยลง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนการควบคุมโดยรัฐบาลนั่นเอง

โตนเลสาบ วิถีคนบนผืนน้ำแห่งกัมพูชา

 

ที่โตนเลสาบยังมีชุมชนลอยน้ำขนาดใหญ่ ที่ผู้คนสร้างบ้านบนแพอยู่อย่างหนาแน่นกว่าร้อยครัวเรือน มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเป็นสังคม ไม่ต่างจากชุมชนที่อาศัยอยู่บนบก ดังนั้นชุมชนที่นี่จึงมีทั้งตลาดลอยน้ำ วัดลอยน้ำ โบสถ์คริสต์ลอยน้ำ และโรงเรียนลอยน้ำ ซึ่งโดยพื้นเพคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นอดีตทหารเวียดนามที่ตกค้างหลังสงครามสงบเมื่อหลายสิบปีก่อน พวกเขาไม่อพยพกลับ แต่ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวกับชาวกัมพูชาท้องถิ่น ดังนั้นภาษาเวียดนามจึงเป็นภาษาหลักในการสื่อสารของชุมชนนี้ แม้กระทั่งการเรียนการสอนของโรงเรียนลอยน้ำ ก็มีครูอาสาสมัครจากเวียดนามมาช่วยสอนเด็กๆ ด้วยตำราและใช้ภาษาเวียดนามเป็นหลัก

เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนที่แห้งแล้ง ปริมาณน้ำในโตนเลสาบลดฮวบลง จนเกิดเป็นพื้นที่ดินเลนขนาดกว้างใหญ่ สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าวได้ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่เพียงร้อยละ 4 ของนาข้าวทั้งประเทศ แต่กลับให้ผลผลิตร้อยละ 12 ของข้าวที่ปลูกได้ทั้งประเทศ ซึ่งชาวกัมพูชาบอกว่า เป็นเพราะในฤดูน้ำหลากที่โตนเลสาบขยายพื้นที่น้ำท่วมขัง จะมีตะกอนแร่ธาตุถูกพัดพามากับน้ำ เมื่อน้ำลดพื้นที่ส่วนนี้จึงอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก

โตนเลสาบ วิถีคนบนผืนน้ำแห่งกัมพูชา

 

เมื่อเสร็จสิ้นจากการทำนา ก็ยังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งหันมาแปรรูปสัตว์น้ำเป็นอาชีพเสริม ด้วยการทำ “ประฮ็อก” หรือปลาร้า ภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของผู้คนในย่านนี้ ซึ่งจะเริ่มทำกันตั้งแต่เดือน ก.พ.ไปจนถึงปลาย มี.ค. เพราะเมื่อเข้าสู่ เม.ย.หน้าร้อน ผักปลาในประเทศนี้จะหายากและมีราคาแพง ประฮ็อกก็จะกลายเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญที่มีราคาถูกและช่วยบรรเทาการขาดแคลนอาหาร

จะว่าไปแล้ว กัมพูชาและไทยมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะมาที่เสียมราฐ เราได้มีโอกาสไปทั้งกรุงพนมเปญและเมืองสีหนุวิลล์ เดินทางด้วยรถยนต์ค่ำไหนนอนนั่น หิวตรงไหนแวะตรงนั้น บอกได้เลยว่าไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมายสำหรับการกินอยู่ในประเทศนี้ จึงทำให้เข้าถึงและเข้าใจประเทศนี้ในหลากหลายมิติมากขึ้น และพบว่าหลายสิ่งที่คนไทยส่วนหนึ่งมองกัมพูชานั้นด่วนสรุปเร็วเกินไปและแฝงด้วยอคติ เราพบว่าชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เขามองเราเป็นบวก เพราะมองโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างเช่นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง วิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนที่นี่จึงมีเสน่ห์และงดงาม หากแต่ว่ากระแสโลกยุคใหม่ที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตแบบนี้เหลือเวลาอีกไม่นาน ซึ่งนั่นทำให้กัมพูชาเป็นอีกหนึ่งปลายทางที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงคุณค่าของการเดินทางอย่างแท้จริง และอย่าลืมติดตามชมเนื้อหาแบบเต็มๆ ได้ในรายการโลก 360 องศา ทุกคืนวันเสาร์ 3 ทุ่มครึ่งโดยประมาณ ทาง ททบ.5

โตนเลสาบ วิถีคนบนผืนน้ำแห่งกัมพูชา