posttoday

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์

19 สิงหาคม 2560

399 โค้งจาก อ.ทองผาภูมิ สู่ ต.ปิล๊อก จ.กาญจนบุรี ถือเป็นความยาวนานที่บอบช้ำก้นกบเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสภาพถนนในยุคดีบุกเฟื่องฟู

โดย...กาญจน์ อายุ

399 โค้งจาก อ.ทองผาภูมิ สู่ ต.ปิล๊อก จ.กาญจนบุรี ถือเป็นความยาวนานที่บอบช้ำก้นกบเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสภาพถนนในยุคดีบุกเฟื่องฟูที่การเดินทางไปปิล๊อกถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะระยะทาง 60 กิโลเมตร บนทางลูกรังขนแร่ต้องใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง

ทว่า ปัจจุบันเส้นทางขนแร่ได้กลายเป็นเส้นทางขนส่งนักท่องเที่ยว ด้วยแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเขาช้างเผือก เนินช้างศึก น้ำตกจ๊อกกะดิ่ง และ "บ้านอีต่อง" ที่ได้รับสมญานามว่าเป็นภาคเหนือแห่งกาญจนบุรี ด้วยสภาพอากาศหนาวเย็นและปกคลุมด้วยหมอกเกือบตลอดปี จนทำให้ผู้คนหลงลืมว่ากำลังอยู่บนเทือกเขาตะวันตกติดชายแดนเมียนมา

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ มนตรี เหลืองอิงคสุต ขุดหาควอตซ์ที่มีแร่ดีบุกผสมอยู่

 

ขณะเดียวกันบ้านอีต่องยังมีความสำคัญด้านธรณีวิทยา เพราะบริเวณของบ้านอีต่องทั้งหมดเป็นเหมืองแร่ดีบุกที่ชื่อ "เหมืองปิล๊อก" (อีต่องเป็นหนึ่งในหมู่บ้านของ ต.ปิล๊อก) คือบรรดาเหมืองแร่มากมายทั้งของเอกชนและองค์การอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้แก่ กลุ่มเหมืองราชธน กลุ่มเหมืองอีต่อง-อีปู กลุ่มเหมืองผาแป กลุ่มเหมืองสัตตมิตร-มกราคม และกลุ่มเหมืองตะนาวศรี คลุมพื้นที่ประมาณ 122 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ติดชายแดนเมียนมาเพียงก้าวขาข้าม และอยู่ห่างจากทะเลอันดามันไม่ถึง 100 กิโลเมตร

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ สายแร่ดีบุกเห็นได้ชัดเจนในชั้นดิน

 

ปิล๊อกอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรีที่เป็นแหล่งแร่ขนาดใหญ่และมีลักษณะยาวตั้งแต่ด่านเจดีย์สามองค์จนถึงระนอง ซึ่งเหมืองปิล๊อกเป็นแหล่งแร่ขนาดยาวประมาณ 30 กิโลเมตร กว้างประมาณ 2 กิโลเมตรตามแนวชายแดน ประกอบด้วยหินเดิมซึ่งเป็นพวกหินดินดานและพวกหินแปรในชุดหินของชุดกาญจนบุรี วางตัวอยู่ใต้หินปูนของชุดราชบุรี (อายุเปอร์เมียน) โดยแร่ดีบุกเกิดในสายควอตซ์ที่พาดไปมาระเกะระกะ และมีสายแร่ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร-2 เมตร นักท่องเที่ยวจึงสามารถสวมบทเป็นนักธรณีวิทยาได้ด้วยการสังเกตสายแร่ด้วยตาเปล่าตามชั้นดิน เนื่องจากเหมืองปิล๊อกเป็นแหล่งแร่ที่ยังมีเปลือกดินคลุมสายแร่อยู่ จึงไม่มีการแผ่กว้างเป็นลานแร่เหมือนทางภาคใต้ จึงสามารถเห็นสายแร่ได้ไม่ยากเย็น

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ นักธรณีวิทยาชี้ให้ดูหินควอตซ์

 

มนตรี เหลืองอิงคสุต ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี ให้ความรู้ว่าแหล่งแร่ในปิล๊อกมีมากกว่า 10 ชนิด แต่ที่พบมากที่สุดคือ แร่ดีบุก รองลงมาและมักอยู่ปะปนกันคือ แร่ทังสเตน และสายแร่ทองคำ (ไม่มีการทำเป็นเหมืองทองคำขนาดใหญ่เพราะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จะมีก็เพียงแรงงานร่อนหาแร่ทองคำให้พ่อค้ามารับซื้อ) โดยในอดีตกำลังการผลิตแร่ดีบุกของแต่ละเหมืองอยู่ที่ประมาณ 50 ตัน/ปี และสามารถทำเหมืองได้ลึก 30-40 เมตร แต่ไม่เกิน 50 เมตร เพราะในระดับลึกกว่านี้จะไม่มีแร่

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ อุโมงค์ขุดแร่ดีบุกขนาดเท่าตัวคน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มทำเหมืองดีบุกใหม่ๆ ได้มีชาวเมียนมาข้ามมาทำเหมืองเถื่อนจำนวนมาก ทำให้บ้านอีต่องเต็มไปด้วยประชากรหลายชาติหลายภาษา ทั้งไทย เมียนมา กะเหรี่ยง ทวาย มอญ และลาว กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังได้ยินภาษาเพื่อนบ้าน และยังเห็นสินค้าจากเมียนมาเข้ามาขาย

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ สะพานเหมืองแร่ หนึ่งจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยว

 

หลังจากนั้นทางการไทยได้ประกาศเปิดเหมืองปิล๊อกอย่างเป็นทางการในปี 2484 ทำให้ไม่ว่าใครที่เข้ามาทำงานในหมู่บ้านนี้จะกลับออกไปพร้อมเงินทองมากมาย ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านณัตเอ็งต่อง หมายถึง บ้านเทพเจ้าแห่งขุนเขา จนเพี้ยนเสียงกลายเป็นชื่อบ้านอีต่อง

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ ป้ายบอกแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากทะเลอันดามันผ่านเมียนมา เข้าแดนไทยไปยังราชบุรี

 

ส่วนชื่อเหมืองปิล๊อกก็มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าเพี้ยนมาจากผีหลอก เพราะในอดีตพื้นที่ทั้งหมดเป็นป่ารกชัฏ และมีโรคมาลาเรียระบาดหนักจนคนเหมืองล้มตายจำนวนมาก ต่อมาจากผีหลอกก็กลายเป็นปิล๊อก ชุมชนที่ปราศจากไข้มาลาเรียและคงไม่มีที่ให้ผีหลอก เพราะถูกนักท่องเที่ยวถล่มเต็มพื้นที่

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ วัยรุ่นกำลังเขียนป้ายที่ระลึกแขวนไว้บะสะพานอีต่อง

 

นอกจากนี้ การทำแร่ขององค์การอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอดีต เป็นวิธีแบบรับซื้อมากกว่าลงมือทำเอง กล่าวคือ มีการกำหนดพื้นที่ให้และให้เครื่องมือแก่แรงงานไปขุดหาแร่ เมื่อได้มาก็นำไปขายให้องค์การฯ ส่วนการทำแร่ของเอกชนมีทั้งวิธีรับซื้อและวิธีทำเหมืองแบบฉีด (ลักษณะอุปกรณ์เป็นกระบอกฉีดคล้ายปืนฉีดน้ำแต่น้ำจะแรงกว่ามากถึงขนาดทำให้รถหงายท้องได้) โดยคุณสมบัติของแร่ดีบุกจะมีความทนทานต่อการกัดกร่อน ไม่เป็นสนิม สามารถผสมเป็นเนื้อเดียวกับโลหะอื่นได้ดี และไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ คนจึงนำดีบุกมาใช้ในทางโลหกรรม อุตสาหกรรม และศิลปกรรม เช่น ใช้ทำกระป๋องบรรจุอาหาร เบียร์ กระดาษห่ออาหารหรือที่เรียกว่ากระดาษตะกั่ว กระดาษห่อบุหรี่ และกระดาษไหว้เจ้า

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์

 

กระทั่งในปี 2528 เกิดวิกฤตราคาแร่ดีบุกตกต่ำทั่วโลก จนทำให้เหมืองแร่ดีบุกที่เคยมีกว่า 40 เหมืองในปิล๊อกปิดกิจการเกือบทั้งหมด และทยอยปิดไม่มีเหลือภายในปี 2534 หลังจากพื้นที่บางส่วนถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ เค้กป้าเกล็นที่ร้านชาวเหมือง

 

ปัจจุบันบ้านอีต่องจึงเหลือเพียงร่องรอยของการทำเหมือง ชาวบ้านที่ยังไม่อพยพก็เปลี่ยนอาชีพมาทำการท่องเที่ยว บ้านเรือนจึงถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโฮมสเตย์ เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านค้า แต่ที่พอจะเห็นวิถีดั้งเดิมอยู่บ้างคงเป็นบรรยากาศของตลาดเช้าที่ชาวไทยและชาวเมียนมามาพบปะซื้อขายสินค้ากัน กลายเป็นตลาดมิตรภาพที่คนสองชาติสามารถไปมาหาสู่กันผ่านช่องทางมิตรภาพ

อีต่อง เหมืองในหมอกภาคเหนือเมืองกาญจน์ ผลิตภัณฑ์จากเมียนมาวางขายที่ตลาดจนกลายเป็นของฝากจากอีต่อง

 

ส่วนเค้กป้าเกล็น (เกล็น เสตะพันธุ ภรรยาของสมศักดิ์ เสตะพันธุ) ตำนานความรักแห่งเหมืองสมศักดิ์ ที่ใครมาอีต่องต้องมาชิมเค้กของป้าอย่างเค้กแครอต เค้กกล้วยน้ำว้า และเค้กช็อกโกแลต สนนราคาทุกชิ้น 70 บาท โดยแต่ละวันป้าจะทำไม่มาก และตั้งขายอยู่ที่เดียวที่ ร้านชาวเหมือง บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน

อดีต "เหมือง" อันยิ่งใหญ่ได้กลายเป็น "เมือง" ท่องเที่ยวขนาดย่อม ตามกระแสนักเดินทางที่เห่อหาสถานที่แปลกใหม่ที่ไม่เน้นความสบาย แต่เน้นตัวตนของสถานที่นั้น ซึ่งความเป็นอีต่องยังคงอยู่ในดินในหินในสายแร่และในสายเลือดของลูกหลานชาวเหมือง ส่วนในอนาคตยุคของเหมืองดีบุกจะกลับมาหรือไม่ มิอาจทราบได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้รักษาไว้คือ "ธรรมชาติ" หัวใจของชาวบ้าน และสภาพอากาศที่ทำให้อีต่องเป็นภาคเหนือของภาคตะวันตกต่อไปตลอดกาล