The journey to become green SUPERPOWER
เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า จีนในศตวรรษที่ 21 เป็นประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ
เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า จีนในศตวรรษที่ 21 เป็นประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและแสดงความจำนงว่าจะช่วยลดโลกร้อน แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็กำลังบอกโลกเป็นนัยๆ ว่า ลดโลกร้อนไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิมๆ ก็ได้ จีนจึงเป็นประเทศที่มีการลงทุนพัฒนาพลังงานทดแทนมากที่สุดในโลก เพราะจีนตระหนักแล้วว่า ถ้าขาดซึ่งพลังงานที่มั่นคง การพัฒนาในทุกๆ ด้านก็ไม่อาจเดินหน้าไปได้ แต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนก็ยังเป็นสัดส่วนน้อยนิด ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีประชากรร่วม 1,400 ล้านคน แม้แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้ายังคงมาจากเชื้อเพลิงถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ แต่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ก็ยังเป็นตัวเลือกของแหล่งพลังงานที่สำคัญ เพราะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่สูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เดินเครื่องอยู่ 37 โรง อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 20 โรง และยังมีแผนสร้างเพิ่มอีก 40 โรงในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ จีนมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า 5 ปี ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาพลังงานเพื่อรองรับปี ค.ศ. 2030 ซึ่งแนวคิดของ 2 แผนนี้ คือ ปฏิบัติตามแนวคิดเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาพลังงานเพื่อการผลิตและบริโภคพลังงานที่ประธานสีจิ้นผิง เสนอ เรียกย่อๆ ว่า “4 ปฏิวัติ 1 ความร่วมมือ” ซึ่ง 4 ปฏิวัติที่ว่าก็คือ 1) ปฏิวัติการใช้พลังงาน ไม่ให้เกินความจำเป็น 2) ปฏิวัติการผลิตและส่ง เพื่อให้ทั่วถึง และมีแหล่งพลังงานที่หลากหลายมากขึ้น 3) ปฏิวัติเทคโนโลยีด้านพลังงาน และยกระดับอุตสาหกรรมพลังงาน
4) ปฏิวัติโครงสร้าง เพื่อเปิดช่องให้ปฏิบัติได้เร็วขึ้น ส่วนคำว่า “1 ความร่วมมือ” หมายถึง การเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศ ช่วงที่ผ่านมาจีนจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานไปอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่คิดค้นและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีของตัวเองทั้งสิ้น ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าจีนจะมีเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ มีเทคโนโลยีการเปลี่ยนถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลว และมีการคิดค้นเชื้อเพลิงอวกาศยานของตัวเอง
พอบอกว่าจีนมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจนมลภาวะแทบจะเป็นศูนย์ ก็อาจมีคำถามขึ้นมาอีกว่า กว่าถ่านหินจะส่งมาถึงโรงไฟฟ้า ก็ต้องสร้างผลกระทบอีกอยู่ดี ไหนจะประเด็นของการทำเหมือง และอันตรายด้านอื่นๆ ทีมงานโลก 360 องศา จึงเดินทางไปสืบค้นข้อมูลที่มณฑลมองโกเลีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถ่านหินหลักๆ ของจีน ในเหมืองเสินตง ซึ่งเป็นเหมืองที่ใหญ่ที่สุดใน 65 เหมือง ของ เสินหวา กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในจีน เหมืองนี้มีกำลังการผลิตประมาณ 200 ล้านตัน/ปี แต่นั่นเป็นแค่ 1 ใน 3 ที่เสินหวากรุ๊ปที่ผลิตได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่มาก แต่ทั้งหมดที่เสินหวากรุ๊ปผลิตได้ ยังไม่ถึง 20% ของความต้องการใช้งานต่อปีเลย เพราะว่าประเทศจีนต้องการใช้ประมาณ 6,500 ล้านตัน/ปี ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าประเทศไทยเราที่แม่เมาะ เราใช้ถ่านหินประมาณ 16 ล้านตัน/ปี ดังนั้นจึงเป็นตัวเลขความต้องการที่มหาศาลเลยทีเดียว
เหมืองเสินตง เป็นเหมืองใต้ดินที่เจาะช่องขุดเป็นอุโมงค์ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 300 เมตร ยาวทั้งหมดประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วใช้เครื่องจักรขุดและลำเลียงถ่านหินขึ้นมาใช้งาน โดยไม่ต้องเปิดหน้าดินด้านบน การทำงานใต้ดินแบบนี้ มีเรื่องที่ต้องระวังอย่างแรกคือ ออกซิเจนต้องเพียงพอ ซึ่งก็จะมีเครื่องคอยตรวจวัดระดับอยู่เสมอ อย่างที่สองก็คือ การขุดลงใต้ดินลึกแบบนี้จะเกิดก๊าซมีเทน ซึ่งสามารถติดไฟได้ก็จะต้องคอยระมัดระวัง คอยควบคุมไว้ไม่ให้ค่าเกินมาตรฐาน หลังจากที่ขุดได้แล้ว ถ่านหินก็จะถูกส่งลำเลียงไปตามสายพาน เป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อไปคัดแยกแล้วก็ย่อยให้เป็นก้อนเล็กๆ เพื่อลำเลียงต่อไปยังโรงไฟฟ้า หรือที่ต้องการใช้งาน ในขั้นตอนการลำเลียงก็จะมีสายพานส่งลงไปใส่ในกะบะใหญ่ๆ เหมือนคอนเทนเนอร์ เมื่อจัดเรียงเสร็จเรียบร้อยก็จะมีน้ำยาเหมือนโฟมพ่นเคลือบทับลงไป เพื่อควบคุมไม่ให้ถ่านหินฟุ้งกระจายในระหว่างลำเลียง การขนถ่ายถ่านหินจึงเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่จีนให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าขั้นตอนอื่น
เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า จีนเขาไม่ได้ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินดีเอาไว้ใกล้ๆ ปักกิ่งเพื่อโชว์เท่านั้น แต่เวลาที่เขาลงมือพัฒนา เขาทำกันจริงทั้งประเทศ ทีมงานโลก 360 องศา จึงพาไปที่มณฑลซานตง ชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของจีน ซึ่งถือว่าเป็นมณฑลที่มีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ที่สุดเลย ที่นี่เป็นทั้งแหล่งผลิตเกลือ แหล่งอาหารทะเล และยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศอีกด้วย มาซานตงทั้งทีจึงต้องไม่พลาดที่จะมากินของดี 2 อย่าง อย่างแรกคือ ต้องมากินผักที่นี่ เพราะว่าที่นี่เต็มไปด้วยผักสดๆ เขาเปรียบเทียบเป็นเหมือนตะกร้าผักของประเทศจีนเลยด้วยซ้ำไป อย่างที่สองคือ ต้องมากินอาหารทะเล เพราะอาหารทะเลที่นี่อุดมสมบูรณ์ แล้วก็สดใหม่มากเลย ณ ตรงนี้ เราเห็นภาพของอะไรหลายๆ อย่างที่มาอยู่รวมกันได้ มีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ มีกังหันลม มีชุมชน มีพื้นที่เกษตร มีอาหารทะเล แต่ที่ไม่เห็นมีก็คือความขัดแย้งเพราะทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตร
“เก่าไป แล้วก็ใหม่มา” วันเวลาเปลี่ยนไป อะไรก็เปลี่ยนไป เป็นสัจธรรมที่หลายๆ เรื่องจะต้องเกิดขึ้น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับพลังงานไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจีน เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “เก่าไป ใหญ่มา” โรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุลง ปิดตัวลงไปแล้ว จะถูกสร้างทดแทนใหม่ด้วยโรงไฟฟ้าที่ใหญ่กว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า แล้วก็มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เหมือนโรงไฟฟ้า โซ่กวง แห่งนี้ ที่เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ การออกแบบและก่อสร้างเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เริ่มเดินเครื่องในปี 2016 ที่ผ่านมานี้เอง เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่มีประสิทธิภาพสูง และเกิดมลภาวะต่ำมาก มีระบบประมวลผลที่ชาญฉลาด ใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาควบคุมและสั่งงานโดยระบบออโตเมติกส์ นอกจากจะปล่อยมลภาวะต่ำมากแล้ว โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีการจัดการกับระบบนิเวศรอบโรงไฟฟ้า เพื่อให้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน นับวันโรงไฟฟ้าถ่านหินประสิทธิภาพสูง ปล่อยมลภาวะต่ำแบบนี้ ก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นกำลังสำคัญสนับสนุนการพัฒนาประเทศต่อไป
Mr. WANG Vice president of China Shenhua Energy Company Limited ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “ไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินยังคงเป็นพลังงานหลักของจีน แต่ขณะเดียวกันพวกเราก็กำลังพัฒนาอย่างแข็งขันเพื่อนำพลังงานทดแทนมาใช้ผลักดันความก้าวหน้าของพลังงานบนพื้นฐานของเทคโนโลยี "การปล่อยมลภาวะใกล้เคียงศูนย์" และกำลังวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้นไปอีกขั้นเพื่อทำให้มลภาวะที่ปล่อยออกมาน้อยลงไปจากที่ปัจจุบันทำได้ เป็นการประกันความต้องการพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแนวทางและแผนจัดการเกี่ยวกับเทคโนโลยีไฟฟ้าสะอาดจากพลังงานถ่านหินของเสินหวา กรุ๊ป คือ ประกัน อุปสงค์-อุปทาน โดยใช้เทคโนโลยีทำให้ได้พลังงานสะอาด ราคาเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้นั่นเอง”
เรื่องของพลังงาน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เราทุกคนต้องช่วยกันคิด เราไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปฏิเสธการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้แล้ว ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปมาก เศรษฐกิจเราก็ต้องการให้เดินหน้า ในขณะที่สังคมเราก็ต้องการให้พัฒนาขึ้น
ราต้องการใช้พลังงาน เราต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ถ้าเรามัวนั่งหวาดกลัวกับมลพิษที่จะเกิดขึ้น เราก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี จะดีกว่าไหมถ้าเราหาเทคโนโลยีใหม่ ปรับวิธีการคิดใหม่ เหมือนที่คนจีนคิด คือ หาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อไปจัดการกับความกังวลเดิมๆ ของผู้คน ทุกวันนี้จีนจึงมีเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพสูง แล้วก็สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ หากเราเปิดใจลองเรียนรู้จากเขาดู เชื่อว่านี่จะเป็นตัวอย่างสำคัญที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ และนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขต่างๆ ในบ้านเราได้แน่นอน
ติดตามชมเรื่องราวทั้งหมดได้ในรายการ โลก 360 องศา ทาง ททบ.5 วันเสาร์เวลา 20.55 น.