posttoday

ซาฮาราเคยเป็นพื้นที่เขียวชอุ่ม และแห้งแล้งโดยน้ำมือมนุษย์

20 มีนาคม 2560

ทฤษฎีใหม่บ่งชี้ว่าการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ของมนุษย์ในอดีตอาจเป็นสาเหตุให้ซาฮาราเปลี่ยนจากพื้นที่สีเขียวไปเป็นทะเลทราย

ทฤษฎีใหม่บ่งชี้ว่าการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ของมนุษย์ในอดีตอาจเป็นสาเหตุให้ซาฮาราเปลี่ยนจากพื้นที่สีเขียวไปเป็นทะเลทราย 

เราทุกคนรู้กันดีว่าทะเลทรายซาฮาราคือพื้นที่แห้งแล้งของโลกที่มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล และมีชื่อเสียงที่สุด ในเวลากลางวันอุณหภูมิอาจสูงได้ถึง 65 องศาเซลเซียส ในขณะที่ช่วงกลางคืนกลับเปลี่ยนเป็นคนละขั้ว เมื่อทรายคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ซาฮาราจะมีอุณหภูมิลดต่ำลงเฉลี่ยเหลือราว 25 องศาเซลเซียส

แต่คุณผู้อ่านรู้หรือไม่ว่าดินแดนที่มนุษย์ และพืชส่วนใหญ่ไม่อาจเอาชีวิตรอดอยู่ได้นี้ ในอดีตเมื่อหลายพันปีก่อน สถานที่แห่งนี้เคยเขียวชอุ่มไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด จนได้รับการขนานนามว่าเป็นสวนอีเดนตามตำนานเลยทีเดียว

นักโบราณคดีได้เสนอทฤษฎีใหม่ ที่ระบุว่ามนุษย์เราเองนี่แหละที่เป็นผู้สร้างทะเลทรายผืนยักษ์นี้ขึ้น โดยความแห้งแล้งนี้เป็นผลมาจากการทำเกษตรกรรมในอดีต

ย้อนกลับไปเมื่อ 11,000 - 4,000 ปีก่อน ซาฮาราเป็นพื้นที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ทางสิ่งแวดล้อม แม่น้ำหลายสายไหลผ่าน และเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ จนกระทั่งเมื่อมนุษย์เริ่มอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานยังดินแดนนี้เมื่อราว 8,000 ปีก่อน และเริ่มต้นการเพาะปลูกพืชต่างๆ

ศาสตราจาย์ David Wright จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ระบุจากการศึกษาค้นคว้าเขาพบว่า เมื่อมนุษย์กระจายการตั้งถิ่นฐานไปทั่วภูมิภาคมากขึ้น พวกเขาเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศเดิมที่ซาฮาราเคยเป็น เพื่อทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์

บรรดาเกษตรกรในยุคนั้นพากันปลูกพืชพันธุ์ที่มาจากต่างพื้นที่ และพวกเขาถางพืช และหญ้าสายพันธุ์เดิมที่อยู่ในพื้นที่ออกไป เมื่อแสงอาทิตย์สะท้อนออกจากดินมากขึ้นจึงส่งผลให้อากาศของซาฮาราเริ่มอุ่นขึ้น ส่งผลให้ฝนจากเดิมที่เคยตกนั้นลดปริมาณลง จนในที่สุดฤดูฝนก็กลายเป็นฤดูแล้ง เมื่อมนุษย์เริ่มอาศัยอยู่ไม่ได้พวกเขาก็พากันอพยพจากไป ทิ้งไว้แต่ผืนดินแห้งขอด และพืชบางชนิดเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดค่อยๆสะสมเป็นระยะเวลากว่าพันปี

ศาสตราจารย์ Wright อ้างอิงทฤษฎีดังกล่าวจากหลักฐานที่พบว่า ซาฮารามีร่องรอยของการเคยมีแม่น้ำหลายสายในอดีต รวมไปถึงการค้นพบเมล็ดพืชต่างสายพันธุ์ใต้ผืนทราย

ซาฮาราเคยเป็นพื้นที่เขียวชอุ่ม และแห้งแล้งโดยน้ำมือมนุษย์

ช่วงเวลาที่ทวีปแอฟริกานั้นมีความชุ่มชื้นมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ 16,000 - 6,000 ปีก่อน จนกระทั่งโลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับการเอียงของแกนโลกจาก 24.14 องศาเป็น 23.45 องศา ส่งผลให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และมรสุมไม่อาจเดินทางมายังซาฮาราได้ดังเดิม จึงนำมาสู่ความแห้งแล้งในปัจจุบัน ซึ่งนี่คือทฤษฎีปัจจุบันที่เชื่อว่าน่าจะเป็นจุดกำเนิดของทะเลทรายผืนนี้

อย่างไรก็ดีศาสตราจารย์ Wright เองไม่เชื่อในทฤษฎีดังกล่าว ตัวเขาระบุว่าทะเลทรายซาฮารานั้นน่าจะเกิดจากการเกษตรโดยมนุษย์ และในอดีตเองพื้นที่ทางตะวันออกของทวีปเอเชีย ก็เคยเกิดปรากฏการณ์เดียวกันนี้มาแล้วเช่นกันทั้งนี้ทะเลทรายซาฮาราเป็นทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ใน 10 ประเทศของภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ด้วยขนาดราว 9 ล้านตารางกิโลเมตร ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อปีนั้นสวนทาง ด้วยปริมาณเพียง 20 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น

ซาฮาราเคยเป็นพื้นที่เขียวชอุ่ม และแห้งแล้งโดยน้ำมือมนุษย์

ปัจจุบันประชากรมนุษย์คิดเป็นสัดส่วน 35% ของประชากรทั้งหมดล้วนอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งภูมิทัศน์เหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการจัดการปรับปรุงให้ดีขึ้น หากมนุษย์ยังคงอาศัยอยู่ต่อไป ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับทะเลทรายซาฮารา และโฉมหน้าของปัจจุบันเป็นบทเรียนที่ดี ถึงแม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะยังไม่อาจระบุได้ชัดเจนก็ตาม

หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับซาฮารานั้นได้บ่งชี้ให้เห็นแล้วว่า เมื่อธรรมชาติทั้งหมดถูกทำลายลง ไม่มีโอกาสครั้งที่ 2 อีกต่อไปให้แก้ตัว มิฉะนั้นแล้วซาฮาราแห่งใหม่ก็คงจะเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ทั่วโลก