"กรากะตัว" ภูเขาไฟมรณะแห่งอินโดนีเซีย
"บุตรแห่งกรากะตัว" ภูเขาไฟมรณะแห่งอินโดนีเซีย ที่เคยทำให้ท้องฟ้าเหนือพื้นโลกต้องมืดมิดไปชั่วขณะ
"บุตรแห่งกรากะตัว" ภูเขาไฟมรณะแห่งอินโดนีเซีย ที่เคยทำให้ท้องฟ้าเหนือพื้นโลกต้องมืดมิดไปชั่วขณะ
ย้อนเหตุการณ์ระเบิดครั้งรุนแรงของ ภูเขาไฟกรากะตัว แห่งอินโดนีเซีย ที่ได้พ่นเถ้าถ่านสู่ท้องฟ้าจนบดบังแสงอาทิตย์ทำให้โลกมืดไปชั่วขณะ
การปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะชื่อเดียวกันบริเวณกลางทะเลระหว่างเกาะชวา กับ เกาะสุมาตรา ได้ส่งผลให้เกิดดินถล่มใต้มหาสมุทรและเกิดเป็นคลื่นยักษ์สึนามิพักถล่มชายฝั่งทางภาคตะวันตกของอินโดนีเซียเมื่อคืนวันที่ 22 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าครึ่งร้อย บาดเจ็บอีกกว่าครึ่งพัน
ภูเขาไฟกรากะตัว ได้รับการขนานนามว่า "บุตรแห่งกรากะตัว" ก่อนหน้านี้การระเบิดของภูเขาไฟลูกนี้ก่อให้เกิดหายนะครั้งใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย พื้นที่โดยรอบถูกทำลายล้างอย่างราบคาบ ท้องฟ้ามืดมิดจากเถ้าถ่านที่พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้านานนับสัปดาห์
นี่คือหนึ่งในภูเขาไฟมรณะของโลกที่ตั้งอยู่บนวงแหวนไฟ ( Ring of Fire) และนี่คือเรื่องราวของ "บุตรแห่งกรากะตัว"
ภูเขาไฟกรากะตัว ตั้งอยู่เป็นเกาะที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งอยู่บนวงแหวนไฟที่พาดผ่านใจกลางเกาะ ยอดปล่องภูเขาไฟที่สูงที่สุดในเกาะมีความสูง 820 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
ในอดีตที่ผ่านมา ภูเขาไฟกรากะตัวมีการระเบิดเล็กๆน้อยๆหลายครั้ง แต่การระเบิดได้พ่นแร่ธาตุออกมาทำให้เกาะอุดมสมบูรณ์ขึ้น ชาวบ้านจึงไม่ได้ตระหนักถึงภัยอันตรายของภูเขาไฟระเบิด ภูเขาไฟกรากะตัวเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นใน พ.ศ. 2224 หลังจากนั้น กรากาตัวก็สงบไปนานกว่า 200 ปี
การระเบิดครั้งรุนแรงสุดของ "ภูเขาไฟกรากะตัว"
ปี พ.ศ.2426 ภูเขาไฟกรากะตัวที่เงียบสงบมานานก็เกิดระเบิดขึ้นถึง 3 ครั้งในปีเดียว
วันที่ 20 พฤษภาคม 2426 ภูเขาไฟกรากะตัวระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงพ่นเถ้าถ่านควันไฟอีกจำนวนมากออกมา ผู้คนประหลาดใจมากที่เห็นภูเขาไฟที่เงียบสงบมานานเกิดระเบิดขึ้น แต่ต่อมาเหตุการณ์ค่อยๆสงบลง และหลังจากนั้นภูเขาไฟก็มีการระเบิดเล็กๆน้อยๆหลายครั้ง
กระทั่งวันที่ 26 สิงหาคม 2426 กรากะตัวระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง เกาะทั้งเกาะสั่นสะเทือน เถ้าถ่านฝุ่นควันปลิวไปทั่วท้องฟ้า และได้เกิดระเบิดขนาดกลางมาอีกหลายครั้ง ชาวบ้านต่างเกิดความหวาดกลัว
มีรายงานว่า แม้ผู้ที่กำลังอยู่ในเรือที่อยู่ห่างจากกรากะตัวถึง 16 กิโลเมตรก็ยังเห็นการระเบิดอย่างชัดเจน และรู้สึกได้ว่าน้ำทะเลรอบเรือมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก การระเบิดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผู้คนเริ่มล่องเรืออพยพไปจากเกาะ ส่วนผู้ที่เลือกจะอยู่ในเกาะก็พยายามหาที่กำบังให้ปลอดภัยที่สุด
วันที่ 27 สิงหาคม 2426 เวลา 10.00น. เป็นวันที่จารึกในประวัติศาสตร์ว่า ภูเขาไฟกรากะตัว ได้เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด แรงระเบิดคร่าชีวิตทุกคนที่ยังอยู่บนเกาะ พื้นที่ร้อยละ 65.52 ของเกาะกลายเป็นเถ้าธุลีอย่างสิ้นเชิง
เถ้าถ่านฝุ่นควันที่ถูกพ่นออกมาจากปากปล่องลอยสูงขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร พื้นที่ในรัศมี 240 กิโลเมตรรออบเกาะถูกเถ้าธุลีของภูเขาไฟบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิดราวกับเวลากลางคืน
เสียงระเบิดในครั้งนั้นดังสนั่นปฐพีจนผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองปัตตาเวียที่ห่างออกไปถึง 150 กิโลเมตรยังต้องเอามืออุดหู ขณะที่ผู้คนที่อาศัยบนเกาะโรดริเกซซึ่งอยู่ห่างจากกรากาตัวถึง 4,776 กิโลเมตรก็ได้ยินเสียงระเบิดเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้การระเบิดยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิ สูงกว่า 30 เมตร พัดเข้าถล่มเกาะหลายแห่ง แรงแผ่นดินไหวจากการระเบิดของภูเขาไฟกรากาตัวตรวจจับได้แม้แต่ในสหราชอาณาจักร
เหตุการณ์ในครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 36,000 คน
ภาพวาดเหตุการณ์ระเบิคครั้งรุนแรงของภูเขาไฟกรากะตัวในปีพ.ศ.2426
"วงแหวนไฟ" แนวภูเขาไฟของโลก
"วงแหวนไฟ" ( Ring of Fire) เป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร และวางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟและบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก โดยมีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายในวงแหวนไฟทั้งหมด 452 ลูก และเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาไฟคุกกรุ่นอยู่กว่าร้อยละ 75 ของภูเขาไฟคุกรุ่นทั้งโลก
ภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงที่ตั้งอยู่ในวงแหวนไฟ เช่น ภูเขาไฟบียาร์รีกา ประเทศชิลี, ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ สหรัฐอเมริกา เคยเกิดการระเบิดครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 , ภูเขาไฟฟุจิ ประเทศญี่ปุ่น ระเบิดครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 1707 , ภูเขาไฟปินาตูโบ ภูเขาไฟมายอน ภูเขาไฟตาอัล และภูเขาไฟกันลาออน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งภูเขาไฟปินาตูโบเคยเกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1991, ภูเขาไฟแทมโบรา ภูเขาไฟเคลูด และภูเขาไฟเมราปี ประเทศอินโดนีเซีย; ภูเขาไฟลูอาเปทู ประเทศนิวซีแลนด์ และภูเขาไฟเอริบัส ทวีปแอนตาร์กติกา
ประเทศที่ตั้งหรือมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนววงแหวนไฟ ได้แก่ ประเทศเบลีซ โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย ชิลี คอสตาริกา เอกวาดอร์ ติมอร์-เลสเต เอลซัลวาดอร์ ไมโครนีเซีย ฟิจิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คิริบาส เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นิการากัว ปาเลา ปาปัวนิวกินี ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู และสหรัฐอเมริกา
ข้อมูล และภาพจาก wikipedia, เอเอฟพี