สัมพันธ์ฝรั่งเศส-อิตาลีร้าว! รบ.ปารีสเรียกทูตกลับประเทศ
ฝรั่งเศส เรียกทูตประจำอิตาลีกลับประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ปมผู้อพยพ-เสื้อกั๊กเหลือง
ฝรั่งเศส เรียกทูตประจำอิตาลีกลับประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ปมผู้อพยพ-เสื้อกั๊กเหลือง
กระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศสได้ออกแถลงการเรียกตัว นายคริสเตียน มาสเซต์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงโรมกลับประเทศทันที โดยรัฐบาลปารีสระบุในแถลงการณ์ว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทางฝรั่งเศสไม่พอใจรัฐบาลอิตาลีจากการที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอิตาลี กล่าวหาฝรั่งเศสอย่างไร้หลักฐานในหลายประเด็น
แม้ว่าทางฝรั่งเศสจะไม่เอ่ยถึงตัวบุคคลในรัฐบาลอิตาลีตรงๆ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าหมายถึง นาย ลุยจิ ดิมาโย รองนายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่เมื่อหลายเดือนก่อนได้ออกมากล่าวหารัฐบาลฝรั่งเศสว่ายังคงเดินหน้าแสดงหาอาณานิคมจากชาติในแอฟริกา จนเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาผู้อพยพเข้ามาในยุโรปจำนวนมาก
(ซ้าย) จูเซปเป้ คอนติ นายกอิตาลี (ขวา) ลุยจิ ดิ มาโย
เช่นเดียวนาย มัตเตโอ ซัลวินี รัฐมนตรีมหาดไทยของอิตาลี ที่เรียกประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ว่าเป็นผู้นำฝรั่งเศสที่แย่ที่สุด และหวังว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในฝรั่งเศสจะออกมาต่อต้านนายมาครอง
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นาย ลุยจิ ดิมาโย เข้าพบปะกับกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อกั๊กสีเหลือง ที่ออกมาเดินขบวนในกรุงปารีสและทั่วประเทศ พร้อมกับทวีตข้อความว่า "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้พัดผ่านเทือกเขาแอลป์เข้าสู่ฝรั่งเศสแล้ว" ส่งผลให้ฝรั่งเศสฟิวขาด เรียกทูตประจำกรุงโรมกลับประเทศทันที
มัตติโอ ซัลวินี
ประเด็นด้านผู้อพยพนั้นนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายชาติในยุโรปต่างขัดแย้งกันเอง โดยที่อิตาลี นับตั้งแต่ที่พรรคฝ่ายขวาทั้ง Five Star Movement ที่มีแกนนำอย่างนายลุยจิ ดิ มาโด และLega Nord ของนายมัตเตโอ ซัลวินี จัดตั้งรัฐบาลที่มีนายจูเซปเป คอนติ ผู้โลว์โปร์ไฟล์ทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลอิตาลีได้ปิดรับผู้อพยพจากแอฟริกาทันที อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องความขัดแย้งในนโยบายด้านเศรษฐกิจกับกลุ่มสหภาพยุโรปด้วย
การที่รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกทูตประจำกรุงโรมกลับประเทศครั้งนี้ นับว่าเป็นความบาดหมางครั้งแรกของทั้งสองชาตินับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
ทั้งนี้ ความบาดหมางระหว่างอิตาลีและฝรั่งเศส สร้างแรงกดดันใหม่ให้กับสหภาพยุโรป ตั้งแต่การรับมือกับคลื่นแนวคิดประชานิยมขวาจัดที่คืบคลานไปทั่วยุโรป และเตรียมรับแรงปะทะจากความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรปแบบหักดิบ หรือ hard Brexit อย่างไร้ข้อตกลง ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ รวมถึงการออกจากตำแหน่งทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนีด้วย
ด้าน Nathalie Loiseau รัฐมนตรีกิจการยุโรปของฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้ทั้งอิตาลีและฝรั่งเศส ซึ่งล้วนเป็นแกนนำสำคัญของสหภาพยุโรปเริ่มต้นหารือทางการเมืองร่วมกันใหม่อีกครั้ง แม้จะมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน รวมถึงขอให้ทางอิตาลี "ให้เกียรติฝรั่งเศสกันบ้าง"