posttoday

ญี่ปุ่นเชิญคุซานางิดาบในตำนานให้ชมเป็นขวัญตา

18 เมษายน 2562

สมเด็จพระจักรพรรดิเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์เสด็จไปรายงานเทพเจ้าในการพระราชพิธีสละราชสมบัติ


สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่น เสด็จไปยังศาลเจ้าใหญ่อิเซะ จังหวัดมิเอะ เพื่อประกอบพิธีถวายรายงานแด่เทพเจ้าในศาสนาชินโต ว่าพระองค์จะทรงสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายนนี้ ในการนี้ได้มีการอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 2 คือพระแสงดาบคุซานางิ และยาซากานิโนะมางะตามะ หรือลูกปัดหยกลักษณะคล้ายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ออกมาจากจากพระราชวังอิมพีเรียลเพื่อประกอบพิธีร่วมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์อีกชิ้นหนึ่งที่เก็บรักษาไว้ ณ ศาลเจ้าใหญ่อิเซะ นั่นคือคันฉ่องหรือกระจกสำริด มีชื่อว่า ยาตะโนะคะงะมิ

นับเป็นเรื่องไม่บ่อยครั้งนักที่สาธารณชนจะได้เห็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ประจำสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น โดยเฉพาะพระแสงดาบคุซานางิ ซึ่งถือเป็นดาบที่มีชื่อเสียงที่สุดเล่มหนึ่งของโลก มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอภินิหาร และตำนานมากมาย และนับแต่โบราณมีเสียงเล่าลือว่าคุซานางิสูญหายไปแล้ว องค์ปัจจุบันอาจเป็นของจำลอง แต่ไม่มีการยืนยันเรื่องนี้

ญี่ปุ่นเชิญคุซานางิดาบในตำนานให้ชมเป็นขวัญตา Photo by ISSEI KATO / POOL / AFP

ต้นเหตุของข่าวลือมาจากตำนานเฮเกะ (เฮเกะโมโนกาตาริ) ซึ่งเล่าเหตุการณ์การชิงอำนาจในช่วงศตวรรษที่ 14 เมื่อฝ่ายตระกูลไทระพ่ายแพ้ พระอัยกีของจักรพรรดิอันโตะกุจึงอุ้มจักรพรรดิน้อย พร้อมด้วยลูกปัดหยกและดาบคุซานางิกระโจนลงทะเลฆ่าตัวตาย ส่วนนางในที่ถือกระจกสำริดกระโจนลงทะเลไม่ทันถูกจับไว้ กระจกสำริดจึงรอดมาได้ อย่างไรก็ตาม ตำนานเฮเกะยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อในแง่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ จึงยืนยันไม่ได้ว่าดาบคุซานางิจมทะเลไปจริงๆ และดาบที่ปรากฎอยู่คือของจำลองหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีตำนานยิบย่อยเกี่ยวกับดาบต่อมาอีกว่า ดาบได้ลอยจากทะเลกลับมายังแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง มันจึงไม่เคยสูญหายและกลับสู่ราชสำนักได้อีกครั้งได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเทพเจ้า

ครั้งสุดท้ายที่มีการเชิญพระแสงดาบออกมาคือปี 1989 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ แต่สาธารณชนไม่อาจเห็นองค์จริงได้เพราะอยู่ในกล่องที่คลุมผ้าไว้ ในการอัญเชิญพระแสงดาบคราวนี้ อัญเชิญมาในกล่องพร้อมด้วยผ้าปักลายเบญจมาศ (สัญลักษณ์แห่งพระราชวงศ์) คลุมไว้ จนไม่อาจเห็นองค์จริงได้อีกเช่นกัน

ญี่ปุ่นเชิญคุซานางิดาบในตำนานให้ชมเป็นขวัญตา Photo by Kazuhiro NOGI / POOL / AFP

แต่เดิมดาบคุซานางิเก็บรักษาไว้ที่ศาลเจ้าอัตสึตะ นครนาโงยะ และเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่เป็นอันดับสองในญี่ปุ่น รองจากศาลเจ้าใหญ่อิเซะ อย่างไรก็ตาม แม้แต่นักบวชประจำศาลเจ้าก็ยังไม่เคยเห็นดาบจริงๆ ยกเว้น นักบวชที่ชื่อมัตสึโอกะ มาซานาโอะ ในสมัยเอโดะ อ้างว่าเคยเห็นดาบเล่มนี้ เล่าว่า ดาบมีความยาว 82 เซนติเมตร คมดาบคล้ายใบว่านน้ำ กลางคมดาบมีสันคล้ายก้างแกนสันหลังปลา ตัวดาบเป็นโลหะสีขาว สภาพยังดี เก็บไว้ในกล่อง 3 ชั้น ชั้นในสุดคือกล้องไม้การบูร ชั้นต่อมาคือกล่องหิน ชั้นนอกสุดคือกล่องไม้

สำหรับประวัติของดาบคุซานางิ ปรากฎในบันทึกประวัติศาสตร์โคจิกิ ดาบเล่มนี้ซ่อนอยู่ในหางของงูแปดหัว ซึ่งถูกเทพเจ้าแห่งทะเลและพายุ คือ ซูซาโนโอะสังหาร  และซูซาโนโอะได้ถวายดาบให้กับอามาเตราซุ เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพี่สาว และเป็นบรรพชนของจักรพรรดิญี่ปุ่นทุกพระองค์ ต่อมาอามาเตราซุได้มอบดาบนี้ พร้อมด้วยกระจกสำริด และลูกปัดหยกให้กับลูกหลานของพระองค์ ที่เป็นผู้ปกครองแผ่นดินญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเชิญคุซานางิดาบในตำนานให้ชมเป็นขวัญตา Photo by ISSEI KATO / POOL / AFP

ทั้งนี้ ชื่อดาบคุซานางิ แปลว่า ดาบตัดพงหญ้า มาจากตำนานที่เล่าขานว่า สมเด็จพระจักรพรรดิเคโก ได้พระราชทานดาบนี้ให้กับยามาโตะ ทาเครุ นักรบผู้ยิ่งใหญ่ในช่วงราวศตวรรษที่ 1 - 2 ครั้งหนึ่ง ทาเครุถูกศัตรูลวงเข้าไปในทุ่งหญ้าแล้วถูกโอบล้อมไว้ ศัตรูได้ยิงธนูเพลิงหวังจะเผาเขาให้ตาย ทาเครุจนปัญญาจึงพยายามใช้ดาบคุซานางิฟันพงหญ้าเพื่อตีฝ่าออกมา แต่ทุกครั้งที่เขาเงื้อดาบฟันจะปรากฎพลังลมพัดรุนแรง เขาจึงทราบว่าดาบนี้มีพลังในการบังคับลม จึงใช้มันควบคุมลมให้พัดเปลวเพลิงไปทางศัตรู ไม่เพียงรอดจากกองไฟมาได้ เขายังได้รับชัยชนะอย่างงดงามอีกด้วย และตั้งชื่อดาบนี้ว่า คุซานางิ