"ไร้มารยาทและไร้รสนิยม" ยุโรปกับทัศนะต่อการล้อเลียนสถาบัน
โดย กรกิจ ดิษฐาน
โดย กรกิจ ดิษฐาน
จากกรณีที่รายการโทรทัศน์ของเยอรมนี SAT. 1 FRÜHSTÜCKSFERNSEHEN ล้อเลียนพระราชพิธีสำคัญของไทย จนสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทยเป็นจำนวนมาก ทางรายการจึงต้องทบทวนการแพร่ภาพรายการ และกล่าวว่าการล้อเลียนดังกล่าวไม่เหมาะสม และเป็นการดูหมิ่น และขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น
ในประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่าเรามีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
แต่นอกจากนี้ เรายังมีขนบธรรมเนียมที่คนไทยล้วนตระหนักดี แม้จะไม่มีตัวบทกฎหมายเขียนบอกไว้ นั่นคือเมื่อใดก็ตาม ที่มีคนไทยหรือคนต่างชาติ กระทำการดูหมิ่นองค์พระประมุขและพระบรมวงศานุวงศ์ คนไทยจะลุกขึ้นมาปกป้องและทักท้วง จนเกิดแรงกดดันอย่างหนักหน่วงต่อผู้กระทำการหมิ่นพระเกียรติยศ เหมือนกรณีของรายการโทรทัศน์ของเยอรมนี
ในประเทศตะวันตก หลายประเทศก็ยังคงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังคงมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ Lèse majesté เช่นเนเธอร์แลนด์ หากผู้ใดผู้หนึ่งดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศ์นุวงศ์ จะต้องโทษจำคุก 5 ปี พร้อมปรับ โดยในระหว่างปี 2000 - 2012 มีผู้ถูกดำเนินคดีถึง 18 ราย ถูกลงโทษ 9 ราย รายล่าสุด คือ ชายวัย 44 ปี ที่ดูหมิ่นสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ด้วยวาจาอย่างร้ายแรง ถูกลงโทษจำคุก 30 วัน
ที่สเปน เมื่อปี 2007 นิตยสารแนวเสียดสี El Jueves ถูกสั่งปรับเงิน ฐานล้อเลียนมกุฏราชกุมารกับและพระชายา (ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6)
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนแคว้นคาตาลัน ประท้วงสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเป แห่งสเปน Photo by Josep LAGO / AFP
เดนมาร์ก พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการปกป้องตามกฎหมายอาญามาตราว่าด้วยการหมิ่นประมาท แต่หากละเมิดพระบรมวงศ์อื่นๆ รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าการหมิ่นประมาททั่วไป
อย่างไรก็ตาม บางประเทศในยุโรปได้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว อีกทั้งยังเชิดชูแนวคิดเสรีนิยมกันอย่างแพร่แหลาย โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องอะไรก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ความเห็นที่ดูหมิ่นดูแคลนประมุขของชาติ เช่นที่สหราชอาณาจักร สก็อตแลนด์ได้ยกเลิกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือ leasing-making เมื่อปี 2010 แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการเอาผิดมาตั้งแต่ปี 1715
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แล้ว ที่องค์พระประมุขของอังกฤษทรงถูกล้อเลียนและหมิ่นพระเกียรติยศทั้งโดยชาวอังกฤษเองและชาวต่างชาติ เช่น รายการ Spitting Image ของอังกฤษระหว่าง 1984 - 1996 ที่ล้อเลียนสมเด็จพระราชินีและพระบรมวงศ์อย่างหนัก หรือ รายการ SNL ของสหรัฐมี Skit หรือรายการตลกล้อเลียนพระองค์หลายตอน
อังกฤษมีประวัติศาสตร์ของการล้อเลียนราชวงศ์ที่ยาวนาน เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ราชวงศ์อังกฤษเคยถูกลดทอนพระราชอำนาจมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงการแพร่หลายของแนวคิดเสรีนิยมและการแสดงความเห็นล้อเลียนสถาบันหลัก ในบทความเรื่อง When did the British become so uptight about mocking the monarch? โดย Misha Ketchell แห่งเว็บไซต์ The Conversation กล่าวว่า "ในศตวรรษที่ 18 ชาวอังกฤษเห็นว่าการล้อเลียนลักษณะนั้น เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของเสรีภาพที่พวกเขากำลังมีอยู่ (แม้ในยุคนั้นค่อนข้างห่างไกลจากคำว่าเสรีภาพก็ตาม)"
จะว่าไปแล้ว ตามมาตรฐานยุโรปเอง การล้อเลียนบุคคลสำคัญในอังกฤษก็ยังเสรีเกินกว่าหลายๆ ประเทศจะทำตามได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงประเทศที่มีวัฒนธรรมต่างจากอังกฤษโดยสิ้นเชิง
สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์กับเจ้าหญิงอามาเลีย แห่งเนเธอร์แลนด์ Photo by Robin van Lonkhuijsen / ANP / AFP
อย่างไรก็ตาม ในบทความเดียวกันนั้น ชี้ให้เห็นว่าในเวลานี้ ชาวอังกฤษเริ่มที่จะไม่สนุกกับการล้อเลียนพระประมุขของชาติ โดยยกกรณีของผู้ดำนินรายการวิทยุแนวแนวขบขันของ BBC ที่ถูกไล่ออกเพราะล้อเลียนเรื่องรสนิยมทางเพศของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลังจากมีผู้ยื่นร้องเรียนผู้ดำเนินรายการถึง 120 คำร้อง
ผู้เขียนบทความชี้ว่า ตอนนี้สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษกลับมาได้รับความนิยมและได้รับความเคารพมากขึ้น จนผู้คนเลิกถกเถียงกันเรื่องที่ว่าควรจะล้อหรือไม่ล้อกันแล้ว (เพราะคำตอบก็คือไม่ควร - ผู้เขียน)
ในเว็บไซต์ Quora มีการตั้งกระทู้ถามว่า การล้อเลียนสมเด็จพระราชินีอังกฤษเป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่? มีผู้ตอบว่า "ไม่ผิดกฎหมาย แต่หลายคนคงคิดว่าเป็นรสนิยมที่แย่" (Nigel Scott-Moncrieff) อีกคนแสดงความเห็นว่า "ไม่ผิดกฎหมายแต่ไร้หัวใจ" (Mikhail V. Avdonin) และอีกคนหนึ่งบอกว่า "ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีคลาส ไม่มีความเคารพ และไม่มีมารยาทที่ดีงาม" (Daise Kendrick)
ทัศนะแบบนี้อาจจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความนิยมต่อสถาบันที่ปรับเพิ่มขึ้นมากเช่นกันในระยะหลัง เช่น ก่อนที่จะมีงานพระราชพิธีพัชราภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2012 มีผลสำรวจโดย Guardian/ICM ระบุว่า ชาวอังกฤษ 69% เห็นว่าถ้าไม่มีสถาบันประเทศชาติจะแย่ และเมื่อปี 2018 ผลสำรวจโดย YouGov พบว่า ชาวอังกฤษ 69% หรือ 2 ใน 3 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าตัวเองเป็นผู้สนับสนุนราชบังลังก์
แม้แต่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสมาชิกเครือจักรภาพอังกฤษ และมีกระแสเรียกร้องให้ถอนตัวจากเครือจักรภพเพื่อสถาปนาสาธารณรัฐ แต่ความนิยมในราชวงศ์อังกฤษกลับเพิ่มขึ้น ส่วนพวกสาธารณรัฐนิยมคะแนนนิยมลดลง ในการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
Jeremy Paxman นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Empire บอกไว้เมื่อครั้งงานพระราชพิธีพัชราภิเษกของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่า เขาเคยเป็นพวกที่ไม่นิยมสถาบันมาก่อน แต่ตอนนี้เปลี่ยนความคิดแล้ว และกล่าวว่า "ตอนนี้เราทุกคนรักสมเด็จพระราชินี และเสียงประท้วงแบบแผ่นเสียงตกร่องจากพวกนิยมสาธารณรัฐ ฟังแล้วเหมือนเด็กขี้โมโหที่กระทืบเท้าด้วยความไม่สมอารมณ์ บอกว่าอยากให้งานวันเกิดของแกพังพินาศเพราะฝนตก"
ขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก Photo by Martin Sylvest / Ritzau Scanpix / AFP
ลองมาดูที่เยอรมนี ประเทศนี้มีการปกครองแบบสหพันธรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดีจากการดูหมิ่นดูแคลน
แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะก่อนปี 2017 ยังมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของประเทศอื่นจากการดูหมิ่นโดยชาวเยอรมนีอีกด้วย กฎหมายมาตรานี้ได้ยกเลิกไปเพราะผู้นำเยอรมนีไม่ต้องการทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลตุรกี ให้ลงโทษนักแสดงตลกที่ล้อเลียนผู้นำตุรกี ซึ่งตามกฎหมายของเยอรมนีแล้ว ไม่สามารถบ่ายเบี่ยงข้อเรียกร้องนี้ได้ แต่เพราะทั้ง 2 ประเทศมีเรื่องระหองระแหงกัน รัฐบาลเยอรมนีจึงยกเลิกกฎหมายดังกล่าวไปเสีย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีพันธะผูกมัด
หากกฎหมายมาตรานี้ยังคงมีอยู่ รายการโทรทัศน์ของเยอรมนีที่ดูหมิ่นพระเกียรติยศ ก็คงไม่แคล้วที่จะถูกดำเนินคดี
ทัศนะต่อสถาบันพระมหากษัตรย์ แตกต่างกันไปเงื่อนไขและวิวัฒนาการของแต่ละประเทศ ในยุโรปอาจจะรู้สึกไม่ผูกพันและเคารพเทิดทูน และไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะล้อเลียน หรือวิจารณ์ในทางที่ไม่สร้างสรรค์ โดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น
ทว่า ในยุโรปเองก็มีเงื่อนไขต่างกัน ชาวอังกฤษอาจจะปฏิบัติต่อสถาบันอย่างไม่เกรงใจ แต่ในเนเธอร์แลนด์คนที่ทำแบบนั้นอาจได้รับโทษ
ไม่ต้องพูดถึงประเทศไทยที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม และความเคารพต่อสถาบันแตกต่างจากยุโรปโดยสิ้นเชิง
อ้างอิง
"This is how these 12 countries will punish you for insulting their heads of state". globalpost.com. Retrieved 26 January 2017.
"Spain royal sex cartoonists fined". BBC. 13 November 2007. Retrieved 13 November 2007.
"Resinformation.dk". retsinformation.dk. Retrieved 26 January 2017.
"When did the British become so uptight about mocking the monarch?". The Conversation. 7 October 2016.
"Here's why people love the Royal family so much". Yahoo Style UK. 16 April 2019.
"Australian 'republic' loses support: Monarchy most popular since 1999". Express. 10 April 2018.
"Jeremy Paxman: We’re all monarchists now – even me". Telegraph. 03 June 2012.
"Is it currently legal to mock/insult the king/queen of the UK? For example, could a person put Elizabeth's face under the "piss boy" and display it?". Quora. Retrieved 08 May 2019.