อยู่มาร้อยปีฮ่องกงไม่เคยเป็นประชาธิปไตย ทำไมอังกฤษต้องหักหลังจีน
สาเหตุที่ทำให้อังกฤษต้องเร่งผลักดันกระบวนการประชาธิปไตยในช่วงโค้งสุดท้าย ก็เพราะเกิดกระแสความหวาดกลัวจีนโดยกรกิจ ดิษฐาน
ฮ่องกงเคยเป็นแผ่นดินของจีน แต่มาเสียไปตอนที่แพ้สงครามฝิ่นให้อังกฤษในปี 1842 หลังจากนั้นเกือบร้อยปี อังกฤษปกครองฮ่องกงในแบบอาณานิคม ผู้ปกครองคือคนอังกฤษ ภาษาราชการคืออังกฤษ ไม่มีการเลือกตั้ง สภาพของฮ่องกงเหมือนจังหวัดหนึ่งที่มีผู้ว่าราชการส่งมาจากเมืองแม่คืออังกฤษ ประชาชนไม่มีสิทธ์เลือกผู้นำ แม้แต่เลือกผู้บริหารท้องถิ่นตัวเองก็ไม่มีโอกาส
สภาพของฮ่องกงในช่วงหลังตกเป็นของฮังกฤษจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีคำว่าประชาธิปไตย ชาวจีนตั้งหน้าตั้งตาค้าขายกันไป ไม่ได้สนใจที่จะโค่นล้มเจ้านายอังกฤษเพื่อปกครองตัวเอง
จนกระทั่งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปี (ปีค.ศ. 1936) ได้มีตั้งคณะกรรมการสุขาภิบาล (Sanitary Board) ขึ้น และปีต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สภาเทศบาล (Urban Council) โดยสมาชิกได้รับการแต่งตั้งและครึ่งหนึ่งไม่ใช่คนจีน มีหน้าที่ดูแลความสะอาดเรียบร้อยในชุมชน คณะกรรมการนี้คือรากฐานของการปกครองท้องถิ่น แต่กว่าจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ต้องใช้เวลาอีกนานแสนนาน และจะว่าไปแล้ว "ประชาธิปไตยโค้งสุดท้าย" เป็นเครื่องมือสำคัญที่อังกฤษใช้ก่อกวนการปกครองของจีนด้วย
หลังสงครามโลกแล้ว อังกฤษเริ่มเสื่อมอำนาจลงในฐานะเจ้าอาณานิคมทั่วโลก และเริ่มกลัวว่าจีนจะทวงฮ่องกงคืน จึงเริ่มแบ่งอำนาจให้คนจีนในฮ่องกงปกครองตนเองในปี 1946 เรียกว่า Young Plan ตามชื่อของผู้ว่าฯ มาร์ก ยัง แผนการนี้คือกระจายอำนาจให้คนจีนเข้ามามีสิทธ์มีเสียงในสภาเทศบาล (Urban Council) มากขึ้น ด้วยการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภา แต่ปรากฎว่าคนอังกฤษด้วยกันเองคัดค้าน และเมื่อผู้ว่าคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งแทน คือ อเล็กซานเดอร์ แกรนแธม ก็จัดการล้มแผนนี้ไป เนื่องจากแกรนแธมศรัทธาในการปกครองจากส่วนกลางอย่างฝังหัว
ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 ผู้ว่าฯ ฮ่องกงยอมให้กระจายอำนาจเล็กน้อย โดยให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลครึ่งหนึ่ง แต่ชาวฮ่องกงไม่ได้ใส่ใจที่จะเลือกตั้งมากนัก และอำนาจของสภาพก็แค่ดูแลสุขอนามัยของชุมชนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจของอังกฤษทำให้จีนไม่พอใจ โดยนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนเตือนให้อังกฤษอย่ากระจายอำนาจ เพราะเท่ากับป็นการสอนให้ฮ่องกงปกครองตัวเอง นี่คือจุดเริ่มต้นของการที่อังกฤษใช้ฮ่องกงก่อกวนจีนและจีนก็ใช้ฮ่องกงข่มขู่อังกฤษ
ในช่วงทศวรรษที่ 60 จีนแสดงจุดยืนชัดเจนว่า อังกฤษจะต้องไม่กระจายอำนาจหรือสอนประชาธิปไตยให้ฮ่องกง ฮ่องกงจะต้องปกครองแบบอาณานิคมโดยส่งข้าราชการมาปกครองจากส่วนกลาง และหากอังกฤษพยายามเปลี่ยนแปลงหลักการนี้ จีนจะไม่รีรอที่จะประกาศจุดยืนทวงคืนฮ่องกง นับแต่นั้นมารัฐบาลอังกฤษไม่ขยับเรื่องการกระจายอำนาจอีก ขณะที่จีนก็วุ่นวายกับวิกฤตการเมืองภายใน
จนกระทั่งในทศวรรษที่ 80 จีนเปิดประเทศ เติ้งเสี่ยวผิงต้องการทวงคืนฮ่องกงกลับมาหลังจากสนธิสัญญาเช่า 99 ปีจบลงในปี 1997 จึงเริ่มเจรจากับอังกฤษและยืนยันว่าจะนำฮ่องกงกลับคืนมาสู่แผ่นดินใหญ่ อังกฤษไม่มีทางเลือกเพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะป้องกันฮ่องกงจากการใช้กำลังทางทหารได้ แม้แต่น้ำและอาหารยังต้องซื้อจากแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม จีนเองก็ไม่มีทางเลือก เพราะหากยึดฮ่องกงกลับมาแล้วปกครองแบบแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงจะพังพินาศอย่างแน่นอน ประเด็นนี้ทำให้ภาคธุรกิจของฮ่องกงกังวลกันมาก
เติ้งเสี่ยวผิงเล็งเห็นว่าฮ่องกงจะต้องเป็นศูนย์กลางระบอบทุนนิยมต่อไป และเพื่อรักษาสถานะหน้าต่างการค้าสู่แผ่นดินใหญ่ ทั้งอังกฤษและจีนจึงตกลงที่จะให้ฮ่องกงมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่งหลังจากสิ้นสุดสถานะอาณานิคมในปี 1997 เรียกว่า "หนึ่งประเทศ สองระบบ" แต่หลักการนี้จะสิ้นสุดในปี 2047
การให้อำนาจปกครองตนเองไม่ได้หมายความว่าจะมีการเลือกตั้งเต็มที่ ตามข้อตกลงร่วมในปี 1984 (Sino–British Joint Declaration) ผู้บริหารฮ่องกงจะต้องรับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางของจีนส่วนการเลือกตั้งจะมีเพียงบางส่วน
การเลือกตั้งทั่วไปไม่ได้อยู่ในข้อตกลงส่งคืนฮ่องกง และเติ้งเสี่ยวผิงเคยบอกไว้ในปี 1987 ว่า "ฮ่องกงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปหรือไม่นั้น ผมไม่คิดว่าเป็นการดี"
แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้น อังกฤษริเริ่มการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นของฮ่องกงอย่างเร่งด่วน โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากจีนที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งแบบสมบูรณ์แบบ ในปี 1985 อังกฤษให้มีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเป็นครั้งแรกโดยเป็นการเลือกทางอ้อม ต่อมาในปี 1991 ให้มีการเลือกทางตรง และในปี 1995 ให้มีการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์โดยที่จีนคัดค้านอย่างรุนแรง เพราะเป็นการชี้นำให้คนฮ่องกงปกครองตนเองเกินระดับที่ตกลงกันไว้
คริส แพทเทน ผู้ว่าการฮ่องกงคนสุดท้ายเป็นผู้ที่ริเริ่มการปฏิรูปและนำประชาธิปไตยเต็มใบมาสู่ฮ่องกง โดยไม่แยแสข้อตกลงกับจีน ทำให้เขาถูกจีนโจมตีอย่างหนักแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษบางคนก็คัดค้านเพราะกลัวว่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ 2 ประเทศ
สาเหตุที่ทำให้อังกฤษต้องเริ่งผลักดันกระบวนการประชาธิปไตยในช่วงโค้งสุดท้าย ก็เพราะเกิดกระแสความหวาดกลัวจีนหลังกรณีเทียนอันเหมิน แต่นี่คือข้ออ้างของฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้ง เราไม่มีทางรู้เจตตนาจริงๆ ที่อังกฤษทำเช่นนี้
หลังจากปี 1997 การริเริ่มของคริส แพทเทนถูกจีนยุบไป แต่มันสายไปแล้ว เพราะชาวฮ่องกงได้รู้จักประชาธิปไตยเต็มไป ทำให้จีนต้องปล่อยเลยตามเลยและจีนจึงถูกบีบให้สัญญากับคนฮ่องกงว่าจะอนุญาตให้เลือกตั้งผู้นำของตัวเองได้ แต่จนแล้วจนรอดจีนไม่ทำตามคำสัญญา จนเกิดการประท้วงทุกปี
โดยสรุปก็คือ อังกฤษปกครองฮ่องกงมาถึง 100 กว่าปี แต่เพิ่งจะให้สิทธิเสรีในการเลือกตั้งในช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนที่จะคืนฮ่องกงให้จีน และแผนการนี้ทำให้คนฮ่องกงลิ้มรสชาติประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นจีนก็ต้องปล่อยไปตามที่อังกฤษเริ่มไว้ การท้ิงทวนของอังกฤษเป็นการบ่มเพาะ "จิตวิญญาณเสรี" และทำให้คนฮ่องกงบางส่วนเริ่มไม่พอใจโครงสร้างอำนาจที่จีนกำหนดให้
ทำให้แผนการที่จะปลดปล่อยฮ่องกงจากหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ในปี 2047 ต้องสั่นคลอน เพราะคนฮ่องกงไปไกลกว่าหลักการนี้แล้ว