posttoday

เปิดกฎหมายละเมิดอำนาจศาลของต่างประเทศ

29 สิงหาคม 2562

จากคดีละเมิดศาลไทย ถึงการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ในคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

จากคดีละเมิดศาลไทย ถึงการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ในคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สถาบันศาลมักจะถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม และเมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้วก็ย่อมต้องมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ การวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบางครั้งจึงเกิดคดีละเมิดอำนาจศาลตามมา เช่นกรณีของนักวิชาการคนหนึ่งที่ถูกฟ้องในข้อหาละเมิดศาลหลังเขียนวิจารณ์คำพิพากษากรณี ส.ส. ถือหุ้นสื่อ

ในต่างประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ซึ่งเป็นต้นแบบของประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณี โดยการละเมิดอำนาจศาลเกิดได้หลายกรณี เช่น แสดงกิริยาอาการที่ไม่สมควรต่อศาล ดูหมิ่นศาล ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ขัดขวางการพิจารณาคดี หรืออาจเป็นการสร้างแรงกดดันในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน โดยมีบทบัญญัติอย่างชัดเจนในกฎหมายละเมิดอำนาจศาล Contempt of Court Act 1981 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดสำหรับคดีอาญาอยู่ที่ 2 ปี

นอกจากนี้ กฎหมายละเมิดอำนาจศาลของอังกฤษยังกำหนดขอบเขตของการละเมิดอำนาจศาลนอกเขตศาล โดยหนึ่งในนั้นคือ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่ห้ามตีพิมพ์เรื่องที่อาจส่งผลต่อสิทธิในการให้ความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีที่กระบวนการยุติธรรมยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ เพื่อป้องกันพิจารณาคดีโดยสื่อ (trial by media)ไม่ให้ลูกขุน พยาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีเกิดความโน้มเอียงและอคติจนเสียหายแก่คดี

สหรัฐ

การละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายของสหรัฐคือ การจงใจหรือการละเลยที่เป็นการแทรกแซงหรือขัดขวางการอำนวยความยุติธรรม หรือการปฏิเสธคำสั่งของศาล ไม่เคารพต่ออำนาจศาลและศักดิ์ศรีของศาล หรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคหรือกีดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของศาล โดยศาลมีอำนาจในการตัดสินชี้ขาดคดีละเมิดอำนาจศาลที่เกิดขึ้นในศาลได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการลงความเห็นของคณะลูกขุน อย่างไรก็ดี มีการเรียกร้องให้ศาลแยกคดีดังกล่าวเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก เพื่อให้คณะลูกขุนเข้ามาชี้ความผิด ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ส่วนหนึ่งนั้นน่าจะเพื่อป้องกันศาลลุแก่อำนาจจากอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะที่ถูกดูหมิ่นหรือละเมิดอำนาจ

ขณะที่ในส่วนของสื่อมวลชนนั้นได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรับธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่บอกว่า สื่อมวลชนที่รายงานการข่าวเกี่ยวกับคดีใดๆ จะต้องไม่ถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล นอกเสียจากสื่อมวลชนนั้นๆ จะเป็นคู่ความในคดีที่รายงานข่าว เนื่องจากศาลไม่สามารถสั่งห้ามไม่ให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าว หรือห้ามไม่ให้รายงานข้อเท็จจริงที่เปิดเผยให้สาธารณชนทั่วไปทราบ และการรายงานข่าวดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ต้องปิดตัว

สิงคโปร์

การกระทำที่จะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาล ได้แก่ การกระทำหรือการตีพิมพ์งานเขียนใดๆ ที่เป็นการแสดงความอคติ ขาดความเป็นกลาง ไม่เหมาะสมต่อศาลที่ทำหน้าที่ชี้ขาดตัดสินคดี ยกเว้นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต โดยกฎหมายของสิงคโปร์ไม่ได้กำหนดโทษสำหรับการกระทำผิดไว้ แต่ศาลมีอำนาจในการสั่งลงโทษปรับหรือจำคุกได้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความร้ายแรงของความผิด

ฝรั่งเศส

กฎหมายกำหนดชัดเจนว่าผู้พิพากษามีอำนาจตักเตือนหรือไล่บุคคลออกจากห้องพิจารณาคดีเท่านั้น หากต้องการลงโทษหนักกว่านี้ต้องส่งเรื่องให้อัยการไปเริ่มกระบวนการเป็นคดีอาญาใหม่ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับความคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้ถูกดำเนินคดีอาญา