เปิดเอกสารลับ เหตุการณ์ 6 ตุลาจากการสายตาของCIA
มุมมองของ CIA ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยหลัง 6 ตุลาคม 2519 รายงานและวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน
มุมมองของ CIA ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยหลัง 6 ตุลาคม 2519 รายงานและวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน
เอกสารเหล่านี้เคยเป็นความลับ ก่อนหน้านี้สามารถอ่านได้จากคอมพิวเตอร์ 4 เครื่องที่ตั้งอยู่นอกกรุงวอชิงตันดีซีเท่านั้น แต่เพราะองค์กร MuckRock ผลักดันให้เปิดเผยเอกสารลับตามกฎหมายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น CIA จึงเผยแพร่ความลับเหล่านี้ในที่สุดเมื่อปี 2014 อย่างไรก็ตาม เอกสารที่ได้รับการเปิดเผยยังมีหลายส่วนถูกทาดำทับไว้เพื่อปกปิดข้อมูล
ต่อไปนี้คือมุมมองของ CIA ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยหลัง 6 ตุลาคม 2519
จดหมายข่าวข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Bulletin) ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ระบุว่า "ความรุนแรงปะทุขึ้นช่วงสั้นๆ ในช่วงเช้านี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้ประท้วงรวมตัวกันต่อต้านการปรากฎตัวในประเทศไทยของถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี การต่อสู้ที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่าเกิดจากการกระตุ้นเร้าโดยนักศึกษาอาชีวะติดอาวุธ ซึ่งมักถูกใช้งานโดยฝ่ายขวาอยู่บ่อยๆ เพื่อข่มขู่นักศึกษาหัวรุนแรง"
เอกสารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวต่อไปว่า "แม้ว่ากองทัพจะระวังตัวอย่างเต็มที่ มีการใช้กระบวนการมาตรฐานในช่วงที่เกิดความไม่สงบ กองกำลังตำรวจที่บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยเห็นได้ชัดว่าควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีเสนีย์ให้ตัดสินใจเกี่ยวกับถนอม แต่ข้อกล่าวหาเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเหตุให้มีการจับกุมตัวผู้นำนักศึกษาหลายคน อาจทำให้ฝ่ายอุนรักษ์นิยมต่อต้านการกดดันให้ถนอมเดินทางออกจากประเทศ"
เอกสารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ของ CIA ยังไม่ระบุถึงการยึดอำนาจในวันนั้นโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และยังคาดว่าหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชจะยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ทว่า ในช่วงเย็นวันนั้น (เวลา 18.00 น.) ก็เกิดการทำรัฐประหารขึ้น และ CIA เพิ่งจะกล่าวถึงในวันรุ่งขึ้น แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของสถานการณ์
ในวันที่ 7 ตุลาคม 2519 จดหมายข่าวข่าวกรองแห่งชาติระบุว่า "ยังไม่ชัดเจนว่าการยึดอำนาจกองทัพไทยวานนี้ เป็นการยึดอำนาจอย่างตรงไปตรงมา หรือเป็นนายกรัฐมนตรี (เสนีย์) ผู้วิตกและกังวลที่เชื้อเชิญ (ทหารเข้ามา)" ต่อมาข้อความทั้งย่อหน้ายาวๆ ถูกลบไป และเมื่อข้อมูลปรากฎอีกครั้ง ก็เอ่ยถึงการจัดองค์กรของคณะรัฐประหาร และ CIA ประเมินว่า กองทัพเชื่อจะได้รับการสนับสนุน สถานการณ์ในกรุงเทพฯ วันนั้นสงบเงียบ CIA ประเมินว่าพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เอนเอียงมาทางสหรัฐ และเชื่อว่าคณะรัฐประหารจะไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลเสนีย์ ที่หันไปสานสัมพันธไมตรีกับเวียดนาม
ทั้งนี้ กองทัพสหรัฐเคยใช้ไทยเป็นฐานทัพในสงครามเวียดนาม แต่เมื่อประสบความล้มเหลวในสงครามยืดเยื้อ สหรัฐจึงถอนกำลังทหารออกไปจากเวียดนาม และถอนทัพจากไทยในปี 2518 - 2519 ทำให้รัฐบาลเสนีย์ตัดสินใจที่จะใช้วิถีทางการทูตโดยติดต่อกับเวียดนาม และได้ข้อตกลงว่าเวียดนามจะตั้งสถานทูตในไทย แต่มาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และ "ขวาพิฆาตซ้าย" เสียก่อน (นอกจากนี้ CIA ระบุว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับเวียดนามและการถอนทัพสหรัฐออกไปจากไทย คือนายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ถูกสั่งย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษ)
เอกสารสรุปย่อให้ประธานาธิบดี (The President's Daily Brief) วันที่ 8 ตุลาคม 2519 ระบุว่า พลเรือเอกสงัดและคณะรัฐประหาร (คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) พยายามเน้นย้ำว่า ทหารเข้ามาปูทางให้มีรัฐบาลประชาธิปไตยต่อไปในภายภาคหน้า แต่มีปัญหาเรื่องการหาพลเรือนมาร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนามกล่าวหาว่า "กองทัพไทยสมคบกับสหรัฐในการนำตัวเผด็จการกลับประเทศโดยวางแผนที่จะโค่นล้มรัฐบาลตามระบอบรัฐสภา รัฐบาลเวียดนามเตือนว่า หากรัฐบาลใหม่ใช้นโยบายโปรสหรัฐ ก็จะเผชิญกับผลลัพธ์ที่เลวร้าย"
เอกสารสรุปย่อให้ประธานาธิบดีวันที่ 11 ตุลาคม 2519 ระบุว่า พลเรือเอกสงัด ชลออยู่หวังจะให้มีการตั้งรัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว เพื่อที่จะเบี่ยงความทะเยอทะยานของคนในกองทัพบางฝ่ายที่อยากจะมีบทบาททางการเมือง และในคณะรัฐประหารเอกก็มีเสียงเรียกร้องให้รั้งอำนาจทหารไว้นานกว่านี้ พลเรือเอกสงัดยังกังวลกับหัวหน้าพรรคชาติไทยในเวลานั้นและพันธมิตรของเขาในกองทัพว่าอาจวางแผนทำรัฐประหารซ้อน ทำให้ต้องวางกำลังตรวจตราในกรุงเทพฯ อย่างเข้มงวดเมื่อวันที่ 10 และในวันที่ 10 ยังเรียกเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงมาพบคณะรัฐประหาร เพื่อสอบถามเรื่องรัฐประหารซ้อน
สถานการณ์โดยรวมในกรุงเทพฯ สงบนิ่ง นักศึกษาที่ถูกจับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเริ่มได้รับการประกันตัวออกมา ฝ่ายซ้ายแตกแยกจนต่อไม่ติด และต้องลงไปปฏิบัติการใต้ดิน CIA ประเมินว่าภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงที่สุดของรัฐบาลใหม่ คือความทะเยอทะยานของคนในกองทัพที่ไม่อยากจะสละอำนาจที่ได้มาเร็วเกินไป
ปรากฎในเอกสารวันที่ 12 ตุลาคม 2519 ว่า คือ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ รองผู้บัญชาการทหารบก ที่ถูกปลดจากตำแหน่ง ฐานไม่มารายงานตัว และถูกสงสัยว่าจะทำรัฐประหาร (และในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พล.อ.ฉลาด ก็ก่อกบฎขึ้นจริงๆ)
ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2519 เอกสารของ CIA ยิ่งประเมินว่าภัยคุกคามของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไม่ใช่ฝ่ายซ้ายหรือนักศึกษา แต่เป็นการชิงอำนาจกันเอง "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเริ่มแสดงอาการของความไม่มีเอกภาพ สาเหตุหลักเนื่องจากการแทรกแซงของพล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ไม่อยากจะเสียอำนาจไป" และ "การตัดสินใจของสงัดที่จะตั้งรัฐบาลพลเรือนอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักก็เพื่อก่อกวนยศ" นอกจากนี้ CIA ประเมินว่า การตั้งนายอุปดิศร์ ปาจรียางกูร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็เพื่อที่จะต่อให้ติดกับรัฐบาลสหรัฐ
ขณะที่พลเรือเอกสงัดกำลังจัดการกับกลุ่มอำนาจในกองทัพที่เริ่มแตกแถว การจัดการกับฝ่ายซ้ายก็เริ่มหนักมือขึ้น
ย้อนกลับไปที่เอกสารวันที่ 11 ตุลาคม 2519 ยังระบุถึงการแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดย CIA ประเมินว่านายธานินทร์ "เป็นที่รู้กันว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมแต่ไม่มีแนวคิดฝ่ายขวาสุดขั้ว"
ในเอกสารวันที่ 22 ตุลาคม 2519 ระบุว่า "ในแถลงการณ์ครั้งแรกต่อประเทศ นายกรัฐมนตรีธานินทร์สนใจกับความหมกมุ่น 2 อย่างเป็นหลัก คือ (การปราบ) คอมมิวนิสต์และการคอร์รัปชั่น และคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็เริ่มจับนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ศักยภาพของฝ่ายซ้ายที่จะก่อปัญหาถูกจำกัดลงอย่างมาก แต่หากการปราบปรามกระทำหนักมือไป ก็อาจทำให้ประชาชนมีท่าทีต่อต้านรัฐบาลได้"
CIA บันทึกไว้ว่า การปราบปรามฝ่ายซ้ายประกอบไปด้วย การจับกุมผู้ที่สนับสนุนฝ่ายซ้ายและแนวคิดคอมมิวนิสต์ การกวาดล้างร้านหนังสือ และหน่วยงานด้านการศึกษาที่ตีพิมพ์หนังสือที่บ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ การปิดหนังสือพิมพ์และนิตยสารบางฉบับ รวมถึงฉบับที่สำคัญ CIA ระบุว่าการทารุณกรรมมีเพียงไม่กี่กรณี แต่อาจเปิดโอกาสให้กระทำการโดยพลการได้
"ในเวลานี้ การกวาดล้างได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนพอสมควร ตอนแรกที่หวั่นเกรงกันว่าจะมีนักศึกษาและนักกิจกรรมในเขตเมืองจำนวนมากไปร่วมกับกลุ่มติดอาวุธในชนชท ดูเหมือนจะเป็นความกลัวเกินกว่าเหตุ แม่ว่าจะมีนักศึกษาไม่กี่คนที่มีรายงานว่าไปที่ลาวเพื่อรับการฝึก แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง หันมาสนใจกับการสลัดตัวเองจากเรื่องการเมืองและเรียนต่อไป แทนที่จะหนีเข้าป่าไปหาความลำบาก"
อย่างไรก็ตาม การประเมินของ CIA ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และนักศึกษาหนีเข้าป่า เพราะปรากฎว่ามีนักศึกษาแอบหนีเข้าป่ามากขึ้นในเวลาต่อมา จนกลายเป็นกำลังใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประกอบกับรัฐบาลนายธานินทร์ใช้ไม้แข็งในการปราบฝ่ายซ้ายหนักมือขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์รุนแรงยิ่งขึ้น
ในที่สุด พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ก็ก่อรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เพื่อล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่จัดการกับฝ่ายซ้ายหนักมือเกินไปและล่าช้าในการปฏิรูป นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พร้อมด้วย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ดำเนินนโยบายใหม่ในการจัดการปัยหาคอมมิวนิสต์ นั่นคือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523
มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมและรับผู้ที่หนีเข้าป่ากลับมาร่วมพัฒนาประเทศ ทำให้นักศึกษาที่หนีเข้าป่ากลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนในที่สุด และถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบแห่งภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
อ้างอิง
เอกสารหมายเลข CIA-RDP79T00975A029400010010-4 (NATIONAL INTELLIGENCE BULLETIN)
เอกสารหมายเลข CIA-RDP79T00975A029400010012-2 (NATIONAL INTELLIGENCE BULLETIN)
เอกสารหมายเลข 0006466866 (THE PRESIDENT'S DAILY BRIEF 8 OCTOBER 1976)
เอกสารหมายเลข 0006466868 (THE PRESIDENT'S DAILY BRIEF 11 OCTOBER 1976)
เอกสารหมายเลข CIA-RDP79T00975A029400010018-6 (NATIONAL INTELLIGENCE BULLETIN)
เอกสารหมายเลข CIA-RDP79T00975A029400010036-6 (NATIONAL INTELLIGENCE BULLETIN)