posttoday

การปิดเมืองจะเอาชนะโรคระบาดได้ บทเรียนจากวิกฤตไข้หวัดสเปน

18 มีนาคม 2563

การกระบาดที่ฆ่ามนุษยชาติไปถึง 50 - 100 ล้านคนเอาชีวิตชาวเมืองเซนต์หลุยส์ไม่ถึง700คนเพราะการปิดเมืองทันท่วงที

ในปี 1918 ไข้หวัดใหญ่สเปนลุกลามไปทั่วโลกและกำลังเล่นงานหลายพื้นที่ของสหรัฐ เมืองแรกๆ ที่ไม่ได้ตระหนักถึงภัยนี้เลย คือฟิลาเดลเฟียที่ยังคงจัดเดินขบวนโปรโมทพันธบัตรสงครามเพื่อหาทุนสนับสนุนการรบเนื่องจากในเวลานั้นยังเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในเมืองฟิลาเดลเฟียทราบดีว่าหากปล่อยให้เดินพาเรดกันต่อไปจะต้องกลายเป็นหายนะแน่ๆ หนึ่งในนั้นคือ ดร. โฮเวิร์ด แอนเดอร์ส ที่พยายามขอให้นักข่าวเขียนเตือนภยันตรายจากการปล่อยให้จัดขบวนพาเรด และยังแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่รัฐบาลให้ระงับอีเว้นต์นี้เพื่อปกป้องชาวเมือง

ความพยายามของดร. โฮเวิร์ด แอนเดอร์สไร้ผล ไม่มีหนักสือพิมพ์ฉบับไหนลงข่าวให้เขา ส่วน ดร. วิลเมอร์ ครูเซน ผู้อำนวยการกรมสาธารณสุขและการกุศลของฟิลาเดลเฟียไม่ยอมรับว่าไข้หวัดใหญ่สเปนเป็นภัยคุกคามต่อเมืองและไม่ยอมเตรียมเวชภัณฑ์ไว้

เพราะงานนี้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ หมอตัวเล็กๆ ไม่มีอำนาจจะห้ามผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้ ดังนั้นงานนี้จึงเดินหน้าต่อไปโดยมีผู้มาร่วมงานถึง 200,000 คน

ในเวลา 24 ชั่วโมงมีผู้แสดงอาการ 118 คน อีก 2 วันต่อมา ดร. วิลเมอร์ ครูเซน จึงตาสว่างในที่สุดแล้วประกาศว่าไข้หวัดสเปนบุกเมืองแล้ว แต่ไม่ทันเสียแล้วเพราะอีก 1 วันหลังจากนั้นเตียงในโรงพยาบาลทั้ง 31 แห่งของเมืองเต็มจนหมด

ปรากฎว่าฟิลาเดลเฟียมีผู้ติดเชื้อถึงครึ่งล้านคน เสียชีวิตไปถึง 16,000 คนในเวลาเพียง 6 เดือนฝังศพกันไม่ทันจนต้องใช้การฝังแบบรวมโดยไม่มีโลงพอที่จะใส่ศพ และทำให้การเดินพาเรดครั้งนี้มีคนตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

ถึงจะหยุดเดินพาเรดแต่ยังไม่พอ เพราะต้องปิดเมืองด้วย ในเวลานั้นฟิลาเดลเฟียเป็นเมืองใหญ่ของสหรัฐจึงมีประชากรหนาแน่น การสัญจรจอแจ บวกกับรัฐบาลที่เลินเล่อทำให้โรคระบาดเล่นงานได้ง่าย

นอกจากนี้ เพราะความเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐเพิ่งจะส่งทหารเข้าร่วมรบในยุโรปที่กำลังวุ่นวายกับสงครามและยังเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ผลก็คือแทนที่ทหารอเมริกันจะเสียชีวิตในการรบ กลับต้องมาตายเพราะไข้หวัดสเปนถึง 53,000 คนหรือตายมากกว่ารบในสมรภูมิเสียอีก

ในเมืองบอสตันเพราะไม่ปิดเมืองแต่เนิ่นๆ ทำให้มีผู้ติดเชื้อตายไป 3,700 คนในเวลา 6 เดือน สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอีกเมื่อโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์ติดเชื้อไป 800 คนทำให้มีคนรับสายโทรศัพท์จำนวนจำกัดส่งผลต่อสายด่วนที่โทรแจ้งอาการป่วย

นักวิทยาศาสตร์ในยุคของเราคาดการณ์ว่าไข้หวัดใหญ่สเปนไม่ได้มาจากสเปน แต่เกิดที่จีนจากนั้นมากลายพันธุ์ที่สหรัฐในแถบๆ ใกล้กับเมืองบอสตัน จากนั้นแพร่กระจายไปทั่วยุโรปโดยเฉพาะในช่วงที่ทหารอเมริกันไปรบที่นั่น

ในเดือนสิงหาคม 1918 มีรายงานพบผู้ติดเชื้อที่ท่าเรือในบอสตัน 300 รายหลังจากนั้นสถานการณ์ก็แย่ลงเรื่อยๆ ในเบื้องต้นทางการมีคำสั่งห้ามหญิงสาวจูบกลาสีเรือที่เป็นแฟนหนุ่ม เพื่อป้องกันการติดเชื้อแต่นั่นยังไม่พอ จนวันที่ 23 กันยายนหนังสือพิมพ์ Boston Daily Globe รายงานว่าโรงพยาบาลรับไม่ไหวแล้ว วันต่อมาทางการบอสตันจึงมีคำสั่งปิดสถานบันเทิงทั้งหมด และสั่งห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ โรงเรียนหลายแห่งสั่งปิดเองรวมถึงโบสถ์

แต่การปิดเมืองของบอสตันเป็นไปเพราะสถานการณ์บังคับเมื่อทุกอย่างสายเกินการณ์แล้ว นี่จึงเป็นตัวอย่างของการรับมือที่ไม่ทันท่วงที ส่วนฟิลาเดลเฟียที่รู้ทั้งรู้ว่าการระเบิดเกิดขึ้นก็ยังประมาทจนมีคนตายนับหมื่น เมืองเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการปิดเมืองไม่ทันและไม่อยากจะปิดเมือง

แต่มีตัวอย่างของการปิดเมืองที่ทันการณ์นั่นคือเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี

กรรมาธิการสาธารณสุขของเซนต์หลุยส์ในเวลานั้นคือ ดร. แม็กซ์ ซี. สตาร์กคอฟฟ์ ซึ่งได้ข่าวการระบาดที่บอสตันตั้งแต่สิงหาคมปี 1918 เขาก็เตรียมการรับมือที่เซนต์หลุยส์ในทันที เบื้องต้นเขาพิมพ์บทความให้ความรู้ประชาชน แนะให้เลี่ยงคนป่วย ที่ชุมชน เลิกดื่มของมึนเมา แนะให้สูดอากาศบริสุทธิ์ และเสนอว่าควรจะกักตัวผู้ป่วย แต่ยังไม่ได้ประกาศมาตรการนี้

ในเดือนตุลาคม 1918 โรคระบาดมาถึงรัฐมิสซูรีในที่สุด สตาร์กคอฟฟ์จึงขอให้สภาเมืองมอบอำนาจพิเศษให้เขาพื่อควบคุมโรค แต่นายกเทศมนตรีไม่เห็นชอบ จนกระทั่งพบการระบาดที่เซนต์หลุยส์ในวันที่ 7 ตุลาคมถึง 115 คนและยังมีทหารติดเชื้ออีกนับพันในพื้นที่ใกล้เคียง สภาเมืองและนายกเทศมนตรีจึงให้อำนาจสตาร์กคอฟฟ์อย่างเด็ดขาดแบบไม่เคยมีมาก่อน

ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของฟิลาเดลเฟียไม่สามารถต้านทานอำนาจฝ่ายการเมืองได้ กรรมาธิการสาธารณสุขของเซนต์หลุยส์กดดันฝ่ายการเมืองได้และฝ่ายการเมืองก็ไม่ดึงดัน ด้วยอำนาจที่มีเขาจึงสั่งปิดโรงเรียน ห้องสมุด ศาล สนามเด็กเล่น โรงหนัง ผับบาร์ สถานที่แข่งขันกีฬาทั้งหมด จำกัดการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ รวมถึงสั่งปิดโบสถ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเมือง และสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 20 คน

ในเวลานั้นสถานบันเทิงเป็นแหล่งชุมนุมของประชาชนและเป็นธุรกิจที่เงินสะพัด โดยเฉพาะโรงหลังเป็นธุรกิจที่มีรายได้มากที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศ แต่เพราะมันเป็นจุดเสี่ยงเมืองต่างๆ จึงมักสั่งปิดโรงหนังก่อนเป็นอันดับแรก เช่น บอสตัน ที่เซนต์หลุยส์เช่นกัน

แต่เพราะมันเป็นธุรกิจทำเงินมหาศาล เจ้าของโรงหนังจึงประท้วงมาตรการปิดเมือง อย่างไรก็ตาม การประท้วงนี้ไม่มีผลเพราะสตาร์กคอฟฟ์ไม่ยอมอ่อนข้อให้

แม้แต่ตอนที่นายกเทศมนตรีของร้องให้สตาร์กคอฟฟ์ผ่อนผันการชุมนุมในที่สาธารณะเขาก็ไม่ยอมให้

จนกระทั่งในวันที่ 11 พฤศจิกายนการระบาดเริ่มซาลงเพราะมาตรการปิดเมือง กอปรกับสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงพอดีแม้ว่าร้านรวงต่างๆ ยังปิดบริการแต่ประชาชนกล้าออกมาฉลองวันสิ้นสุดสงคราม สตาร์กคอฟฟ์จึงยอมผ่อนผันในมีการชุมนุมแต่ยังสั่งให้มีการเว้นระยะห่างในระดับหนึ่ง

ปรากฎว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาอีกเพราะ "เปิดเมือง" เร็วเกินไป แถมโรงเรียนยังเปิดอีกครั้งในเวลาไล่ๆ กันทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก สตาร์กคอฟฟ์จึงสั่งปิดในทันที การระบาดพีคและเริ่มซาลงในเดือนธันวาคม กว่าสตาร์กคอฟฟ์จะยอมให้เปิดโรงเรียนอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม 1919

เซนต์หลุยส์ มีประชากรถึง 800,000 เป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมและชุมทางใจกลางประเทศคล้ายๆ กับเมืองอู่ฮั่น แต่เพราะมาตรการปิดเมืองที่ทันท่วงทีทำให้มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปนไม่ถึง 700 คน ต่ำที่สุดเมืองหนึ่งของสหรัฐ

ความสำเร็จนี้ต้องขอบคุณการมองการณ์ไกลของสตาร์กคอฟฟ์ เขามีคุณูปการที่คนในยุคของเราสามารถเรียนรู้ได้ คือ

1. เมื่อการระบาดเริ่มขึ้น เขาให้ความรู้ประชาชนในทันที เพื่อเตรียมประชาชนให้พร้อมก่อนโรคจะมาถึง

2. เมื่อการระบาดมาถึงเขาเสนอให้ปิดเมืองทันทีโดยไม่ยอมอ่อนข้อให้ภาคธุรกิจและฝ่ายการเมือง

3. ระหว่างการระบาดเขาเป็นผู้แนะให้ประชาชนอยู่ห่างๆ กัน หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่า Social distancing โดยเซนต์หลุยส์ใช้แนวทางนี้นานกว่าเมืองอื่นๆ ทำให้การระบาดน้อยมากจนไม่เกินระดับที่ทีมแพทย์แบกรับไหว

4. การปิดเมืองและการอยู่ห่างๆ จะได้ผลแน่นอนจะต้องรอให้แน่ใจเสียก่อน ประสบการณ์ของเซนต์หลุยส์บอกกับเราว่าหากเลิกปิดเมืองเร็วเกินไป โรคระบาดจะเข้ามาถล่มทันที

สิ่งที่สตาร์กคอฟฟ์ริเริ่มไว้เมื่อ 100 ปีก่อน ทุกวันนี้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพประกอบ - ทีมขนย้ายผู้ป่วยในเซนต์หลุยส์เตรียมพร้อมรับการระบาดเมื่อ 1918 ภาพจาก Library of Congress