ผลศึกษาจากจีนพบโควิด-19 อาจมีต้นกำเนิดจากไวรัสใน "ตัวนิ่ม-ค้างคาว"
ผลการศึกษาของคณะวิจัยจากจีนพบความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจมีต้นกำเนิดจากการผสมกันของไวรัสในตัวนิ่มกับค้างคาว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เซาท์ไชน่า (SCAU) และห้องปฏิบัติการเพื่อการเกษตรสมัยใหม่หลิ่งหนาน กว่างตง ของจีน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาทางพันธุกรรมเชิงเปรียบเทียบพบ ความเป็นไปได้ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจมีต้นกำเนิดจากการผสมกันของไวรัสในตัวนิ่มและไวรัสในค้างคาว
ผลการศึกษา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.63 ระบุว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 มีลำดับทางพันธุกรรมเหมือนกับไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคซาร์ส เมื่อปี 2546 ซึ่งมีต้นกำเนิดในสัตว์ และไวรัสโคโรนาในค้างคาว
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งคัดแยกมาจากตัวนิ่มในมาเลเซีย มีกรดอะมิโนเหมือนกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในยีนอี เอ็ม เอ็น และเอส (E, M, N และ S) ขณะที่ ตำแหน่งตัวรับ-ยึดเกาะ (receptor-binding domain) ภายในโปรตีนเอส (S protein) ของไวรัสโคโรนาในตัวนิ่ม มีลักษณะเหมือนกับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะแตกต่างกันตรงกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นตัวเดียวเท่านั้น
ขณะที่ค้างคาวอาจเป็นโฮสต์กักตุน (reservoir host) ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ
ผลการศึกษาระบุด้วยว่าไวรัสโคโรนาในตัวนิ่มถูกตรวจได้ในตัวนิ่มมาเลเซีย 17 ตัวจากทั้งหมด 25 ตัว ที่คณะนักวิทยาศาสตร์นำมาดำเนินการวิเคราะห์