posttoday

โคโรนาไวรัส ตัวเร่งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน

23 พฤษภาคม 2563

แม้ว่าเชื้อโคโรนาไวรัสจะระบาดไปแทบจะทุกประเทศทั่วโลกอย่างเสมอภาคกันไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา แต่ผลกระทบของเชื้อโรคนี้โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจกลับเกิดขึ้นไม่เท่าเทียมกัน และยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างชัดเจน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือกรณีของสหรัฐ

สำนักข่าว CNBC ได้เปิดเผยข้อมูลของกลุ่มชาวอเมริกันเพื่อความเป็นธรรมทางภาษี และสถาบันเพื่อการศึกษานโยบายด้านความเหลื่อมล้ำที่พบว่า ระหว่างวันที่ 18 มี.ค.-19 พ.ค. หรือช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด บรรดามหาเศรษฐีอเมริกันมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมา 434,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 15% ในช่วง 2 เดือน

ในช่วง 2 เดือนนี้มหาเศราฐีอเมริกันมีทรัพย์สินรวมกัน 3.382 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่มีอยู่ 2.948 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

มหาเศรษฐีที่ได้อานิสงส์ในช่วงที่ Covid-19 ระบาดคือกลุ่มเจ้าของบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง เจฟฟ์ เบโซส เจ้าของแอมะซอน มีทรัพย์สินเพิ่มมากที่สุดที่ 34,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ค ที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทว่าเมื่อตัดภาพมาที่ประชาชนคนธรรมดาที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด นอกจากทรัพย์สินจะร่อยหรอแล้ว งานที่ใช้หาเลี้ยงชีพก็แทบไม่มี

กระทรวงแรงงานของสหรัฐเผยว่านับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. ตัวเลขชาวอเมริกันยื่นเรื่องขอรับสวัสดิการช่วยเหลือการว่างงานพุ่งสูงถึง 38.6 ล้านราย เกินกว่าตัวเลขการจ้างงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา 22.442 ล้านตำแหน่ง ตลอด 11 ปีที่รัฐบาลพยายามสร้างงานอย่างหนักหลังจากสหรัฐฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2009

ที่น่าสังเกตคือ ตัวเลขคนว่างงานพุ่งขึ้นสูงที่สุดในช่วงต้นเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจห้างร้านกลับมาเปิดแล้ว

แสดงให้เห็นว่าบรรดาธุรกิจต่างๆ ยังไม่รีบร้อนที่จะรับสมัครพนักงานใหม่ หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือ เกิดการเลย์ออฟระลอกสองจากกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการชั่วคราวในช่วงแรก แม้ว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือธุรกิจแล้วก็ตาม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำคงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตต่างๆ ผ่านพ้นไป

ผลการศึกษาขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า ทุกๆ ครั้งหลังเกิดโรคระบาด จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งห่างกันมากขึ้น และในวิกฤต Covid-19 นี้ก็จะเป็นเช่นนั้น

IMF ลงมือศึกษาติดตามความพยายามของรัฐบาลในการกระจายรายได้จากคนรวยสู่คนจนในช่วงระยะเวลา 5 ปีหลังการอุบัติขึ้นของโรคแต่ละโรค ใน 5 เหตุการณ์ครั้งสำคัญ ได้แก่ ซาร์ส (2003) ไข้หวัดนก (2009) เมอร์ส (2012) อีโบลา (2014) และซิกา (2016)

การศึกษาพบว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระจายรายได้จากคนรวยไปสู่คนจนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาดแล้วก็ตาม

ผลกระทบที่ยาวนานจากโรคระบาดเหล่านี้เป็นเพราะการตกงาน การขาดรายได้อื่นๆ อาทิ เงินที่ลูกหลานส่งไปให้บุพการีที่น้อยลง และโอกาสการจ้างงานที่ลดลง

IMF ยังพบอีกว่าโรคระบาดมีผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างมากต่อการจ้างงานแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่างกัน ซึ่งระดับการศึกษานี้จะเป็นดัชนีชี้วัดทักษะความสามารถ

คนที่มีระดับการศึกษาสูงจะได้รับผลกระทบน้อย ในขณะที่การจ้างงานคนที่มีระดับการศึกษาทั่วไปลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือมากกว่า 5% หลังจากโรคระบาดผ่านพ้นไปแล้ว 5 ปี

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยังเกิดขึ้นทันทีที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และปิดกิจการบางประเภทชั่วคราวโดยให้มีการทำงานจากที่บ้าน เนื่องจากพนักงานบริษัทบางแห่งสามารถทำงานจากที่บ้านได้ทันที โดยที่ยังมีประกันสุขภาพและการลาพักร้อนโดยยังได้รับค่าตอบแทนอยู่  

ขณะที่พนักงานที่ต้องอยู่แถวหน้าอย่างคนที่ทำงานร้านอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ตไม่สามารถทำได้

และสำหรับคนจนที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ การไม่ได้ทำงานหมายถึงการไม่มีเงินไม่มีอาหาร คนกลุ่มนี้จึงต้องเลือกเอาว่าจะห่วงสุขภาพหรือห่วงปากท้องมากกว่ากัน

ผิดกับในบางประเทศ เช่น อังกฤษ ที่รัฐบาลชดเชยรายได้ให้กับคนที่ไม่ได้ทำงานเพราะ Covid-19 ถึง 80% แรงงานอังกฤษจึงหยุดงานอยู่บ้านเพื่อสุขภาพของตัวเองและคนในสังคมได้

เมื่อความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็หมายความว่าค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย คนที่มีรายได้น้อยก็ยิ่งต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน ชักหน้าแทบจะไม่ถึงหลัง

ด้วยเหตุนี้ โรคระบาดอย่าง Covid-19 จึงยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างมากขึ้นๆ และยังนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ประกันสุขภาพ สภาพการทำงานที่ปลอดภัย เป็นต้น

(Photo by SAM PANTHAKY / AFP)